ปรับบ้านให้สงบลดป่วนสมองเสื่อม
บรรยากาศภายในบ้านส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ป่วยสมองเสื่อม เนื่องจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเป็นตัวกระตุ้นผู้ป่วยได้ง่าย การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสมมีส่วนช่วยลดความกระวนกระวายหรืออาการป่วนของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยสงบผ่อนคลายมากขึ้น
เสียงดังจากโทรทัศน์ วิทยุ เสียงพูดคุยดัง ๆ เสียงดังจากภายนอก หรือเสียงก้อง จะทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเครียด กระวนกระวายและสับสน
ลดเสียงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เบาลง ตัดเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น ปิดประตู หน้าต่าง ติดผนัง หรือกระจก 2 ชั้น ถ้าห้องมีเสียงก้อง หาเครื่องเรือนของแต่งบ้านช่วยดูดซับเสียง เช่น โซฟานุ่ม ผ้าม่าน ถ้าห้องโล่งเกินไปการเพิ่มเครื่องเรือนจะช่วยลดปัญหาเสียงก้อง
*ห้องที่เงียบสนิทเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยสับสน อาจเปิดเพลงช้า ๆ เบา ๆ ที่ผู้ป่วยชอบ
สังเกตดูว่าอะไรเป็นสิ่งรบกวนผู้ป่วย เช่น
- กระจกสะท้อนมักทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ เนื่องจากจำตัวเองไม่ได้ และเข้าใจว่าภาพที่สะท้อนเป็นคนแปลกหน้า ควรเก็บออกจากห้องหรือหาผ้าคลุมมิดชิด
- ช่วงใกล้ค่ำท้องฟ้ามืดลงส่งผลต่ออารมณ์ผู้ป่วย ควรปิดหน้าต่างหรือผ้าม่านให้มิดชิดแล้วเปิดไฟในบ้านให้สว่าง
- ถ้าบ้านอยู่ติดถนน สังเกตว่าถ้ามีแสงไฟของรถเวลาแล่นผ่านสะท้อนเข้ามา ควรปิดประตูหน้าต่างป้องกันแสงรบกวน
- การใช้สีภายในบ้าน หากปรับปรุงบ้าน ควรเลือกสีตัดกันระหว่างพื้นกับผนัง หรือแยกสีแต่ละห้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นและแยกแยะได้ ไม่ควรตกแต่งด้วยลวดลายมาก ๆ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยสับสน
- ควรดูแลให้มีแสงสว่างภายในบ้านพอเพียง มองเห็นชัด ดูจุดติดตั้งดวงไฟไม่ให้เกิดเงามืด เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกไม่ปลอดภัย อาจกลัวว่ามีอันตราย หรือเข้าใจว่ามีคนแปลกหน้าบริเวณนั้น
จัดมุมสงบผ่อนคลาย มีเก้าอี้นั่งนุ่ม ๆ โต๊ะเล็ก ๆ วางของข้างเก้าอี้หยิบจับสิ่งของสะดวก อาจเป็นห้องแยกจากส่วนอื่นที่วุ่นวายภายในบ้าน สำหรับทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ทำงานศิลปะง่าย ๆ ฟังเพลง หรือเล่นเกม
เมื่อผู้ป่วยหาของไม่พบมักจะหงุดหงิดอารมณ์เสียเกิดความปั่นป่วนได้ คนทั่วไปยังอารมณ์เสียเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นจึงควรหาที่วางของใช้ประจำของผู้ป่วยให้หยิบจับสะดวกมองเห็นง่าย
คอยสังเกตว่าผู้ป่วยอาจนำของไปซ่อนในบริเวณไหนเป็นประจำ แล้วช่วยนำกลับมาไว้ที่เดิมให้หาง่าย
อาจติดสติ๊กเกอร์หรือป้ายบอกว่าสิ่งของในตู้มีอะไรบ้าง หรือหาตู้บานกระจกใสเก็บของแทนตู้ทึบ
บทความที่เกี่ยวข้อง