กว่าเราจะเข้าใจกัน

กว่าเราจะเข้าใจกัน
record_voice_over อ่านให้ฟัง
เรื่องเล่าจากหนังสือ วันวาน ณ ปัจจุบัน โดย อรชุมา
ฉันเป็นลูกคนเดียวของแม่ เราจึงเป็นแม่ลูกที่ใกล้ชิดกันมาก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด แม่ยังคงมีความรักเปี่ยมล้นให้เสมอ
แต่โรคอัลไซเมอร์ ทำให้เวลาของเราที่จะรักและจำกัน ได้สั้นลงทุกที แม่ลืมทุกอย่างทีละน้อย ทั้งคนที่แม่รัก หรือแม้กระทั่งตัวของแม่เอง ฉันเฝ้าดูแม่ค่อย ๆ “จากเป็น” ด้วยความสะเทือนใจ

แม่ผู้อ่อนโยน ในความทรงจำ ของลูก

แม่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ทุกวันนี้แม่ดูเลื่อนลอย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เศร้าซึม หวาดกลัว ร้องไห้ง่าย แต่แล้วก็ลืมเลือน เปลี่ยนเป็นสดชื่นยิ้มแย้ม แม่เคยเป็นคนใจดี อ่อนโยน อ่อนหวาน พูดเพราะ โอภาปราศรัยกับทุกคน เป็นที่เลื่องชื่อเรื่องความสวย ในหมู่ผู้ปกครองตั้งแต่ฉันยังเล็กจนโต ตอนแม่เริ่มแปลกไป ในระยะแรกเข้าใจไปว่า แม่ห่วงทรัพย์สินเงินทอง ไปฝากเงินที่ธนาคารให้แม่ กลับมาต้องชี้แจงรายละเอียด สมุดธนาคารต้องอธิบายกันนานจนหงุดหงิด เสียอารมณ์ทั้งสองฝ่าย ทั้งพูด ทั้งเขียนอย่างไร ก็ไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ เมื่อไม่พอใจแม่ก็โทรศัพท์ไปธนาคาร แม่ระแวงว่าธนาคารคิดดอกเบี้ยผิด วุ่นวายกันทุกเดือน

เมื่อนึกย้อนดู แม่น่าจะเป็นอัลไซเมอร์ร่วม 20 ปีแล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้แม่นยำ แม่ร้องไห้โฮ ๆ บอกว่าเครื่องประดับ และเพชรทองที่เก็บไว้ ถูกขโมยไปหมด ตรวจดูข้าวของก็หายไปจริง ๆ เหลือแต่กล่องและหีบห่อต่าง ๆ เมื่อแจ้งตำรวจให้มาที่บ้าน ก็ไม่พบร่องรอยการงัดแงะ หรือปีนเข้าบ้าน  สีหน้าของตำรวจเหมือนกับเชื่อว่า เป็นปัญหาระหว่างแม่ลูกกันเองความจริงก็คือ
แม่คงจะระแวงกลัวของหาย จึงแยกซุกไว้ตามที่ต่าง ๆ แล้วจำไม่ได้ หาอย่างไรก็ไม่พบ
และภายหลังเมื่อซ่อมบ้านมีคนเข้าออกมากหน้าหลายตา เครื่องประดับเหล่านั้นก็คงหมดสิ้นไป ฉันมาได้คิดโดยสรุปย้อนหลัง ดูจากพฤติกรรมซุกของของแม่ในปัจจุบัน

ทุกอย่างเป็นปัญหา

ใช่แต่เพียงตามหาข้าวของของแม่ที่หายเท่านั้น ของในบ้านยังหายไปอยู่ในที่ที่คาดไม่ถึง รองเท้าหายไปเหลือข้างเดียวตลอดเวลา ต้องซ่อนกุญแจบ้าน กุญแจรถ รีโมตแอร์ จดหมาย เอกสาร รูปภาพต่าง ๆ ฯลฯ
ตามพื้นมักมีกระดาษทิชชู ที่แม่ชอบใช้ฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ร่วงอยู่ในบ้าน แม่ชอบจัดของย้ายของ วันหนึ่งพบว่ามีรองเท้าบู้ต วางอยู่กลางโต๊ะกินข้าว ในเวลาแบบนี้ อารมณ์ขันเท่านั้นที่จะช่วยได้
แม่ชอบทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ไม่ยอมหยุด เก็บใบไม้เป็นชั่วโมง ๆ ล้างมือหรือล้างของไม่ยอมเลิกจนต้องแอบปิดปั๊มน้ำ แม่ถามซ้ำเรื่องเดิมแทบทุกนาที แก้โดยเขียนคำตอบในกระดาษให้อ่าน นั่งกินข้าวด้วยกันกับครอบครัว แม่จะเลื่อนจานกับข้าว สลับไปมาตลอดเวลา ต้องแก้โดยแยกให้กินต่างเวลากัน ระหว่างวันเบี่ยงเบน หากิจกรรมง่าย ๆ ให้แม่ทำ เช่น บวกเลขระดับ เด็กประถม เช็ดจาน เรียงช้อนส้อม เรียงเลขไพ่ ทำได้สักพักถ้าแม่หงุดหงิด หรือเครียดก็ต้องเลิก

บางครั้งแม่จะตื่นตัว โต้ตอบกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นตรงหน้า และเดินตามประกบตัวฉันโดยตลอด ร้องทุกข์ต้องการความสนใจใกล้ชิด บางครั้งเศร้าซึมร้องไห้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องอดทน คุมใจ และอารมณ์ตัวฉันเอง ไม่ให้ขึ้นลงตามการเปลี่ยนแปลงของแม่ สามีสอนให้นึกว่าแม่เป็นเด็กเล็ก ๆ อายุไม่เกินสี่ขวบ ระยะหลังอาการของแม่หนักขึ้น ทำอะไรที่เคยทำไม่ได้ เข้าไปยืนในห้องน้ำเฉย ๆ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร บางวันไม่ยอมอาบน้ำบอกว่ากลัวน้ำ บางวันถอดเสื้อผ้าไม่เลือกที่ ร้องขอกลับบ้านเป็นระยะ ย้ายข้าวของในห้องตัวเองตลอดเวลา แม่มีเรี่ยวแรงมากสามารถเขยื้อนเฟอร์นิเจอร์หนัก ๆ ได้ ชอบปีนป่าย บางช่วงไหว้ทุกคนแม้แต่ เด็กเล็ก ๆ บางช่วงชอบลูบคลำ กอดหอมโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร และพร้อมจะเปิดประตูเดินออกจากบ้าน

สิ่งที่น่าสงสารและชวนเครียดไปพร้อม ๆ กัน คือ เวลาแม่มีอาการกลัวจนตัวสั่น ตกใจง่าย กรีดร้องไม่ยอมเคลื่อนไหว บางครั้งไม่ยอมเดิน นั่งซึม
แม่มีความกลัวหลายสิ่งหลายอย่าง กลัวกลางคืน กลัวห้องของตัวเอง แค่ให้เดินจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่งแม่ก็กลัวแล้ว จะร้องตกใจง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เวลากลัวก็จะไปแอบตามซอก
เคยเข้าไปมุดอยู่ในห้องใต้บันไดเล็ก ๆ บางวันตื่นมาแล้วงง หาประตูห้องไม่พบ ก็จะตะโกนขอความช่วยเหลือ จะอาบน้ำก็กลัว บางทีมีอาการต่อต้านแรง ๆ อารมณ์ฉุนเฉียว

แม่มักมองเห็นคน หรือเห็นอะไรต่าง ๆ และพูดกับภาพหลอน หรือคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ผู้ที่ดูแลอยู่กลัว  เข้าใจไปว่าแม่มองเห็นผี บ่อยครั้งแม่มีอาการหูแว่วไปเอง ต่อมาอาการทรุดลงจนกระทั่งพูดไม่หยุดทั้งคืน พูดเป็นประโยคแต่ไม่เป็นภาษา ครั้งหนึ่งเดินตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืนติดต่อกัน 4 คืน ผุดลุกผุดนั่ง มีเรี่ยวแรงมาก คนปกติยังอดนอน หลายวันไม่ได้อย่างแม่ ช่วงที่แย่มาก คือ มีปัญหาลืมการกลืนน้ำ ไม่ยอมเคี้ยวอาหาร ไม่ยอมกินยาจนต้องบดผสมนม หรือน้ำหวาน อาการแม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ต้องปรึกษาคุณหมอใกล้ชิด  เพื่อปรับเปลี่ยนยา

ส่วนปัญหาเรื่องความจำนั้น แม่ลืมเรื่องราวใหม่ ๆ ง่ายมาก ในขณะที่ความทรงจำเดิมผุดขึ้นมาบางครั้ง อุปนิสัยบางอย่างของแม่ยังคงอยู่ เช่น ชอบจัดบ้าน รักความสะอาด ดึงทั้งผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ออกมาพับทุกเช้า กลางคืนไม่ยอมนอน คอยแต่เอามือลูบผ้าปูที่นอนให้ตึงเรียบ แม่ชอบพับผ้าห่ม ซึ่งนับวันจะเป็นงานที่ยาก สำหรับแม่มากขึ้นทุกที ต้องพยายามเป็นครึ่งค่อนชั่วโมง บ่อยครั้งก็ปล่อยให้ทำ เพื่อความสบายใจ แต่ต้องดูไม่ให้นานไปจนเครียด ก่อนนอนเวลานำสวดมนต์ จะมีบางตอนที่แม่ท่องต่อไปเอง กลางวันทดลองเปิดเพลงกล่อมเด็ก จากอาศรมที่อินเดียซึ่งเป็นเหมือนบทสวดมนต์ แม่หยุดเดินไปเดินมานั่งนิ่งฟัง บางครั้งพนมมือ นับว่าได้ผลมาก คอยเปิดสลับกับเพลงของ  รวงทอง ทองลั่นธม นักร้องคนโปรดของแม่ แม่ร้องตามเสียงใส จำทั้งเนื้อร้อง ทำนองได้ขึ้นใจ ดูสงบ อารมณ์ดี

การดูแลแม่นั้นไม่ง่ายเลย ตอนอาการยังน้อย ๆ แม่อยู่คนละบ้านกับฉัน พออาการหนักมากขึ้นแม่ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ จึงให้แม่มาอยู่บ้านฉัน เป็นเรือนหลังเล็กมีห้องน้ำในตัว มีคนดูแลแม่เป็นคนดั้งเดิมของบ้านสองสามคน หมุนเวียนผลัดกันเป็นคนดูแลหลัก ต่อมาเปลี่ยนเป็น จ้างคนจากศูนย์ดูแลผู้ป่วยมาประกบตัวแม่ ตั้งแต่แม่เริ่มมีอาการเดินไม่หยุด ทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งต้องเพิ่มคนจากศูนย์เป็น 2 คน เพื่อสลับกันพักผ่อนบ้าง

ความสงบสุขหายไป

การปรับตัวรับมือ กับอาการของแม่นั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก ในช่วงแรกยังไม่ทราบว่าแม่ป่วย ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่ ไม่เข้าใจโรคนี้ เข้าใจไปว่าคนแก่ๆ ก็เป็นอย่างนี้เอง คิดว่าแม่ดื้อ เถียงกันตลอดเวลา
คิดแต่ว่าทำไมแม่ต้องทำแบบนี้ ทำไมพูดไม่รู้เรื่อง ทำไมต้องโกรธเด็กที่บ้าน ในเรื่องเพียงเล็กน้อย หรือเรื่องง่าย ๆ แม่ก็ตัดสินใจไม่ได้ อะไรก็ตามที่อยากให้เป็นแบบหนึ่ง แม่ก็จะทำตรงข้ามเสมอ บางครั้งคนในครอบครัว ไม่เข้าใจว่าทำไมฉันจึงพูดกับแม่ไม่ดี เขาไม่ได้รับรู้อาการแม่ ไม่ได้อยู่ด้วยทั้งวัน ส่วนคนที่นาน ๆ มาหาแม่สักครั้ง จะไม่ทราบเลยว่าแม่เปลี่ยนไปอย่างไร เวลาแม่อยู่ต่อหน้าคนอื่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ จะดูดี พูดจาหรือแสดงออกคล้ายเป็นปกติ

สิ่งที่ทำให้อดทนได้ยาก และทำให้จิตตกที่สุด ก็คือ การที่พูดสื่อสารกับแม่ไม่รู้เรื่อง และอารมณ์แปรปรวนของแม่ เวลาร้องไห้เสียใจกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางครั้งนานครึ่งวัน ปลอบอย่างไรก็ไม่หาย ครั้นบทจะลืมก็ลืมทันที ว่าเสียใจเรื่องอะไร ยิ้มเริงร่า ในขณะที่ฉันยังค้างคาใจ กับอารมณ์ของแม่อยู่ ทำให้หม่นหมองไปทั้งวัน กลางคืนไม่ได้นอนหลับสนิทเหมือนกัน ระแวงว่าได้ยินเสียงแม่ร้อง หรือมีเสียงอะไรดังก็จะตื่นขึ้นมา วิ่งไปห้องแม่ห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้น กลัวจะล้ม บางครั้งหูแว่วเสียงไปเอง จึงจำเป็นต้องมีคนประกบตัวแม่ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

สิบแปดปีมาแล้ว ที่ฉันออกจากงานสอน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานอิสระที่บ้าน เนื่องจากรักการใช้ชีวิตเงียบสงบ อยู่ในบ้านในวันว่าง ตอนเช้า 7 โมงก็จะเริ่มนั่งวาดรูป บางวันวาดเพลินไปจนถึงบ่าย แต่ก็ร็สึกว่าบ้านซึ่งเคยเป็นสถานที่สงบสุข และรื่นรมย์ค่อย ๆ หายไป ฉันหยุดวาดรูปมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เพราะใจไม่สงบพอ บางครั้งไม่อยากอยู่บ้าน ลองแก้ไขโดยขับรถออกนอกบ้าน บางครั้งได้ยินเสียงแม่ หรือแม่เดินมาใกล้ ใจตกวูบลงว่า ต้องมีเรื่องอะไรสักอย่างเกิดขึ้นอีกแล้ว จึงไม่หลงเหลือที่สงบใจในบ้าน และยังมีความเครียดกังวลลึก ๆ ว่าเด็กที่บ้านจะอยู่ได้นานสักเท่าไร ถ้าเขาทนอยู่ไม่ได้ใครจะดูแลบ้าน ใครจะช่วยดูแลแม่ คนจากศูนย์ก็ต้องเปลี่ยนถ้ายังไม่ลงตัว

ความรู้สึกเศร้านั้น เป็นความเศร้าลึกข้างใน จากที่เคยเป็นคนสดใส ไปไหนมักถูกทักว่าดูมีความสุข ยิ้มได้ทั้งปากและตา
วันหนึ่งส่องกระจกพบหน้าหมองของตัวเอง โรคอัลไซเมอร์ของแม่เปลี่ยนฉันไปเป็นคนอมทุกข์เสียแล้ว
รู้สึกว่าต้องแก้ไขให้ได้ ทั้งเพื่อแม่และตัวเอง

ในเวลานั้นไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากใคร เป็นลูกคนเดียว เคยจัดการเรื่องต่าง ๆ ของครอบครัว และของแม่ โดยไม่ต้องให้ใครช่วยเหลือ ดูแลแม่ ดูแลตัวเอง ดูแลบ้าน จัดการอะไรได้ก็จัดการไป ระยะหลังจัดการไม่ค่อยได้ เหมือนไม่อยากทำอะไรเลย หมดเรี่ยวหมดแรง หมดพลัง ไม่ค่อยอยากพบปะใคร ฉันอยู่บ้านมากกว่าคนอื่น ลูกไปเรียน สามีก็ไปทำงาน ตลอดวันจึงรับรู้แต่ปัญหา ฉันไม่อ่อนโยนกับแม่ แล้วก็รู้สึกผิด หลังจากพยายามอยู่หลายปี รู้สึกว่าไม่มีทางออก ใช้เหตุผลอะไรกับแม่ก็ไม่ได้ เวลานั้นนึกไม่ออกว่าจะให้ใครช่วย แม่ก็ไม่ค่อยคบหาพี่น้อง เพื่อนฝูง ฉันเป็นลูกคนเดียว จึงรู้สึกเหมือนไม่รู้จะพึ่งใครช่วงเวลานั้น นับเป็นช่วงทุกข์ที่สุด แต่ยังโชคดีที่มีบ้านญาติ ๆ อยู่ในละแวกเดียวกัน หลาย ๆ หลัง ให้เดินไปมาหาสู่ ผ่อนคลายได้ โชคดีที่สุด คือ มีงานให้ทุ่มเททำตลอด 18 ปี ได้สนุกับงาน และได้ทำงานอิสระอยู่กับบ้าน

เวลาแห่งการปรับใจ

ฉันอยากเป็นคนสงบนิ่ง ยิ้มได้ และใจดีกว่านี้ ไม่อยากสั่นสะเทือนเพราะอาการของแม่ จะได้ใช้เวลาอยู่กับแม่ได้นาน ๆ แต่ก็ทำใจไม่ได้อยู่บ่อย ๆ แล้วก็รู้สึกผิด ซึ่งก็ทำให้รู้สึกทุกข์มากขึ้นไปกว่าเดิมอีก การรักษาแม่ในระยะแรก ๆ นั้นเมื่อแม่รับยาไปแล้ว มีผลข้างเคียง คือ เดินตัวแข็งทื่อท่าทางไม่ดี จนต้องปรึกษาหมอหลายท่าน เรียกว่าทั้งเปลี่ยนหมอ และเปลี่ยนยา จนกระทั่งได้พบกับคุณหมอสิรินทร คุณหมอถามฉันคล้ายล้อเล่นแต่ปนความจริงว่า จะรับยาอย่างที่ให้แม่บ้างไหม
คุณหมอมองเห็นความป่วยไข้ทางใจ เพราะคงดูออกว่าฉันหม่นหมอง อมทุกข์ คล้ายแม่
คุณหมอให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ ช่วยให้ได้ปรับมุมมองเกี่ยวกับแม่ ได้ฟังคุณหมอบรรยาย ได้อ่านหนังสือ ได้รับความช่วยเหลือ และข้อแนะนำจากคณะทำงานของคุณหมออ้อย ทำให้รู้สึกมีที่พึ่ง
หลังจากเก็บทุกข์ไว้คนเดียวเป็นเวลานาน เพราะคุ้นกับความเป็นอิสระ ในการจัดการอะไรต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อเริ่มหัดเล่าให้คนในครอบครัวฟัง ขอความช่วยเหลือ คุยกับญาติ ระบายกับเพื่อน ไม่เก็บเงียบไว้อีกต่อไปเหมือนเมื่อก่อน หลายอย่างเริ่มดีขึ้น
จากนั้นฉันจึงมาวิธีจัดการแก้ไขที่ตัวเอง ในเมื่อการแก้ไขที่ตัวแม่ ซึ่งป่วยและไม่รับรู้เหตุผลนั้น ยากที่จะเป็นไปได้ สองปีเศษมานี้ฉันเริ่มพยายาม ปฏิบัติธรรมทั้งที่บ้าน และไปปฏิบัติกับอาจารย์กลุ่มเดิม ที่ต่างจังหวัดเดือนละหนึ่งอาทิตย์เท่าที่ว่าง เน้นการพยายามเจริญสติ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ “รับมือ” กับการดูแลแม่ได้ดีขึ้น
กระทบแต่ไม่กระเทือน เป็นหลักการที่ช่วยใจตัวเองได้มาก และช่วยให้มองเห็นตัวความทุกข์โดยการพิจารณาแยกแยะเป็นทุกข์เพราะไม่รู้สึกเป็นใจแม่ เศร้าแทน ในความทรมานของแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์
เป็นทุกข์ในฐานะลูกที่เห็นอาการของแม่ทรุดลงและ “จากเป็น” ไปเรื่อยๆ

เป็นทุกข์เพราะรู้สึกผิด ที่ไม่สามารถทำทุกอย่างให้ดีที่สุดได้ ย้อนไปถึงในอดีตที่แก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันก็ดูเหมือนต้องปล่อยให้เป็นไป อนาคตนั้น คือ ความสูญเสียแน่นอน ได้คิดว่าทำแต่ละวันให้ดีที่สุด ดูแลใจให้ไม่กระเพื่อม แต่นิ่ง ใส สงบ อยู่ในความรัก เมตตา และรู้คุณ

ปัญหายังคงมีมาให้ตั้งรับทุก ๆ วัน เวลาไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไร ก็ใช้วิธีกอดแม่แน่น ๆ วันละหลายครั้ง แผ่เมตตาให้แม่ก่อนนอน ตื่นนอน และเมื่อมีสตินึกขึ้นได้ แม่ทำหน้าที่แม่ และครูสำหรับฉันเสมอ นับตั้งแต่ฉันเกิด จนถึงยามแม่เจ็บป่วยเช่นนี้

จึงหมั่นเตือนสติตัวเอง ให้ระลึกถึงพระคุณของแม่ ที่ตอนนี้ไม่รับรู้โลก ตามความเป็นจริง ลืมเลือนทุกคนทีละน้อย
แต่แม่ก็ยังเป็นผู้ให้ เหมือนมีส่วนผลักดัน ให้ฉันเร่งไปปฏิบัติธรรม ฝึกจิต ให้คิดถึงความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต ช่วยให้ฝึกใจยอมรับ ในความเป็นไปของโรค ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่ได้ และพยายามปรับปรุง แก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำทุกอย่างให้เต็มที่ เมื่อแม่จากไป จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลังว่าสายเกินไป
เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
ทุกข์ ของผู้เป็นที่รัก
ด้วยความที่พ่อมีพื้นนิสัยเป็นคนพูดน้อย และเป็นสุภาพบุรุษ จึงแทบไม่ได้เล่าปัญหาให้ลูกฟัง ...
โรคของแม่สอนให้ลูกเป็นคนดีขึ้น
ความเจ็บป่วยของแม่ สอนให้ผมเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อบทบาทของเรากลับกัน ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ประเด็นที่ต้องระวังในเรื่องการขับรถ
หลีกเลี่ยงอย่าเสี่ยงขับรถ ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดอาการหลงลืม ...
การเตรียมพื้นที่
ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอันตราย อย่าจัดบ้านใหม่หมด ...
6 ข้อควรระวังหนาวนี้
หน้าหนาวควรระวังสุขภาพของผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นพิเศษ ...
คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ
ผมมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผมเป็นน้องคนสุดท้อง ชีวิตของผมมีความสุขดี ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.