แนวทางในการสื่อสารกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมอย่างเหมาะสม

แนวทางในการสื่อสารกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมอย่างเหมาะสม

วิธีสื่อสารกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม

การพูดจาสื่อสารอย่างเหมาะสมช่วยให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมกับผู้ดูแลเข้าใจกันมากขึ้น ลดความขัดแย้ง ผู้ป่วยอารมณ์ดี ดูแลง่ายขึ้น

1. พูดกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน สุภาพ ให้เกียรติ
2. ใช้ท่าทีอ่อนโยน เป็นมิตรกับผู้ป่วย ทั้งสีหน้า ท่าทาง และการแสดงออก
3. ไม่บังคับ ไม่สั่ง ไม่ดุ ไม่ทำร้าย
4. สิ่งรบกวน เช่น เสียงดัง เสียงโทรทัศน์ ความพลุกพล่านภายนอก ทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่มีสมาธิพูดคุย ผู้ดูแลควรปิดโทรทัศน์ ปิดหน้าต่าง ประตู พาย้ายไปห้องอื่นที่สงบเงียบกว่า
5. ผู้ดูแลควรเข้าหาทางด้านหน้า อย่ายืนสูงกว่าผู้มีภาวะสมองเสื่อม เพราะอาจจะรู้สึกเป็นการคุกคาม ควรอยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่า
6. เวลาพูดกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้สบตา
7. ใช้คำพูดสั้น ๆ กระชับ เข้าใจง่าย พูดช้า ๆ ชัด ๆ
8. ถ้าผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่เข้าใจ ให้พูดซ้ำ ช้า ๆ หรือปรับคำพูดให้ง่ายขึ้น
9. เมื่อต้องการให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมทำอะไร ผู้ดูแลควรใช้การชักชวนแทนคำสั่ง
10. หากถามคำถามกว้าง ๆ ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะตอบไม่ถูก เช่น จะใส่เสื้อสีอะไร ควรใช้คำถามที่มีตัวเลือกให้ตอบ เช่น จะใส่เสื้อสีฟ้าหรือสีชมพู
11. ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะใช้เวลาคิด ตอบช้า ผู้ดูแลควรอดทนรอสักนิด อย่าเร่ง
12. ผู้ดูแลยังคงพูดคุยด้วยได้เสมอ ถึงแม้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมบางรายจะพูดโต้ตอบไม่ได้แล้วก็ตาม

ภาษากายและสื่อสารด้วยหลักการ Humanitude

การดูแลแบบฮิวแมนนิจูด (Humanitude) คือ การดูแลผู้สูงวัยด้วยทัศนคติที่มองมนุษย์เป็นมนุษย์ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในผู้สูงวัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดรู้ สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต ด้วยหลักการที่ว่า เราจะไม่บังคับหรือฝืนใจผู้สูงอายุ จะใช้การประนีประนอมกัน พูดคุยกันด้วยความรัก ความเข้าใจ ผ่านท่าทาง การสื่อสาร ซึ่งหลักการดูแลแบบฮิวแมนนิจูด (Humanitude) ที่พัฒนาขึ้นโดย Gineste และ Marescotti ได้ก่อตั้งเป็นสถาบันในประเทศฝรั่งเศส ผู้เรียนจะต้องได้รับการอบรมและฝึกฝนมากกว่า 200 เทคนิคเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งการดูแลนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั้งทวีปยุโรป อเมริกาและเอเชีย ถึงอย่างไรก็ตาม แนวทางการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดนั้นก็มีหลักการง่าย ๆ เพื่อผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดสามารถนำไปใช้ได้กับผู้สูงวัย มีองค์ประกอบทั้งหมดเพียง 4 องค์ประกอบ คือ 1. การสบตา 2. การพูดคุย 3. การสัมผัส และ 4. การจัดท่าในแนวตั้งตรง

ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวนี้จะเป็นตัวช่วย ให้ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดสามารถสื่อสารผ่านช่องทาง หรือ ตัวสื่อ ให้ผู้รับสารได้รับรู้เจตนา ความรู้สึก เรื่องราวที่ผู้ส่งสารจะสื่อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอธิบายดังนี้

การสร้างทัศนคติ คือ ผู้ใกล้ชิด หรือผู้ดูแลจาเป็นต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงวัย เช่น สร้างความทรงจำใหม่ระหว่างกันและกัน และมองผู้สูงวัยเป็นมนุษย์แบบตัวเราเอง ซึ่งเราเป็นผู้ที่ต้องการได้รับความรัก ความเข้าใจ ความห่วงใย ความเมตตา มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าในตนเองเสมอ ผู้สูงวัยที่อยู่ด้านหน้าเราก็ต้องการแบบตัวเราเองเช่นกัน หากยังไม่พร้อมให้ลดความมีตัวตนของตนเองลง เช่น ตัวเราเองต้องเป็นแบบเราเอง คิดว่าเรานั้นไม่สามารถทำได้ การสร้างกำแพงระหว่างกัน ความคับข้องใจ มีความรักแต่ความไม่กล้าที่จะบอก ไม่กล้าที่จะกอด ไม่กล้าที่จะมองตา หรือแสดงออกไม่ได้ว่ารัก เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะส่งผลให้เป็นการขัดขวางการสื่อสารที่แท้จริง

1. การสบตา คือ การสื่อสารผ่านทางสายตา ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดจะต้องสบตาจากทางด้านหน้าของผู้สูงวัยเท่านั้น นอกจากนั้นเราต้องให้เกียรติผู้สูงวัย โดยการก้มตัว นั่ง หรือศีรษะลงมาในระดับต่ำกว่าผู้สูงอายุเสมอ มองเข้าไปในดวงตาผู้สูงวัย เพื่อให้ท่านรับรู้ว่าเรามีความสนใจ ใส่ใจที่จะพูดคุย หรือให้การช่วยเหลือใด ๆ
2. การพูดคุย คือ การพูดด้วยเสียงโทนต่ำ พูดให้ชัดถ้อยชัดคำ ให้ผู้สูงวัยมองเห็นปากว่าเราพูดอะไร เนื่องจากการได้ยินของท่านอาจลดลง หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำรุนแรง ไม่สุภาพ พูดในทางบวก เช่น การชื่นชมและยกย่องท่านด้วยความจริงใจเสมอ การปลอบโยน ให้กาลังใจ เป็นต้น
3. การสัมผัส คือ การสัมผัสที่ร่างกายของผู้สูงวัยอย่างช้า ๆ แต่ให้ลงน้ำหนักเล็กน้อย เพื่อแสดงถึงความมั่นคง มั่นใจ ให้กำลังใจ ช่วยเสริมคำพูด หากเราพูดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การสัมผัสจะช่วยให้ผู้สูงวัยรับรู้ถึงเจตนาของผู้ดูแลได้ดีมากขึ้น
4. การจัดท่าในแนวตั้งตรง คือ การดูแลแบบฮิวแมนนิจูดจะเน้นให้ดูแลผู้สูงวัยอย่างมนุษย์ ในผู้สูงวัยบางท่านอาจนอนติดเตียง หรือไม่สามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ ให้ผู้ดูแล ลูกหลานผู้ใกล้ชิด ช่วยจัดท่าให้ท่านได้นั่ง หรือจัดลำตัวตั้งตรง ให้ใกล้เตียงกับแนวตั้งฉากให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ท่านได้รับรู้ถึงบุคคลที่อยู่รอบข้าง มองเห็นสิ่งแวดล้อม และยังคงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ถึงแม้ไม่สามารถยืนหรือเดินได้ก็ตาม แต่ในบางรายหากท่านยืนหรือเดินได้ ก็ส่งเสริมช่วยประคองให้ท่านยืนหรือเดินบ้าง เพื่อสื่อสารให้ท่านรับรู้ว่า ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดนั้นเห็นคุณค่าของท่าน ท่านยังคงมีความสามารถนั่นเอง
ถึงแม้ว่ากายภาพที่เราเห็นนั้น ผู้สูงวัยมีศักยภาพในการทำงานของร่างกายจะลดลง แต่ความรู้ ประสบการณ์ชีวิต ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ของผู้สูงวัยที่สะสมมานั้น ไม่ได้หายไปไหน คนรุ่นใหม่ ลูกหลาน จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง หากได้รับการพูดคุยสื่อสารอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดนั้นยังช่วยให้ผู้สูงวัย ชะลอความถดถอยทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจได้อีกด้วย
การสังเกตภาษากายของผู้มีภาวะสมองเสื่อม
ดูแลด้วยความเคารพ ให้เกียรติ อ่อนโยน มีเมตตา รักและเข้าใจ สร้างสุขทั้งผู้มีภาวะสมองเสื่อม ครอบครัว ...
ตารางกิจวัตรประจำวัน สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อมระยะ 3
ผู้ปวยสมองเสื่อมในระยะนี้มีภาระหลงลืมมากขึ้น บางคนยังพอทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
การทดสอบสมรรถภาพทางกาย
การทดสอบสมรรถภาพทางกาย ...
กินแล้วบอกไม่ได้กิน
กินแล้วบอกไม่ได้กิน พบบ่อย ๆ ...
สมองเสื่อม สังคมช่วยดูแลได้อย่างไร
หยิบยื่นน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ...
การให้อาหารทางสายยางทางจมูก
ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารได้น้อย ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.