สูงวัยหลับยากตื่นง่าย

สูงวัยหลับยากตื่นง่าย
สูงวัยหลับยากตื่นง่าย
ผู้สูงอายุมักมีปัญหานอนไม่หลับ ล้มตัวลงนอนแล้วแต่กว่าจะหลับกลับยากเย็น หลับไปไม่กี่ชั่วโมงตื่นขึ้นมา บางคืนกว่าจะข่มตาหลับต่อได้ใช้เวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพกายใจรวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน  
ผลเสียของการนอนไม่เต็มอิ่ม
การนอนไม่หลับทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาอ่อนเพลีย สมองตื้อ ทำอะไรช้าลง อารมณ์เสียง่าย เสี่ยงวิตกกังวลและซึมเศร้า  อาจมีปัญหาสุขภาพด้านต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง อ้วน และมีโอกาสเสี่ยงสมองเสื่อม
ค้นหาสาเหตุนอนไม่หลับ
สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุที่พบบ่อยมีดังนี้ 
1. ระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ลดต่ำลง
2. ความเครียด ความวิตกกังวล และความกังวลว่านอนไม่หลับขณะพยายามนอนให้หลับ
3. อาการปวดต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ ปวดข้อ  ปวดแขน ปวดขา ปวดหลัง 
4. มีโรครบกวนการนอน เช่น เบาหวาน ต่อมลูกหมากโต ที่ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน โรคหัวใจ โรคปอด โรคซึมเศร้า สมองเสื่อม นอนกรน ภาวะหยุดหายใจตอนนอนหลับ กล้ามเนื้อขากระตุก
5. ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น  อาหารไม่ย่อย ท้องอืดแน่นท้อง กรดไหลย้อน  
6. รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยารักษาหอบหืด ยาขยายหลอดลม ยาต้านซึมเศร้า หรืออาหารเสริม เช่น โสม 
7. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ เครื่องดื่มชูกำลัง และสูบบุหรี่ 
8. สิ่งแวดล้อมรบกวนการนอน มีเสียงดัง แสงสว่างกวนสายตา อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป ที่นอนนอนแล้วไม่สบายตัว ห้องอับ  
9. ทำกิจกรรมที่ทำให้นอนไม่หลับ  เช่น ออกกำลังกายใกล้เวลานอน ดูหนังตื่นเต้นหรือน่ากลัว เล่นเกมที่ต้องลุ้น อยู่หน้าจอมือถือหรือหน้าจอต่าง ๆ ใกล้เวลานอน
เคล็ดลับ 9 ข้อช่วยให้หลับสบายขึ้น 
1. ออกไปสัมผัสแสงแดดยามเช้าหรือบ่ายแก่ ๆ ออกกำลังกายให้เหมาะกับวัยและสภาวะร่างกาย เพื่อให้ต่อมใต้สมองผลิตเมลาโทนินช่วยการนอนหลับ
2. เลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีนหลังเที่ยงวัน งดแอลกอฮอล์ และบุหรี่ 
3. มื้อเย็นควรเป็นอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด และเลี่ยงการรับประทานมากเกินไป หรือถ้าหิวใกล้เวลานอน กินอาหารย่อยง่ายเบาๆ เช่น นม หรือกล้วย เลี่ยงการดื่มน้ำมาก ๆ ใกล้เวลานอน
4. ทำกิจกรรมผ่อนคลายเพื่อให้ร่างกายรับรู้ว่าใกล้เวลานอน เช่น อาบน้ำอุ่น ๆ ฟังเพลง ฟังบรรยาย อ่านหนังสือ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนไปจากการนึกถึงปัญหาเวลานอน 
5. ฝึกคลายความเครียด เลี่ยงสนใจในเรื่องที่ทำให้อารมณ์ไม่ดี หากิจกรรมที่ชอบระหว่างวัน ออกกำลังกาย 
6. เข้านอนและตื่นเป็นเวลา ควรเข้านอนก่อนเที่ยงคืน เลี่ยงการนอนกลางวันเกิน 1 ชั่วโมง และหลัง15.00 น. 
7. หากน้ำหนักเกิน ลดความอ้วนเพื่อช่วยลดปัญหานอนกรน การหยุดหายใจระหว่างหลับ และกรดไหลย้อน  
8. ปรับสภาพในห้องนอนให้นอนหลับสบาย ที่นอนนุ่มพอเหมาะ ความสูงของหมอนพอเหมาะ อุณหภูมิกำลังสบาย ไม่มีแสงหรือเสียงรบกวน ไม่ทำงานหรือนั่งเล่นบนเตียงนอน ห้องนอนควรมีไว้เพื่อการนอนเท่านั้น 
9. ถ้านอนไม่หลับจริงๆ อย่าดูนาฬิกา อย่าพยายามบังคับตัวเองให้หลับเพราะจะยิ่งกังวล อาจลุกขึ้นมาหากิจกรรมเบา ๆ ทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ 
เมื่อไรควรปรึกษาแพทย์ : เมื่อการนอนไม่หลับเริ่มกระทบการใช้ชีวิตเกิน 1 สัปดาห์ 
เลี่ยงการใช้ยานอนหลับ
การแก้ปัญหานอนไม่หลับควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมก่อน ถ้ายังไม่หายควรปรึกษาแพทย์ การใช้ยานอนหลับควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น การใช้ยาเองอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาอีกมาก เช่น หยุดยาแล้วนอนหลับเองไม่ได้ เมื่อหยุดยามีอาการไม่พึงประสงค์ หรือต้องเพิ่มขนาดยา เป็นต้น
อ่านข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่
โรคความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวาน
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 
หกล้มอันตรายกว่าที่คิด
อายุ 65 ปี+ เสี่ยงหกล้ม 28-35% อายุ 70 ปี+ เสี่ยงหกล้ม 32-42% อัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 ...
เตรียมตัวสู่วัยสูงอายุคุณภาพอย่างไร
ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า จากจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคนของประเทศไทยมีเพียง 6 ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
โอบรักให้อุ่นใจ
โรคอัลไซเมอร์ไม่เพียงส่งผลกระทบกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
การออกกำลังกายสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
สมองเสื่อมก็ออกกำลังกายได้ แนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิค และ ...
ห่างไกลสมองเสื่อม
เริ่มวันนี้ ลดเสี่ยงสมองเสื่อมได้ถึง 30%
การเตรียมพบแพทย์
การพาผู้มีภาวะสมองเสื่อมไปพบแพทย์ตามนัดมีความสำคัญ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.