เดือนแห่งความรัก พบ 12 เรื่องราวประทับใจของผู้ดูแล

14 February 2023
เดือนแห่งความรัก พบ 12 เรื่องราวประทับใจของผู้ดูแล
บทพิสูจน์ของคำว่า “มากกว่ารัก คือ เข้าใจ” ในอีกมุมจากเรื่องจริง

CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม เผยเรื่องราวจากชีวิตจริงของ 12 ผู้ดูแลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 

● เรียนรู้ชีวิตและความผูกพันระหว่างผู้ดูแลและผู้มีภาวะสมองเสื่อมในครอบครัว 

● ร่วมเสริมสร้างความรักให้สังคม เปิดใจ เข้าใจ และเอื้อเฟื้อผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล

เนื่องในเดือนแห่งความรัก เว็บไซต์ CaregiverThai.com พลังใจสู้สมองเสื่อม โดยสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแนะนำมุมผู้ดูแล คอลัมน์ “วันวาน ณ ปัจจุบัน” 
ที่รวบรวมเรื่องเล่ารักประทับใจจากชีวิตจริงของผู้ดูแล 12 ครอบครัวผู้มีภาวะสมองเสื่อม จากหนังสือในชื่อเดียวกัน โดยสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม มานำเสนอบนแพลตฟอร์มออนไลน์ วันวาน ณ ปัจจุบัน - CaregiverThai.com  เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการใช้ชีวิตดูแลคนที่รักในครอบครัว แม้จะเข้าสู่สภาวะสมองเสื่อม 
ผศ. พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเชิญชวนว่า “ในโอกาสวันแห่งความรัก ขอเชิญมาอ่านเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่ของผู้ดูแลและครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อม ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความรักและความผูกพันในทุกแง่มุม ระหว่าง คุณพ่อและคุณแม่ แม่กับลูก พี่กับน้อง และป้ากับหลาน ฯลฯ เนื้อหาที่ตัวจริงจากแต่ละครอบครัวบอกเล่าเหตุการณ์ทุกช่วงเวลา สุข ทุกข์ เครียด โกรธ โมโห ปลง ตั้งแต่วันที่ทราบผลวินิจฉัยสมองเสื่อมจนถึงปัจจุบัน อ่านแล้วจะสัมผัสได้ถึงบทพิสูจน์ของคำว่า “มากกว่ารัก คือ เข้าใจ” นั้นเป็นอย่างไร
เราจะได้ซาบซึ้งในมหัศจรรย์แห่งความรักที่คนมีต่อกันในอีกมุมมองที่แตกต่าง ได้เห็นการฟันฝ่าอุปสรรค และการรับมือ แก้ปัญหาของแต่ละครอบครัว รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึก ที่สำคัญ คือ การปรับตัวและการแก้ปัญหา ช่วยให้สังคม เปิดใจ เข้าใจ และเอื้อเฟื้อผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล เรามาช่วยกันสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
พบกับเรื่องราวของความรักในอีกมุม จำนวน 12 ตอนที่มีเนื้อหาเด่น ๆ ในแต่ละตอน ประกอบด้วย

บทนำ ทำไมต้องเป็น “วันวาน ณ ปัจจุบัน”  ทำไมต้องเป็น วันวาน ณ ปัจจุบัน - CaregiverThai.com
เพราะผู้ป่วยนั้นลืมเลือนสิ่งใหม่ ระลึกได้แต่สิ่งที่อยู่ในวันวาน หากแต่ครอบครัวและญาติสนิท ก็ยังคิดว่าผู้ป่วยเป็นเหมือนที่ท่านเคยเป็นมา ไม่เห็นการเปลี่ยนไปของสมองที่อยู่ข้างใน อะไรที่เปลี่ยนไป อะไรที่หลงลืมไป ก็คิดว่าผู้ป่วยเพี้ยนไปแล้ว หรือสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง บางทีถึงกับคิดว่าแกล้งทำ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มช่องว่างของความไม่เข้าใจให้มากขึ้น
EP. 01 ฉันจะเป็นชีวิตและจิตใจ ให้เธอจนวันสุดท้าย ฉันจะเป็นชีวิตและจิตใจ ให้เธอจนวันสุดท้าย - CaregiverThai.com
พี่สาวของฉัน ฝึกให้เรารู้จักว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง โดยที่เราไม่ต้องไปเรียนรู้จากที่ไหนอีกเลย เขาใช้ตัวของเขาสาธิตให้เราดู เขาสอนเราจนซาบซึ้งว่าความไม่เที่ยงของชีวิตเป็นอย่างนี้เอง
EP. 02 สมองเสื่อม...ปัญหาของครอบครัว สมองเสื่อม ปัญหาของครอบครัว - CaregiverThai.com
เมื่อพ่อป่วย ทำให้ได้รู้ถึงปัญหา ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องพบ ฉันและทุกคนในครอบครัวต้องปรับตัวมาก ชีวิตส่วนตัวที่เคยมีเวลาพักผ่อนหายไปเกือบหมด ต้องดูแลทั้งพ่อและแม่
EP. 03 ด้วยรักของลูก ด้วยรักของลูก - CaregiverThai.com
พ่อแม่มีลูกหลายคน และต้องการพึ่งพาลูกทุกคน การขอความร่วมมือ เมื่อเป็นไปแบบธรรมชาติ ค่อยๆ ซึมซับทุกคนก็จะไม่อึดอัด และยินดีให้ความร่วมมือ
EP. 04 เยียวยาสมองเสื่อมด้วยหัวใจ เยียวยาสมองเสื่อมด้วยหัวใจ - CaregiverThai.com
พ่อกลับไปเป็นเด็กมากขึ้น ชอบให้แสดงความรัก ถ้ากอดหรือหอมแก้ม ก็จะมีความสุขมาก บางวันพ่อจะกอด และหอมแก้มลูกตอบ 
EP. 05 ทุกข์ ของผู้เป็นที่รัก ทุกข์ ของผู้เป็นที่รัก - CaregiverThai.com
พ่อกับแม่เป็นคู่ที่ไม่ห่างกันเลย พ่อเป็นพระเอกของแม่ พ่อรักและให้เกียรติแม่ จนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ถึงแม้ว่าแม่จะไม่รับรู้เรื่องราวรอบตัวก็ตาม แม่ยังคงเป็นความห่วงใยของพ่ออยู่เสมอ ย้อนกลับไปในอดีต ความรักระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่นั้น เป็นรักแรกพบ… 
EP. 06 กว่าเราจะเข้าใจกัน กว่าเราจะเข้าใจกัน - CaregiverThai.com
แม่ยังคงมีความรักเปี่ยมล้นให้เสมอ แต่โรคอัลไซเมอร์ ทำให้เวลาของเราที่จะรักและจำกัน ได้สั้นลงทุกที แม่ลืมทุกอย่างทีละน้อย ทั้งคนที่แม่รัก หรือแม้กระทั่งตัวของแม่เอง
EP. 07 โรคของแม่สอนให้ลูกเป็นคนดีขึ้น โรคของแม่สอนให้ลูกเป็นคนดีขึ้น - CaregiverThai.com
ความเจ็บป่วยของแม่ สอนให้ผมเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อบทบาทของเรากลับกัน …ถึงเวลานี้ท่านจะไม่รู้จักเราอีกต่อไปแล้ว แต่ท่านก็รู้ว่านี่คือสิ่งดีๆ ที่ท่านได้รับ ท่านสมควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และคนที่จะทำให้ท่านได้คือเรา
EP. 08 ปรับใจยอมรับ อัลไซเมอร์ ของแม่ ปรับใจยอมรับ อัลไซเมอร์ ของแม่ - CaregiverThai.com
คุณหมอบอกว่าเริ่มเป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าปกติ คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้ซึ่งมักจะเป็นตอนอายุราว ๆ 65 ปี ให้เราทำใจว่าท่านอาจจะอยู่กับเราได้ไม่นาน อาจจะอยู่ได้อีก 10 ปี หรือ 15 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการดูแลของเรา
EP. 09 อัลไซเมอร์...คำที่ไม่มีวันลืม อัลไซเมอร์ คำที่ไม่มีวันลืม - CaregiverThai.com
ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย และน้ำตาที่ประสบมานั้น ดิฉันพบว่ามี สิ่งงดงาม ที่เรียกว่า “ความรัก” และ “ความสุข”
EP. 10 ครอบครัว คือยารักษาใจ ครอบครัวคือยารักษาใจ - CaregiverThai.com
ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญมาก ความรักช่วยคุณแม่และพวกเราไว้ คุณพ่อผมทุกข์ใจแต่ต้องดูแลลูกๆ ท่านจึงอ่อนแอไม่ได้ …เพราะชีวิตของเรายังต้องเดินหน้าต่อไป และต้องมีคุณแม่อยู่ในชีวิตเราด้วย
EP. 11 คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ - CaregiverThai.com
วันหนึ่งที่เราต้องเผชิญกับเรื่องร้ายหรือหมดกำลังใจ คำดีๆ เหล่านั้นจะเป็นแสงสว่างนำทาง ให้เราก้าวไปอย่างมีสติมีพลังและมีปัญญา ...พวกเขาเคยถามว่า ผมคิดอย่างไร ผมตอบไปว่า ชีวิตให้โอกาสผมได้ดูแลพี่ที่ผมรักมาก ผมก็จะทำให้ดีที่สุด
EP. 12 มากกว่ารักคือเข้าใจ มากกว่ารักคือเข้าใจ - CaregiverThai.com
การมีผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน กระทบทุกคนในครอบครัว บางครอบครัวที่ขาดความเข้าใจ ทะเลาะกับผู้ป่วยบ้าง เลวร้ายที่สุด ก็คือ การหมดรักและทอดทิ้งผู้ป่วย เพราะฉะนั้นความเข้าใจจากคนในครอบครัวจึงสำคัญที่สุด
ติดตามอ่านเรื่องสั้นจากชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยความรักที่น่าประทับใจทั้ง 12 ครอบครัวได้ที่ มุมผู้ดูแล คอลัมน์ “วันวาน ณ ปัจจุบัน” กดลิ้งค์ได้ที่นี่ วันวาน ณ ปัจจุบัน - CaregiverThai.com 
CaregiverThai.com เคียงข้างผู้ดูแลเสริมความรู้และพลังใจ 
เว็บไซต์ CaregiverThai.com ตัวช่วยสำคัญและพัฒนาตัวผู้ดูแลในครอบครัวระดับมืออาชีพ ด้วยความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและพลังใจจากเครือข่ายของผู้ดูแล เพราะผู้ดูแลที่มีคุณภาพเป็นหัวใจที่ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม และทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทีมงานคัดสรรเนื้อหารวบรวมไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแล โดยจะเพิ่มเนื้อหาใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง และเป็นสื่อกลางสร้างชุมชนเคียงข้างผู้ดูแลช่วยแบ่งปันและสนับสนุนกันและกัน
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.