มากกว่ารักคือเข้าใจ

มากกว่ารักคือเข้าใจ
record_voice_over อ่านให้ฟัง
เรื่องเล่าจากหนังสือ วันวาน ณ ปัจจุบัน โดย สิรินทร  ฉันศิริกาญจน
นอกจากพ่อแม่แล้ว คุณป้าเป็นผู้มีพระคุณอีกท่านหนึ่ง ที่คอยให้ความรักความอบอุ่น ดูแลมาตั้งแต่เด็ก คุณป้าเคยเป็นครูใหญ่ โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2460 ได้อยู่กับคุณป้าที่นครสวรรค์ จนถึงมัธยมต้น พอมัธยมปลายเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนแพทย์ต่อ
คุณป้าเริ่มมีอาการป่วยเมื่อไร จำระยะเวลาแน่นอนไม่ได้ จำได้แต่ว่าตัวเองเรียนจบเป็นแพทย์แล้ว ตอนอยู่กับคุณป้า มีลูกของนายอำเภอ ในจังหวัดกำแพงเพชรมาอยู่ที่บ้านด้วย เราทั้งสองคนเรียนชั้น มศ.1 เหมือนกัน จึงไม่เหงา เพราะมีเพื่อนในวัยเดียวกันอยู่ด้วย เมื่อเรียนจบก็แยกย้ายกันไป แต่ยังติดต่อกันอยู่เสมอ ทุก ๆ ปีเพื่อนจะกลับไปเยี่ยมคุณป้า
ครั้งหนึ่งเพื่อนโทรศัพท์มาบอก ว่าคุณป้าไม่ค่อยปกติ เพราะถามเขาซ้ำ ๆ คำถามเดิมว่าเป็นยังไง แต่งงานหรือยัง ทำงานที่ไหน มีลูกกี่คน สักพักก็จะถามอีก
ระหว่างพูดคุยกันอยู่ คุณป้าจะถามคำถามเหมือนเดิม  5 – 6 ครั้ง เวลานั้นเป็นหมอแล้ว แต่ยังไม่ได้ศึกษาต่อ ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ไม่ทันได้นึกว่า นี่คือ อาการแสดงของภาวะสมองเสื่อม

ลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น

มีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกชัดเจน ว่าคุณป้ามีอาการผิดปกติมาก วันหนึ่งกลับไปบ้านเห็นกระเช้าผลไม้ กับตะกร้าของขวัญอยู่ที่บ้าน ก็ถามว่าคุณป้าว่า วันนี้มีใครมาเยี่ยม คุณป้าบอกว่าไม่มีใครมา ส่วนตะกร้าพวกนี้ ไม่รู้ใครเอามาวางไว้ เมื่อซักถามกับเด็กในบ้าน เด็กบอกว่าเมื่อครู่ มีคุณครูมาเยี่ยม แล้วยังชวนคุณป้าออกไปทานข้าว แต่คุณป้าไม่ยอมไป คณะคุณครูยังเขียนจดหมายฝากเด็กไว้ให้ ก็รู้สึกว่าคุณป้ามีอาการแปลกจนผิดสังเกต

ช่วงที่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ อาการลืมของคุณป้าเริ่มมากขึ้น สับสนเส้นทางกลับบ้าน แต่ยังพอดูแลตัวเองได้อยู่ ช่วงหนึ่งคุณป้าไปศึกษาธรรมะ ที่วัดบวรนิเวศเป็นประจำ การเดินทางจากบ้านแถวตลิ่งชัน ต้องข้ามถนนแล้วนั่งรถเมล์สาย 76 ลงตรงศึกษาภัณฑ์ แล้วเดินผ่านหน้าโรงเรียนไปวัด ขากลับต้องข้ามถนน หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ไปฝั่งตรงข้ามเพื่อกลับบ้าน เราไม่ทราบเรื่อง จนกระทั่งได้ไปบรรยาย เรื่องสมองเสื่อมให้กลุ่มครูที่เกษียณแล้ว พอยกตัวอย่างเรื่องคุณป้าขึ้นมา คุณครูท่านหนึ่งที่เคยเข้าอบรมธรรมะ กับคุณป้าเล่าให้ฟังว่า ช่วงหลังคุณป้าเริ่มสับสนตอนกลางวัน เวลากินข้าวด้วยกัน คุณป้าจะคิดไม่ออกว่า ต้องจ่ายสตางค์เท่าไหร่ ทอนอย่างไร ส่วนตอนขากลับคุณป้าจะสับสน ว่าจะต้องขึ้นรถเมล์ฝั่งไหน ต้องมีคนช่วยจูงไปขึ้นรถเมล์ คุณป้ากลับถึงบ้านได้เพราะคนขับรถเมล์ และกระเป๋ารถซึ่งคุ้นเคยกับคุณป้า ช่วยบอกให้คุณป้าลงรถตรงหน้าบ้าน

เมื่อเรียนจบกลับจากต่างประเทศราว ๆ พ.ศ.2536 พบว่าคุณป้าไปไหนเอง ไม่ได้อีกต่อไป  สามีต้องเป็นคนพาไป แล้วไปรับกลับบ้าน เพราะคุณป้าสับสนมากขึ้น จากนั้นก็มีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ของใช้สำคัญอย่างกุญแจบ้านหาย วันหนึ่งตอนเตรียมตัว ออกไปทำงานตอนเช้า ต้องการจะไขประตูหน้าบ้าน ขับรถออกไปทำงาน แต่ไม่พบกุญแจ ถามกันว่าหายไปไหน เด็กบอกว่าคุณป้าเก็บไป คุณป้ายืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้เก็บไป ทุกคนช่วยกันหาเท่าไรก็ไม่พบ ต้องใช้กุญแจสำรอง จนกระทั่งพักใหญ่ จึงบอกกับสามีว่า เราคงต้องเปลี่ยนกุญแจบ้านทั้งหมด เพราะกุญแจบ้าน ตั้งแต่ประตูรั้วจนถึงประตูบ้าน หายไปด้วยกันหมด ระหว่างนั้นก็นอนหลับ อย่างไม่ค่อยสบายใจนัก กังวลว่าถ้าใครเก็บกุญแจบ้านเราได้ทั้งพวง จะเป็นอย่างไร ยังไม่ทันได้เปลี่ยนแม่บ้านมาบอกว่าพบกุญแจแล้ว บังเอิญล้างตู้เย็นจึงพบกุญเจอยู่ในช่องผัก
คนทั่วไปอาจลืมของวางทิ้งไว้ผิดที่ผิดทางเป็นประจำ อาจใจลอยนึกถึงเรื่องอื่น หรือไม่ได้ตั้งใจจำ ว่าวางของไว้ตรงไหน แต่การเอาของไปเก็บไว้ ในที่ซึ่งของนั้นไม่ควรอยู่ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผิดปกติแล้ว

กินข้าว และอาบน้ำเป็นปัญหา

เนื่องจากดูแลคนไข้สมองเสื่อมมาเป็นเวลานาน พบว่าหลายครอบครัวมีปัญหาคล้าย ๆ กัน ในเรื่องพฤติกรรมของผู้ป่วย คุณป้าก็เช่นเดียวกัน มีปัญหาลืมว่ากินแล้ว เวลานั้นคุณแม่ยังอยู่กับคุณป้า ทั้งสองท่านจะเถียงกัน เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะคุณป้ามักจะลืมบ่อย เวลาไปตลาดซื้อของแล้วไม่จ่ายสตางค์ แม่จะบ่นว่าต้องตามจ่ายให้ทุกวัน  แต่คุณป้าบอกว่าไม่ได้ทำอย่างนั้น

เด็กที่ดูแลคุณป้าคอยเล่าให้ฟัง ถึงเหตุการณ์ประจำวัน เนื่องจากแม่เป็นคนคุยเก่ง เวลาอาหารจะนั่งโต๊ะพร้อมคุณป้า เสร็จแล้วแม่จะแยกไปนั่งอ่านหนังสือ ส่วนคุณป้าจะดูทีวีรายการธรรมะ ต่างคนต่างแยกไปพักผ่อน ในมุมสบายของตัวเอง เวลานั่งโต๊ะกินข้าวด้วยกัน แม่จะคุยไป คุณป้าก็กินไปเรื่อย ๆ แล้วเอื้อมมือมาตักผลไม้ ในจานของแม่ แม่ก็จะเอะอะว่าของพี่อยู่จานโน้น คุณป้าบอกไม่มี จานของใครก็ไม่รู้ ฉันไม่ได้กินเถียงกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ทุกวัน เด็กจึงจัดการหามุมใหม่ ให้นั่งกันคนละมุมโต๊ะ แล้วจัดอาหารวางให้พร้อมกัน

วันหนึ่งเด็กทำกับข้าวอยู่ในครัว เราจะชงเครื่องดื่มให้คุณป้าตอนเช้า ๆ เด็กบอกว่าอย่าเพิ่งชงให้ รอแม่มาพร้อมกันก่อน คิดว่าไม่เป็นไร ใครมาก่อนก็ชงให้ก่อน คุณป้ากินเครื่องดื่มนั้นจนหมด พอแม่มาก็ชงให้แม่บ้าง คุณป้าถามว่าแล้วของป้าล่ะลูก บอกคุณป้าว่าคุณป้ากินแล้วค่ะ ยืนยันว่ากินแล้วเพราะเป็นคนชงให้เอง ขณะที่เริ่มอธิบายเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ เด็กส่งเสียงบอกมาจากในครัวว่า หนูบอกแล้วให้รอ มาพร้อมกันสองคนก่อน เขาเป็นคนรู้จักหาวิธีดูแล ทั้งแม่และคุณป้าได้โดยไม่เป็นปัญหา

คุณป้าเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

คุณป้าค่อย ๆ เปลี่ยนไป เข้าใจเรื่องราวรอบตัวน้อยลง แต่ยังคงไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกันได้ ครั้งหนึ่งพาคุณป้าไปท้องฟ้าจำลอง นั่งเก้าอี้เอนนอนดู พอท้องฟ้ามืดลง มีเสียงบรรยายว่า พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า คุณป้าสะกิดว่า มืดแล้วเรากลับบ้านกันเถอะ พยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่ฟัง สักครู่คุณป้าก็เรียกร้องกลับบ้านอีกแล้ว
พบบ่อยว่าคนไข้สมองเสื่อม จะร้องกลับบ้านตอนเริ่มค่ำลง รู้สึกว่านอกบ้านไม่ปลอดภัย อาจเป็นเพราะสมัยท่านเด็ก ๆ ไฟฟ้าคงไม่สว่างไสวอย่างปัจจุบัน  มืดแล้วทุกคนคงอยู่บ้าน
บางครั้งพาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า คุณป้าจะถามบ่อย ว่าเราจะกลับกันยังไง ท่านจำไม่ได้ว่ามากันอย่างไร อธิบายว่าขับรถมา สักครู่ก็ถามอีก ระหว่างเดินเล่นในห้างฯ ท่านจะปวดปัสสาวะบ่อยมาก เดินไปสักครู่ก็เข้าห้องน้ำ เคยเดินเข้าออกห้องน้ำ จนคนในห้องน้ำหัวเราะว่าเดินมาหลายรอบ เมื่อญาติคนไข้คนอื่น เล่าถึงปัญหาคล้ายกันนี้ จึงอธิบายไปว่า ผู้ป่วย ไม่ได้ปวดปัสสาวะจริง ๆ แต่อาจเป็นเพราะเขามีอะไรรบกวนจิตใจ ทำให้เขารู้สึกว่าปวดปัสสาวะ

สำหรับคุณป้า ถ้าเราไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยว หรือกินสุกียากี้กัน นั่งอยู่ 2 – 3 ชั่วโมง ท่านจะไม่นึกถึงห้องน้ำเลย แต่ถ้าเราเดินดูของที่ท่านไม่สนใจ ก็จะเริ่มรบเร้าเข้าห้องน้ำ เรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ถ้าไม่เข้าใจ ก็จะกลายเป็นเรื่องต้องทะเลาะกับผู้ป่วย เขาอยากไปห้องน้ำก็ให้เขาไป เพราะเขาสั่งให้ไม่รู้สึกไม่ได้ หรือใช้วิธีเบี่ยงเบนไปสนใจสิ่งอื่น หรือให้เขารู้สึกสบายขึ้น เมื่อพอใจก็จะลืมไปเอง

คุณป้ายังเปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลับเป็นเหมือนเด็กเล็กอีกครั้ง เมื่อตอนลูกชายลูกสาวยังเล็ก  จะซื้อลูกโป่งให้คนละลูก คุณป้าเรียกร้องอยากได้ลูกโป่งบ้าง ลูกชายบอกว่าไม่เป็นไร ผมไม่ค่อยอยากเล่น ยกให้คุณยายได้ เวลานั้นเรารับรู้ว่า คุณป้าผิดปกติ

ระยะหลังอาการของโรคมากขึ้น คุณป้าไม่ต้องการไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่ยังอยากออกไปข้างนอก การไปข้างนอกสำหรับคุณป้า คืออยากนั่งรถ ขับรถพาท่านเที่ยวจนพอใจ ดวงตามีแววสดใสจึงค่อยกลับ พอถึงบ้านคุณป้าไม่ยอมลง บอกว่ายังไม่ได้ไปไหนเลย ต้องล่อหลอกกันว่ามากินอะไรก่อน จึงจะยอมลงจากรถ นอกจากนั้นคุณป้ายังเปลี่ยนแปลง ไปอีกหลายอย่าง เวลาเย็นคุณป้ามักสับสน ถามทุกวันว่านอนห้องไหน จะต้องคอยบอกคุณป้าให้ขึ้นไปข้างบน แล้วเลี้ยวซ้ายขวาอย่างไร บางครั้งต้องพาขึ้นไปเอง แต่พอเปิดประตูเข้าไปในห้อง ท่านก็จำได้ เมื่อคุณป้ามีอาการถึงขั้นนี้ ท่านอายุได้ 76 ปีแล้ว

ตอนที่คุณป้ายังอาบน้ำเองได้ หลังจากอาบน้ำเสร็จ ท่านจะพับเสื้อผ้าใส่แล้ว เก็บเข้าตู้เรียบร้อย วางปนกับเสื้อผ้าที่ซักแล้ว ต้องคอยเป็นนักสืบใช้จมูกดมว่าตัวไหนใช้แล้วจะได้เลือกมาซัก บอกเด็กให้จำว่าแต่ละวันคุณป้าใส่ชุดไหน แล้วเลือกชุดนั้นมาซัก มาถึงจุดหนึ่ง การอาบน้ำกลายเป็นเรื่องยาก สำหรับคุณป้า เมื่อเข้าในห้องน้ำแล้ว แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เปิดก๊อก ราดน้ำ ฟอกสบู่ ทำไม่ถูกเสียแล้ว หลายครั้งเข้าไปในห้องน้ำ ออกมาตัวยังแห้งอยู่ในเสื้อผ้าชุดเดิม ระยะหลังเด็กจึงต้องอาบน้ำให้ เวลาชวนอาบน้ำมักจะปฏิเสธ ใช้เหตุผลในแบบของท่าน ชวนตอนเช้าบอกว่ายังเช้าอยู่ พอตอนกลางวันบอกว่าจะอาบเย็น ๆ ตอนบ่ายบอกรออีกนิดก็จะเย็นแล้ว ถึงตอนเย็นบอกเย็นแล้ว อาบน้ำเดี๋ยวไม่สบาย เด็กที่ดูแลคุณป้ามาเป็นเวลานานเป็นคนใจเย็น และคิดหาวิธีจัดการดูแลได้ โดยไม่ต้องทะเลาะกับท่าน เขาเล่าถึงวิธีชวนคุณป้าไปอาบน้ำ ว่าไม่ได้บอกให้ท่านไปอาบน้ำ แต่ชวนคุณป้ามากินโอวัลตินแก้วใหญ่ พาเข้าห้องน้ำระหว่างคุณป้าเพลิน กับของโปรด ก็ค่อย ๆ ถอดเสื้อผ้า ล้างตัวทำความสะอาดไป พอถึงตอนต้องถอดเสื้อก็บอกว่า คุณยายวางแก้วก่อนค่ะ เดี๋ยวค่อยกินต่อ คุณป้าก็จะทำตาม การดูแลจึงค่อนข้างราบรื่น

รู้สึกผิดในฐานะที่เป็นหมอ

การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อม นับว่าเป็นเรื่องยาก ถึงแม้เราจะเป็นหมอด้านผู้สูงอายุ ได้พบคนไข้สมองเสื่อมเป็นประจำก็ตาม บางครั้งเมื่อพบปัญหากับตัวเอง ก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือมีสติอยู่ตลอดเวลา เคยพาคุณป้าไปพุทธมณฑล เนื่องในวันวิสาขบูชา ระหว่างขับรถคุณป้าถามตลอดเวลา ว่าเราจะไปไหน ถามจนกระทั่งเราเกิดความรู้สึกโกรธ จึงสั่งเด็กไว้ว่าถ้าคุณป้าถามอีก ให้เด็กเป็นคนตอบบ้าง พอเด็กช่วยตอบคุณป้าบอกว่า ฉันไม่ได้ถามเธอ จับบ่าเราแล้วถามว่า เราจะไปไหนกัน รู้สึกโกรธจิ๊ดขึ้นมาทีเดียว ทั้ง ๆ ที่โดยปกติจะไม่ใช่คนขี้โมโห เมื่อไปถึงลงจากรถปิดประตูดังปัง

ระหว่างเดินอยู่ในพุทธมณฑล รู้สึกว่าตัวเองแย่มาก เพราะคุณป้าไม่ได้ตั้งใจ จะทำให้รำคาญ แต่ท่านจำไม่ได้จริง ๆ ยิ่งพยายามใช้เหตุผลมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเหนื่อยขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ยังคงจำไม่ได้เหมือนเดิม ขณะที่อยู่กับคนไข้ไม่เคยโกรธ และไม่เคยรู้สึกว่าต้องอดทนกับคนไข้เลย เพราะทราบอยู่แล้วว่า อาการคนไข้เป็นอย่างนี้เอง คนไข้จะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ญาติบางคนเรื่องมากบ้าง ทำไมกับคนของเราเอง กลับทนไม่ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่กับคุณป้าตลอดเวลา กลับมาจากโรงพยาบาล บางวันท่านนอนไปแล้ว เสาร์อาทิตย์พบหน้ากัน ก็ยังนับว่าน้อย เพราะเรามีกิจกรรมหลักของพ่อแม่ เดี๋ยวพาลูกไปเรียนพิเศษ เดี๋ยวทำกิจกรรมต่าง ๆ บ่ายถึงค่อยกลับมาพบคุณป้า มีโอกาสดูแลไม่มากนัก แค่ชวนท่านอาบน้ำบ้าง ชวนไปเที่ยวบ้างเท่านั้นเอง
การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อม นับว่าเป็นเรื่องยาก ถึงแม้เราจะเป็นหมอด้านผู้สูงอายุ ได้พบคนไข้สมองเสื่อมเป็นประจำก็ตาม บางครั้งเมื่อพบปัญหากับตัวเอง ก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือมีสติอยู่ตลอดเวลา

สร้างความเข้าใจและเมตตา

พ.ศ.2543 คุณป้าขาหักต้องเข้าผ่าตัด หลังผ่าตัดคุณป้ามีอาการสับสนเฉียบพลัน ซึ่งพบบ่อยในคนไข้สมองเสื่อม ที่ต้องมานอนโรงพยาบาล และพบบ่อยในคนไข้อายุมาก สับสนจากความเจ็บปวด การดมยาสลบ ขาดน้ำ ขาดเลือด ท่านมีอาการวุ่นวาย และต้องทำกายภาพบำบัด เพื่อให้กลับมาเดินได้อีก จึงถูกส่งตัวไปแผนกกายภาพบำบัด

ทางแผนกบอกว่าไม่ต้องส่งมาแล้ว สอนเท่าไหร่ก็ไม่จำ ต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง ถึงแม้จะเขียนอธิบายกำกับไปแล้ว ว่าเป็นคนไข้สมองเสื่อม ไม่ต้องสอนเรื่องใหม่ ๆ เพราะเขาเรียนรู้ไม่ได้ก็ตาม  เวลานั้นในโรงพยาบาลเอง บุคลากรก็ไม่คุ้นเคย กับคนไข้สมองเสื่อม ไม่ทราบว่าจะจัดการดูแลอย่างไร

ในที่สุดป้าก็ต้องกลับบ้าน และตั้งแต่หกล้ม ท่านดูแลตัวเองได้น้อยลง ติดเก้าอี้มากขึ้น เด็กที่อยู่ด้วยมานานก็ออกไปแต่งงาน มีคนใหม่เปลี่ยนหน้าเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ดูแลดีบ้างไม่ดีบ้าง เคยจ้าง 2 คน มาอยู่เป็นเพื่อนกัน จะได้ไม่เหงา ก็กลับกลายเป็นว่าพากันไปเที่ยว แล้วทิ้งให้ท่านอยู่บ้านคนเดียว เรากลับบ้านตอนกลางวันมาพบเข้า จากนั้นจึงให้ท่านอยู่ในโรงพยาบาล

คุณป้าช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ลืมชื่อตัวเองพูดน้อยลง ในที่สุดไม่พูดเลย มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เวลานี้อยู่ในระยะ ของการนอนอยู่กับเตียง ไม่สามารถลุกนั่ง จึงดูแลไปตามอาการ คอยป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย ด้วยโรคแทรกซ้อนของผู้สูงอายุ ทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ เข้าใจโรคดีขึ้น แต่ยังไม่มากพอ ลึกลงไปแล้ว ยังไม่ค่อยเข้าใจผู้ป่วยนัก พฤติกรรมต่าง ๆ เป็นอาการที่ชั่ง ตวง วัด ไม่ได้ และมีเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง คนทั่วไปหรือแม้แต่คนในครอบครัวเอง ก็เข้าใจผู้ป่วยได้ยาก สมองเสื่อมไปแต่หน้าตายังเหมือนเดิม และไม่ได้แสดงอาการทางกาย ว่าเจ็บไข้ได้ป่วย มีแต่อาการป่วน ทำอะไรแปลก ๆ พูดจาไม่รู้เรื่อง บางครั้งรู้เรื่องดี บางครั้ง หรือบางเรื่องกลับไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย บางเรื่องจำแม่น บางเรื่องแค่ชั่วครู่ก็ลืมแล้ว เหมือนแกล้งไม่รู้เรื่อง เหมือนแกล้งลืม ยากที่จะเชื่อว่านี่คือคนที่กำลังป่วย

ครอบครัวสำคัญที่สุด

คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นใคร ควรได้รับความรู้ความเข้าใจ เรื่องผู้ป่วยสมองเสื่อม ประเทศเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะต้องมีผู้ป่วยสมองเสื่อม เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจกัน ไม่มีใครบอกได้ว่า ในครอบครัวใครจะมีผู้ป่วยหรือไม่ ในฐานะที่เป็นหมอเอง ถ้าหากไม่มีคนในครอบครัว ป่วยด้วยปัญหาสมองเสื่อม ก็อาจเข้าใจปัญหาเฉพาะในทางทฤษฎี ไม่ลงลึกถึงปัญหามากมาย ที่ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญ

ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ.2541 จึงเกิดการรวมตัวกันของญาติผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล ที่มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย และเห็นปัญหา ทั้งของผู้ป่วยและญาติ มีกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และให้ข้อแนะนำคำปรึกษา กับญาติผู้ป่วยมาโดยตลอด
การมีผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน กระทบทุกคนในครอบครัว บางครอบครัวที่ขาดความเข้าใจทะเลาะกับผู้ป่วยบ้าง เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างคนในครอบครัวบ้าง บางครอบครัวที่ไม่เข้าใจ ทำร้ายผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เลวร้ายที่สุด ก็คือ การหมดรักและทอดทิ้งผู้ป่วย

เพราะฉะนั้นความเข้าใจ จากคนในครอบครัวจึงสำคัญที่สุด ถ้าคนในครอบครัวเข้าใจ ผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลที่ดี คนที่ต้องดูแลผู้ป่วยเอง ก็จะไม่ต้องทนทุกข์กับปัญหา มากเกินไปนัก เมื่อเข้าใจแล้ว การดูแลก็จะง่าย และให้ความช่วยเหลือได้ดีขึ้น

ถ้าคนในสังคมหรือชุมชนเข้าใจ ก็จะไม่มองอย่างตำหนิ เมื่อพบผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ในที่สาธารณะ ไม่นิ่งดูดายและให้ความช่วยเหลือ คอยเป็นหูเป็นตาให้ เช่น ในเวลาที่ผู้ป่วยเดินหลงออกไปนอกบ้าน ถ้าบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจ คนไข้ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม พบว่าคนในครอบครัว ที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ ก็ต้องการความช่วยเหลือ การมองอย่างเข้าใจ จากคนรอบข้างจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้ เมื่อเข้าใจย่อมให้อภัย มีความเมตตาให้
น่าชื่นใจเมื่อพบว่าหลายครอบครัวที่สามารถทำความเข้าใจในตัวผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอย่างมีความสุขมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ
ผมมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผมเป็นน้องคนสุดท้อง ชีวิตของผมมีความสุขดี มาจนกระทั้งใกล้เวลาเกษียณอายุ ตอนเด็กๆ ...
สมองเสื่อม สังคมช่วยดูแลได้อย่างไร
หยิบยื่นน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยสมองเสื่อม
ในสมองของผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
การออกกำลังกายสำหรับผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง
ผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ...
การลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
How to การลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ...
หลักการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ
การออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุโดยทั่วไป คือ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.