สิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุจากภาครัฐ
ผู้ดูแลควรรู้จัก 13 สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
13 สิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุเมื่ออายุเกิน 60 ปีและมีสัญชาติไทย
1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนแบบขั้นบันไดตามช่วงวัย- อายุ 60 - 69 ปี 600 บาท/เดือน
- อายุ 70 - 79 ปี 700 บาท/เดือน
- อายุ 80 - 89 ปี 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท/เดือน
2. ส่วนลดค่าโดยสาร เมื่อแสดงบัตรประชาชนผู้สูงอายุทุกครั้งที่ใช้บริการ จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนค่าโดยสารสาธารณะ ดังนี้
- ส่วนลด 50% ของค่าโดยสารปกติ ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง (ขสมก.), รถทัวร์ (บขส.) หมวด 2 และหมวด และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รวมทั้งเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
- รถไฟฟ้า BTS เมื่อซื้อบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ จะได้ส่วนลด 50% ของค่าโดยสารปกติ
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เมื่อซื้อบัตร Senior Citizen Smart Pass จะได้ส่วนลด 50% ของค่าโดยสารปกติ
- รถไฟ จะได้รับส่วนลด 50% ของราคาค่าโดยสาร เฉพาะระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายนของทุกปีเท่านั้น
- สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ผู้สูงอายุจะได้รับส่วนลด 10% จากราคาบัตรโดยสารราคาปกติ สำหรับทุกเส้นทางบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ
3. การขอลดหย่อนภาษี บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาผู้สูงอายุ ขอลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทต่อคน/ปี ตามเงื่อนไขที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
4. ปรับสภาพที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุที่ยากจน ปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพเหมาะสมและปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ แบบเหมาจ่าย 22,500-40,000 บาท โดยศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุเป็นผู้พิจารณาคัดกรองและดำเนินการ
5. กู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพปลอดดอกเบี้ย วงเงิน 30,000 บาท/คน หรือ 100,000 บาท/กลุ่มไม่น้อยกว่า 5 คน ต้องมีผู้ค้ำประกัน ผ่อนชำระรายเดือน ภายใน 3 ปี เมื่อยื่นขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพกับกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
6. สิทธิทางอาชีพ เข้ารับการอบรมฝึกวิชาชีพ บริการข้อมูลสมัครงานและจัดหางานที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จากสำนักจัดหางาน กระทรวงแรงงานในทุกจังหวัด
7. สิ่งอำนวยความสะดวกปลอดภัยในพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ทางลาด ลิฟท์ บริการรถเข็น ที่จอดรถ ห้องน้ำผู้สูงวัย เป็นต้น
8. สิทธิทางการศึกษา ผู้สูงอายุสามารถใช้เวลาในการศึกษาหาความรู้ที่เหมาะสม โดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
9. สิทธิทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุ เช่น ช่องทางด่วนไม่ต้องรอคิวนาน บริการรถเข็น จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลเฉพาะ และบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การบำบัดพื้นฟู และการดูแลระยะยาวสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง
10. สิทธิการช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีบริการให้คำปรึกษา แนะนำช่วยเหลือทางคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
11. เข้าชมฟรีในสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
12. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม เพื่อการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ภายในชุมชน เช่น กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ สวนสุขภาพ สนามกีฬา ศูนย์กีฬาในร่มลดค่าสมัครสมาชิก 50% ได้รับการสนับสนุนผ่านเครือข่ายหรือชุมชน เช่น ชมรมผู้สูงอายุ การถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การท่องเที่ยว กีฬา และกิจกรรมนันทนาการ
13. การสงเคราะห์ช่วยเหลือกรณีต่าง ๆ สำหรับสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน ทุกข์ยาก เดือดร้อน ด้านอาหารและเครื่องนุ่งห่ม จะได้รับการช่วยเหลือเป็นวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี กรณีอยู่ในภาวะยากลำบากขาดผู้อุปการะ ผู้สูงอายุที่ยากจนและขาดผู้ดูแล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าใช้บริการได้ที่ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จะจัดหาที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม กรณีผู้สูงอายุยากจนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเสียชีวิต ผู้จัดการศพยื่นความประสงค์ขอรับเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามประเพณี ได้ที่ สำนักงานเขต หรือสำนักงาน อบต. หรือ สำนักงานเทศบาล รายละ 3,000 บาท ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ออกใบมรณบัตร
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม แหล่งข้อมูลด้านสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุล่าสุด ติดต่อ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร. 0 2642 4305 และ 0 2642 4306 หรือ www.dop.go.th
ที่มา: กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
บทความที่เกี่ยวข้อง