ฝึกใจในยามสูงอายุ

ฝึกใจในยามสูงอายุ
เมื่อถึงวัยสูงอายุจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน หากทราบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จะช่วยในการปรับตัวและฝึกใจให้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น 
มาดูกันว่าวัยสูงอายุต้องรับมือกันอะไรบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย 
ในวัยสูงอายุมวลกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง มีปัญหาการทรงตัว การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การรับรู้ทางผิวหนังลดลง ผิวหนังบางลง ฟันผุและหลุดง่าย ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบการทำงานต่าง ๆ ลดประสิทธิภาพลง กำลังกายน้อยลง เคลื่อนไหวช้ากว่าก่อน ปวดเมื่อย หลายคนมีโรคประจำตัว 

ความเปลี่ยนแปลงทางสมอง 
มักจะมีปัญหาความจำ ลืมข้อมูล รายละเอียด หรือเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ประจำวัน ความคิดอ่านการคิดคำนวณ การตัดสินใจ และการเรียนรู้ช้าลง

ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ 
อารมณ์ไม่คงที่ อ่อนไหวง่าย มีความวิตกกังวล เหงา เบื่อ กลัวถูกทอดทิ้ง และมีโอกาสซึมเศร้า จากความเปลี่ยนแปลงของภาวะร่างกาย สถานภาพสังคม หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว  

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต  
เกษียณจากงาน สถานภาพทางสังคมเปลี่ยนไป ไม่มีตำแหน่ง จากหัวหน้าครอบครัวมาเป็นสมาชิกครอบครัว การพบปะเพื่อนฝูงหรือเข้าสังคมลดลง มีเวลาว่างมากขึ้น  ขาดรายได้หรือรายได้ลดลง สูญเสียคนใกล้ชิด
ปรับใจรับความเปลี่ยนแปลง 
1. ทำความเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือความเป็นไปของธรรมชาติ เตรียมใจให้พร้อมเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความสูญเสียไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  
2. เตรียมร่างกายให้พร้อม เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ครบห้าหมู่ ปริมาณพอเหมาะ เลี่ยงหวานมันเค็ม ออกกำลังกายเหมาะกับวัยและสภาพร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง เพื่อเสริมสร้างกำลังกายให้แข็งแรง มีพลัง ช่วยเหลือตนเองได้ มีอิสระในการเลือกทำในสิ่งที่ต้องการ โดยไม่มีความเจ็บป่วยมาเป็นอุปสรรค การออกกำลังกายจะส่งผลช่วยให้อารมณ์ดีจิตใจแจ่มใส  
3. ทำความเข้าใจและยอมรับในร่างกายของตนเอง ในวัยนี้ทำอะไรช้าลงการตัดสินใจช้า การกะระยะ สายตา และการทรงตัวไม่ดีเหมือนก่อน เลี่ยงการทำอะไรเกินกำลัง เลี่ยงปีนป่ายขึ้นที่สูง ดูแลและป้องกันอันตรายต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ จะได้ถนอมร่างกายให้แข็งแรงไปนาน ๆ  
4. หมั่นสำรวจอารมณ์ของตนเอง อารมณ์เสียบ่อย อะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด เศร้า วิตกกังวลบ่อยหรือไม่ หลายสิ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้จำเป็นต้องแก้ที่ตัวและใจของเราเอง แก้ได้ก็จะช่วยให้มีความสุขง่ายขึ้น
5. เมื่อมีเวลาว่างมากจะทำให้เหงา เศร้า เบื่อ วิตกกังวล คิดมาก ควรมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลิน หรืออาจเป็นกิจกรรมที่มีโอกาสเพิ่มรายได้ ก็จะมีความสุขมากขึ้นที่พึ่งพาตนเองได้ 
6. มีสังคม ติดต่อกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง  เข้าสมาคมกลุ่มความสนใจเดียวกัน หรือคบหาคนหลากหลายวัยเพื่อช่วยเปิดโลกกว้างและเปิดใจยอมรับความแตกต่างได้ง่ายขึ้น
7. ยอมรับในตัวคนอื่นอย่างที่เขาเป็น โดยเฉพาะคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ลดการเฝ้ามองข้อบกพร่องของคนอื่น เพื่อลดโอกาสเกิดความขัดแย้ง 
8. บ้านเป็นที่ ๆ จะใช้เวลามากที่สุดเมื่อถึงวัยสูงอายุ ดูแลบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิต ปลอดภัยไม่เสี่ยงอุบัติเหตุ แสงสว่างพอเพียง จุดต่าง ๆ ใช้งานสะดวก  
9. เมื่อเจ็บป่วย หรือไม่สบายใจ ขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษาจากคนในครอบครัว เพื่อน  หรือปรึกษาแพทย์
อ่านเรื่องน่าสนใจเพิ่มเติม : โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
นอนไม่พอเสี่ยงสมองเสื่อม
6 ข้อควรระวังหนาวนี้
หน้าหนาวควรระวังสุขภาพของผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นพิเศษ ...
ปีใหม่เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ
คนทั่วไปอาจตั้งปณิธานปีใหม่ว่าจะทำอะไรให้ดีขึ้น ...
สมองเสื่อมที่ป้องกันได้
ภาวะสมองเสื่อมป้องกันได้หรือไม่ มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.