คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ

คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ
record_voice_over อ่านให้ฟัง
เรื่องเล่าจาก หนังสือวันวาน ณ ปัจจุบัน โดย สุรินทร์

     ผมมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผมเป็นน้องคนสุดท้อง ชีวิตของผมมีความสุขดี มาจนกระทั่งใกล้เวลาเกษียณอายุ ตอนเด็ก ๆ ผมสุขสบายมาตลอด เวลาหิวข้าวพี่คนหนึ่งก็จะหาข้าวหาปลาให้กิน กลับจากโรงเรียนถอดเสื้อผ้ากองไว้ พี่อีกคนหนึ่งก็จะเป็นคนเก็บไปซัก ตลอดชีวิตของผม ผมให้เวลากับการทำงานมาก จนอาจเรียกว่ามุ่งแต่เฉพาะงานเป็นหลัก ต้องการเวลาและการทุ่มเทมาก ทำงานบริหารคนมากกว่า 300 คน แบกรับความเครียดไว้ไม่ใช่น้อย การแข่งขันช่วงชิงและความกดดันสูง ทั้งหมดที่ว่ามานั้นเป็นสิ่งที่ผมยินดีต่อสู่ฝ่าฟันเพื่อเอาชนะได้   ถึงเหนื่อยก็ได้พัก ลำบากก็ยังสู้ไหว ในยามนั้นยังนึกภาพไม่ออกว่าจะมีงานใดที่ยากยิ่งไปกว่านี้
     เมื่อพ่อผมป่วยด้วยเส้นโลหิตแตกพร้อมกับพี่ชาย นอนคู่กันรักษาตัวในโรงพยาบาล พี่สาวคนรองของผม เป็นมือหนึ่งที่ยืนหยัดดูแลทุกคนในยามเจ็บป่วยมาตลอดหลายปี ผมในฐานะน้องคนเล็กทำหน้าที่รับปรึกษาและช่วยเหลือพี่ด้านการจัดการ พี่สาวโทรศัพท์มาบอกว่าน้องช่วยไปดูแลว่าต้องทำยังไง  เวลาเดียวกันนั้นลูกน้องผมยิงตัวตายในที่ทำงาน ชุลมุนกันทั้งสำนักงาน ตำรวจมาสอบสวนวันละ 4 – 5 คณะ จึงขอให้พี่สาวขอความช่วยเหลือพี่ชายอีกคนหนึ่งซึ่งฐานะดี พี่ชายบอกกลับมาว่าน้องเล็กเขาเก่งประสานงานให้เขาจัดการ พี่ชายอีกคนมีหน้าที่การงานดี เขาบอกพี่สาวว่า ผมกว้างขวางกว่าเขาให้ช่วยก็จะเรียบร้อยได้ ทุกคนให้ความไว้วางใจทั้งที่น้องชายคนเล็กกำลังจะเอาตัวไม่รอด
โชคชะตามาเยือน

เมื่อความเครียดบีบคั้นมากเข้า ผมกลับบ้านไม่ถูกนั่งรถเมล์มาที่อนุสาวรีย์ นึกไม่ออกว่าบ้านตัวเองอยู่ที่ไหน ผมได้แต่ท่องชื่อลูก 2 คน

ท่านอาจคิดว่าผมบ้า แต่ผมท่องชื่อลูกเพื่อเรียกสติตัวเอง ผมมานึกภายหลังว่า ก็คือ การภาวนาอย่างหนึ่งนั่นเอง เตือนสติให้ผมรู้ว่ามีภาระรับผิดชอบ
     ต้องรักษาสติไว้ให้ได้ ท่านที่พบกับปัญหาอย่าเพิ่งท้อแท้ ขนาดผมที่ไม่รู้ว่าจะกลับบ้านได้อย่างไร ยังยืนหยัดขึ้นมาจัดการปัญหาได้ ขณะนั้นตำแหน่งผู้อำนวยการกองว่างอยู่ ผมกำลังเป็น “ว่าที่” อายุน้อยที่สุด ถ้าผมเป็นบ้าไปคงเดือดร้อนทั้งครอบครัว รวมทั้งพี่ ๆ ผมจึงไม่เล่าให้ใครในที่ทำงานฟังว่า วันนั้นเกิดอะไรขึ้นกับผม
     พี่สาวคนนี้อยู่บ้านเดียวกับพ่อและพี่ ๆ อีก 2 คน เป็นคนรับหน้าที่หลักพยาบาลดูแลคุณพ่อ จนท่านจากไปเมื่ออายุ 90 ปี และขณะนี้ก็ยังดูแลพี่สาวคนที่ป่วยเป็นอัมพาต เพราะเส้นโลหิตในสมองแตก ซึ่งเกิดจากความเครียด เมื่อแม่ถึงแก่กรรมตั้งแต่ผมยังเล็ก ๆ ไม่รู้ความ และต้องดูแลพี่ชายอีกคนที่เส้นโลหิตสมองแตกและมีอาการสมองเสื่อม เหตุเพราะดื่มสุรามาร่วม 20 ปี พี่ดูแลทุกคนมาตลอดทำให้ได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำความสะอาดเวลาพ่อขับถ่าย พี่บอกผมว่าจะดูแลจนพี่ ๆ 2 คน จากไปก่อน แล้วตัวพี่เองจะตามเก็บการดูแลตัวเอง พี่สาวผมแข็งแรงมากจึงไม่ต้องห่วงสุขภาพของตัวเอง ผมบอกพี่ว่าเราเคยไปอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมมาแล้ว พี่ก็อายุมากแล้วจะประมาทไม่ได้
     แล้วเรื่องที่ผมสังหรณ์ใจก็เกิดขึ้นจนได้ หลังจากนั้นไม่กี่เดือน พี่โทรศัพท์มาบอกว่าน้ำหนักลด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ผมก็ไปเยี่ยม และอีกไม่กี่วันก็ไปเยี่ยมอีกรอบ เห็นมีเชือกวางอยู่ข้าง ๆ ตัว  ถามว่าเอาเชือกมาไว้ตรงนี้พี่จะทำอะไร พี่บอกผมว่าเอาไว้ผูกคอ ผมตกใจมาก เพียงไม่กี่วัน ทำไมพี่เปลี่ยนไปมากอย่างนี้ พี่บอกว่าคิดอย่างนี้มาราวปีแล้ว และยังเล่าให้ฟังอีกว่าไม่กี่วันก่อน พี่ไปขึ้นรถไฟฟ้า แล้วคิดอยากจะกระโดด แต่มีคนช่วยดึงไว้ ผมถามพี่ว่าทำไมทำอย่างนั้น พี่ไม่ห่วงพี่อีกสองคน ไม่ห่วงผมหรือ พี่บอกว่าห่วงที่สุด ถ้าไม่ห่วงก็จะไม่ดูแลอยู่อย่างนี้ แต่พี่เป็นอะไรก็ไม่รู้ มันกระวนกระวายบอกไม่ถูก พี่ยอมแพ้แล้วชีวิตนี้ไม่สู้อีกต่อไปแล้ว
     ปัญหามาเร็วเกิดคาด ถึงแม้ว่าผมเตรียมตัวไว้บ้างแล้ว แต่พอถึงเวลาเข้าจริงก็บอกกับตัวเองว่า
เหมือนเผชิญระเบิดเวลาลูกใหญ่ ไม่เคยทราบว่าจะปลดชนวนอย่างไร ปลดตรงไหนก่อน ผมพยายามเรียกสติคืนมา
 ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการ แต่คนนอกไม่ใช่ญาติปัญหาต่างกัน ทางแก้ก็ต่างกัน ในการทำงานใครมาขอคำแนะนำผมก็หาทางออกแนะนำให้เขาได้ บริหารคนอื่น 200 – 300 คน เรายังทำได้ แต่เมื่อปัญหาเกิดกับคนในครอบครัวผมเอง เกิดกับพี่สาวที่ผมรักมาก ผมนอนไม่หลับเลยได้แต่ภาวนาว่า พี่อย่าฆ่าตัวตาย
     เมื่อทุกข์มาบีบคล้ายกับว่ามีทางสองแพร่งให้เราเลือก ถ้าเรามีบุญ ทุกข์ก็จะบีบให้เราไปหาทางธรรมะ ถ้าบุญน้อย ทุกข์ก็จะบีบเราไปทางอบายมุขบ้าง หรือคิดสั้นหนีปัญหาบ้าง อาจเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตน แต่ถ้าทำบุญเอาไว้
เราก็จะเกิดสติ ทั้งพี่และทั้งตัวเอง

     ผมนึกถึงภาพว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดถึงพรุ่งนี้ก็แย่แล้ว อย่าเพิ่งไปคิดไกลดีกว่า เมื่อคิดตกผมตัดทั้งอดีตและอนาคตทิ้งไปทันที ขอเอาเฉพาะปัจจุบันให้รอดก่อน
อย่าเพิ่งไปคิดไกลดีกว่า เมื่อคิดตกผมตัดทั้งอดีตและอนาคตทิ้งไปทันที ขอเอาเฉพาะปัจจุบันให้รอดก่อน
     วันรุ่งขึ้นผมจึงพาพี่ไปโรงพยาบาลหมอให้ยากลับไปกินที่บ้าน 2 อาทิตย์ อาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบพาไปใหม่ ระหว่างนั่งแท็กซี่มาด้วยกันพี่สาวผมจะเปิดประตูรถกระโดดออกไปข้างนอก ต้องล็อกตัวกันไว้ตลอด บอกคุณหมอว่าพี่มีอาการขนาดนี้ คุณหมอว่าสงสัยอาการหนักเสียแล้ว ต้องขอให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ระหว่างที่รอคุณหมอพี่สาวบอกว่าขอขึ้นไปชั้นบนหน่อย วิวสวยมาก เรารู้ท่าว่าพี่อาจจะไปกระโดดตึก จึงบอกว่ารอไปด้วยกัน และคอยตามใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา วันนั้นบังเอิญโชคดีมาก ปกติโรงพยาบาลรัฐแทบจะหาเตียงว่างไม่ได้ พอดีมีคนไข้ออก เตียงจึงว่าง ผมจึงกลับบ้านมานอนหลับได้ เพราะจัดการดูแลให้พี่สาวปลอดภัยในความดูแลของหมอและพยาบาลแล้ว เมื่อตรวจสุขภาพของพี่ที่เราเคยเชื่อกันว่าร่างกายพี่แข็งแรงดีนั้นไม่ใช่ความจริงเสียแล้ว พอตรวจครบทุกอย่างนอกจากคุณหมอจะวินิจฉัยว่าพี่เป็นโรคจิตซึมเศร้าประเภทต้องการทำร้ายตัวเอง และมีอาการสมองเสื่อมแล้ว พี่ยังเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และตรวจพบมะเร็งเต้านม เรียกว่ารวมโรคสำคัญๆ ไว้ในตัว เราก็ทุกข์มาก คิดไปถึงการดูแลพี่ถ้ารักษาอาการทางจิตออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับบ้านไปใครจะเป็นคนดูแล แล้วยังมีพี่อีก 2 คน ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รออยู่ที่บ้านเมื่อรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนั้น พี่โทรศัพท์มาคร่ำครวญทุกคืนผมผวาทุกทีเมื่อได้ยินเสียงโทรศัพท์ ผมทั้งรักและเป็นห่วงมากผมไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลทุกวันร่วม 2 เดือน คุณหมอวัดความดันพี่สาว 170/90 พอมาวัดผมบ้างสูงถึง 180 สูงกว่าพี่เสียอีก คงเป็นเพราะความเครียด ความทุ่มเทสุดตัวด้วยความรักความเป็นห่วงพี่สาว โชคดีที่ผมมีโอกาสได้วัดความดันโลหิต ถึงรู้ว่าสูงมากแล้ว คุณหมอบอกว่าถ้าขึ้นสูงกว่านี้เส้นเลือดแตกได้เพราะผมเองก็อายุมากแล้ว หมอช่วยประคองมา 20 ปี ถ้าเส้นเลือดแตกหมอคงเสียใจแย่ เมื่อรู้อย่างนั้นผมาจึงบอกกับพี่ว่า พี่ครับวันนี้ผมขออนุญาตกลับเร็วกว่าทุกวัน ถึงพี่จะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง ก็ขอลาแล้วผมกลับบ้านไปทำใจอยู่ 3 วัน  คิดว่าเราจะตั้งหลักอย่างไร จะจัดการดูแลพี่ๆ ทุกคนอย่างไร 
เมื่อน้องเล็กดูแลพี่ ๆ สามคน

     ผมมาคิดดูว่า ผมยังทำงานรับราชการอยู่และต้องดูแลครอบครัวด้วย คงจะดูแลพี่ ๆ ทั้ง 3 คนด้วยตัวเองไม่ได้แน่ จึงต้องพาพี่สาวที่เป็นอัมพาตไปไว้ที่เนิร์สซิ่งโฮมย่านพุทธมณฑล พี่ชายถึงแม้จะยังพอช่วยตัวเอง แต่หาอาหารเองไม่ได้ ยังพอให้อยู่บ้านได้ ก็อยู่บ้านไปก่อน ผมมีหน้าที่ซื้ออาหาร 3 มื้อ ขึ้นรถไปส่งข้าวส่งน้ำ แล้วก็เดินทางมาเยี่ยมพี่สาวคนรองที่โรงพยาบาล วิ่งไปวิ่งมา 3 แห่งอย่างนี้ร่วม 2 เดือน บุญนักหนาที่เราไม่ไปก่อนท่าน
     เมื่อพี่สาวผ่าตัดมะเร็งแล้ว รักษาจิตซึมเศร้าและสมองเสื่อม ถึงเวลาต้องออกจากโรงพยาบาลจะอยู่บ้านได้อย่างไร นักสังคมสงเคราะห์ คุณหมอและพยาบาลทุกท่าน บอกว่าหนักใจแทน ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร และแนะให้ดำเนินการอย่างที่คิดไว้แต่แรก ผมกลับมาคิดได้ว่าจริงสินะ ทุกข์ของเราจะไปให้คนอื่นแกะได้อย่างไร ใครจะมาแกะทุกข์ในใจของเราได้ เพราะเป็นเรื่องนามธรรม หมอช่วยความเจ็บป่วยกายแล้วจะให้มาแกะทุกข์ของเราอีก
     ผมได้คิดว่าจะให้แกะทุกข์ได้ต้องหาธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงตั้งหลักว่าจะไปนั่งสมาธิกรรมฐาน เพราะเคยไปเข้าอบรมมาเมื่อ 4 ปีก่อน เวลาผ่านไปก็ลืมแล้วเพราะชีวิตสบาย
ความสุขทำให้เราประมาท แต่ความลำบากและความทุกข์ให้สติปัญญาแล้วสอนเราให้บทเรียนเรา เจ็บปวดแต่คุ้มค่า จึงเกิดปัญญาขึ้นมา ว่าถ้าเราจะดูแลต้องดูให้ดีที่สุดและต้องทำด้วยวิธีที่เราเองสามารถทำได้
     ผมนึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนลงในหนังสือว่า “เสียดายโอกาส” ขนาดดร.ป๋วย เป็นคณบดี เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านถึงพร้อมหมดแล้ว ยังนึกถึงการเสียดายโอกาส ข้อเขียนของท่านเล่าว่า
     ในชีวิตท่านไม่เคยเสียใจอะไรมาก แต่ท่านเสียใจมาก ครั้งหนึ่งที่เตี่ยของท่านป่วย โดยที่ท่านไม่รู้
     พ่อท่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ไม่พูดมาก เป็นคนอดทน ไม่เคยบ่นเรื่องความลำบากให้ลูกฟัง ตอนนั้นท่านอายุ 18 ปี เรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนอัสสัมชัญด้วยในเวลาเดียวกัน วันนั้นพ่อตื่นสายบอกว่าอยากกินโจ๊ก พูดเท่านั้น ดร.ป๋วย ห่วงการเรียนเลยอิดออด ถึงจะไปซื้อให้แต่ก็ไปอย่างเสียไม่ได้
     ตกเย็นหลังจากไปเรียนและไปสอน
     กลับมาพ่อยังนอนอยู่บนเตียง
     เข้าไปจับตัวจึงทราบว่าสิ้นลมไปแล้ว
     ท่านบอกว่าเสียใจที่สุดว่าพ่อไม่เคยกวนอะไรเรา แต่อยากให้เราได้ทำความดีครั้งยิ่งใหญ่ ท่านเสียใจมาก ท่านเขียนบอกนักศึกษาทั้งหลายว่าถ้ามีโอกาสให้ตอบแทนพ่อแม่ผู้มีพระคุณหรือพี่น้องแล้วจะไม่นึกเสียใจเหมือนอาจารย์ ผมก็จำคำของท่านไว้ตั้งแต่ได้อ่านข้อเขียนชิ้นนั้นของท่าน
เรื่องที่ต้องตัดสินใจ

     ผมไปติดต่อสถานสงเคราะห์ของทางราชการ เห็นมีตึกแยกระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ถ้าใครมีสตางค์หน่อยก็มีบ้านเป็นหลังให้อยู่ ไม่ว่าเราจะเลือกสถานที่ดูแลแห่งไหน อย่างไรเราก็ต้องไปดูสถานที่เอง ถึงจะเห็นได้ว่าเหมาะสมตามความต้องการของเราหรือไม่ ผมได้ประสบการณ์ด้วยตัวเองว่าแต่ละปัญหาไม่เหมือนกัน พี่สาวคนที่รักษาจิตเวชแล้ว ต่อจากนั้นจะให้อยู่บ้านหรือเนิร์สซิ่งโฮมก็เป็นปัญหาแล้ว อยู่บ้านเหมือนไม่มีรายจ่าย แต่อยู่บ้านท่านช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราต้องหาคนดูแล ถ้าดูแลไม่ดี พี่เดินออกจากบ้านหายไปเราจะทำอย่างไร ผมปรึกษาคุณหมอ 3 คน แต่ละคนก็ให้ข้อดีว่าอยู่เนิร์สซิ่งโฮมก็ดี มีคนดูแลแน่นอน อยู่บ้านก็อบอุ่นแต่ในที่สุดเราก็ต้องตัดสินใจเองเพราะเราเป็นคนรู้ข้อมูลมากกว่าคนอื่น
     ผมไม่อยากคิดไปไกลมาก เราดูแลเฉพาะวันต่อวัน วันนี้ได้แค่นี้ก็ทำไปก่อน พี่สาวคนโตของผมท่านจิตนิ่งไม่หวั่นไหว ส่งไปอยู่เนิร์สซิ่งโฮมแล้วผมไม่ได้ไปเยี่ยมนาน พบหน้าผมท่านไม่เคยต่อว่า ผมถือว่าเป็นเรื่องเบาใจไปได้บ้าง ส่วนพี่ชายก็เป็นเรื่องเบาเพราะท่านปรับตัวได้แล้ว ส่วนพี่สาวคนรองคุณหมอด้านจิตเวชเตือนว่าคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะเสื่อมลงทุกวัน ปัญหาจะหนักกว่าพี่คนอื่น ๆ เจ้าหน้าที่บอกว่าพี่ร้องจะกลับบ้านทุกวัน ผมไปเยี่ยมครั้งใด พี่จะถามว่าเมื่อไรน้องจะให้พี่กลับไปอยู่บ้าน พี่ไม่รบกวนเงินน้องมากขอเดือนละ 3,000 บาทเท่านั้น ผมหาคำตอบให้พี่ได้ยากมาก เพราะสงสารพี่มาก
     เมื่อพาพี่สาวคนนี้ไปอยู่ที่เนิร์สซิ่งโฮม วันแรกท่านเดินออกมาจากบ้านพักครึ่งทางจะถึงประตูรั้วแล้ว เจ้าหน้าที่ช่วยพากลับมาหลายหน ถ้าผมให้พี่อยู่บ้านแล้วท่านหายไปเราคงเสียใจมาก ยังต้องห่วงกังวลอีกว่าถ้าท่านทำร้ายตัวเอง เราจะทำยังไง ที่สถานดูแลยังมีพี่เลี้ยงตามประกบ ผมเองก็ได้ไปสร้างแนวร่วมไว้มาก พูดคุยกับผู้สูงอายุท่านอื่นที่อยู่ที่นั่นแทบทุกคน จึงมีแนวร่วมคอยเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลพี่ผมให้ได้ ครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมพี่สาว พาพี่ออกมาเดินเล่นนอกห้อง คุณยายคนหนึ่งกำลังพับผ้าอยู่รีบวิ่งมาหาถามผมว่าคุณเป็นใคร มาพาพี่ไปไหน คุณยายจำผมไม่ได้ว่าเป็นน้องชาย ผมขอบคุณความห่วงใยของคุณยาย และเบาใจว่าที่นี่มีความปลอดภัย มีคนคอยเป็นหูเป็นตา แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาให้เก็บมาคิดอีกหลายอย่าง ผมห่วงว่าถ้าหากพี่ผมต้องไปเสียที่นั่น ไม่ได้อยู่ที่บ้าน คิดแล้วอดสงสารพี่ไม่ได้ ก็กลัดกลุ้มกับเรื่องนี้อีกคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เวลานี้จึงยังไม่อยากคิด
     เมื่อมาคิดว่าความเหมาะสมในการดูแลไม่มีคำตอบตายตัว ถ้าอยู่บ้านไม่ปลอดภัย ฝากสถานดูแลไว้ก็น่าจะดีที่สุด ถ้าพี่อยากกลับบ้านแต่ไม่มีคนดูแล อยู่บ้านก็จะมีความเสี่ยงสูง ถ้าบ้านเรามีคนดูแล อยู่บ้านอบอุ่น ดูแลง่ายไม่เป็นอะไรมาก อยู่บ้านก็ย่อมดีที่สุดสำหรับพี่ ผมเข้าใจดีว่าคนอายุมากแล้วไม่อยากไปอยู่ที่ไหนนอกจากบ้าน แต่ถ้าเราตัดสินใจด้วยความรู้ตัวว่าเราทำอะไร เพราะอะไร ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้วผมใช้หลักการตัดสินใจวิธีหนึ่งที่ใช้มาตลอดชีวิตการทำงาน ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า ทำอะไรต้องใช้สติปัญญา อย่าใช้โลภ โกรธ หลง ตอนตัดสินใจว่าจะเลือกเส้นทางไหน อย่าใช้ความอยาก แต่ให้ทำตอนจิตว่างจากกิเลสและความทุกข์ แล้วจะตัดสินใจได้ดี
ผมค่อยมาคิดออกว่าในเรื่องสำคัญๆ เราต้องมีสติ สตินั้นพูดง่ายแต่ทำยาก
     สติโดยธรรมชาติมาไม่ท้น เมื่อพบเหตุการณ์บีบคั้นตรงหน้าทำให้เราหลง พอตื่นเต้นตกใจ ก็อาจตัดสินใจพลาดเราต้องมีปัญญาด้วย ถ้าเรามีสติ แต่ปัญญาไม่มี เราไม่มีข้อมูล เราจะไม่รอบรู้ว่าเราควรจะทำอย่างไร สติก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ดึงปัญญามาช่วย จึงจะตัดสินใจได้
ในความเคราะห์ร้าย ยังมีโชคดี

     ระหว่างที่พี่ป่วย ผมมีเวลาว่างเมื่อไรก็จะไปสืบตามสถานที่ดูแลผู้สูงอายุทุกแห่งทั้งเนิร์สซิ่งโฮม สถานที่ดูแล ผมดูจากสภาพตัวเองแล้วรู้ตัวว่าเราคนเดียวไม่สามารถดูแลทั้ง 3 คน ได้เพราะเป็นภาระที่หนัก เราออกไปดูเพื่อหาความรู้ ดูสถานที่ในกรุงเทพฯ หรือใกล้บ้านเพื่อจะได้เดินทางไปเยี่ยมสะดวก
     ผมต้องตั้งรับและปรับเปลี่ยนชีวิตเมื่อต้องส่งพี่ๆ ไปอยู่ เนิร์สซิ่งโฮม มาคิดดูแล้วว่าถ้าฝากพี่ๆ ทุกคนไว้กับเนิร์สซิ่งโฮม เงินไม่พอใช้จ่ายแน่นอน เงินก้อนที่ผมได้มาหลังเกษียณลดลงเร็วมาก สวนทางกับความดันโลหิตของผม เงินหมดยังไม่เท่าไหร แต่ถ้าหมดแล้วพี่เราจะเป็นอย่างไร ปัญหาการเงินเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังกดดันเราอยู่
     พี่สาวที่กำลังรักษาตัวอยู่แผนกผู้ป่วยจิตเวชเป็นคนกลัวความจนที่สุด ระหว่างที่ท่านยังพูดคุยรู้เรื่องทุกอย่าง ท่านถามอยู่ตลอดเวลาว่าเบิกได้หรือเปล่า บอกไปว่าเบิกได้ก็ไม่เชื่อ คุณหมอมาช่วยพูดก็ไม่เชื่อ หาหลักฐานมาให้ดูก็ยังไม่เชื่อ กังวลถึงเรื่องเบิกไม่ได้ตลอดเวลา พี่มีปัญหาซึมเศร้าและเป็น    อัลไซเมอร์ด้วย เวลานั้นพี่ลืมเรื่องต่างๆ ไปบางเรื่องแล้ว  แต่อย่างไรก็ยังรู้เรื่องทุกอย่าง พูดคุยกันได้ปกติแล้วเรื่องที่ไม่เคยลืม คือ เรื่องเงิน พี่บอกผมว่าเราต้องคุยกัน ถ้าพี่พูดไม่ได้น้องจะเสียใจ
     พี่ไม่เคยบอกผมเลยว่าความจำเรื่องเงินของท่านดีมาก ปล่อยให้เราหลงคุ้ยหาว่าสมบัติของท่านอยู่ที่ไหน เพื่อจะได้เก็บไว้รักษาตัวต่อไป ระหว่างที่ท่านมาป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล  วันหนึ่งบอกผมว่าให้พาพี่ออกไปวันนี้เดี๋ยวนี้ ขอร้องครั้งเดียว ในชีวิต เราออกไปทำธุระด้วยกัน ไม่งั้นน้องหมดตัวแน่ ผมฟังแล้วเห็นเป็นเรื่องตลก พี่สาวบอกว่าน้องไปเปิดตู้ตรงนั้นดู ผมจึงพบทรัพย์สินที่พี่เก็บมาทั้งชีวิต
     ผมได้เงินส่วนนี้ใช้จ่ายเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลท่านต่อไป คลายเครียดเราไปได้เปราะหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังอุ่นใจว่ามีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพี่ให้อยู่สบาย มีคนช่วยดูแลที่เหมาะสม
ดูแลตัวเองเพื่อดูแลคนอื่น

     ก่อนหน้าที่พี่สาวคนรองจะล้มป่วยลง ผมเองก็ต้องพึ่งพาจิตแพทย์เพราะความเครียดในหน้าที่การงาน ผมเคยปรึกษาคุณหมอว่าจะทำอย่างไรดี ถ้าผมไม่ได้ตำแหน่งต้องลำบากแน่นอน คุณหมอบอกว่าคุณจะรักษาตัวหรือจะเอาตำแหน่ง หายใจเข้าออกเป็นตำแหน่ง ผมบอกว่าลูกคนไทยเชื้อสายจีนอย่างผมเมื่อเป็นข้าราชการก็อยากได้ยศ ผมก็รู้ตัวดีว่าเป็น คนบ้ายศบ้าตำแหน่ง หมอบอกกับผมว่าเวลามาคุยกับหมอทีไร มีแต่เรื่องการต่อสู้ในหน้าที่การงานทั้งนั้น ต่อสู้ในการช่วงชิงตำแหน่ง แล้วไม่เห็นมีเรื่องอย่างอื่นเลย คุณหมอให้ยาคลายเครียดมา รักษาอยู่ 3 ปี ระหว่างนั้นก็ยังต้องแก้ปัญหาหน่วยงานและเป็นปัญหาครอบครัว ในขณะที่เราเป็นคนไข้จิตเวชด้วย เราเองยังเอาตัวไม่รอดแล้วยังต้องดูแลคนอื่นเรื่องอื่นอีก
     เมื่อครบ 3 ปี และผมได้ตำแหน่งผู้อำนวยการกอง โรคก็ยังไม่หายคุณหมอแนะนำว่ายาคลายเครียดกินมา 3 ปีไม่ดีขึ้น ถ้ากินต่อไปจะติดยา หมอเห็นว่าควรพอเรื่องยาเสียที ผมถามว่าแล้วผมหายหรือเปล่า หมอบอกว่าหายไม่หายขึ้นอยู่กับคุณเอง ไม่มียาไหนรักษาให้หาย หมอบอกทำดีที่สุดแล้ว
     คุณจะไปวิ่งเอาตำแหน่ง หมอไม่เกี่ยวแล้ว หมอให้ธรรมะกับผมเรื่อง “กิน กาม เกียรติ” ผมคิดว่าอย่างหลังหนักที่สุด บางคนถึงกับยอมตาย ผมก็ไปหลงติดอยู่กับเกียรติยศอยู่เป็นเวลานานหลายปี เมื่อเลิกแล้วผมกลับมาหาครอบครัวมากขึ้น ได้ดูแลใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม ปัญหาสุขภาพของผม คือ โรคความดันโลหิตสูง เวลาเครียดความดันของผมจะสูงขึ้น 180/100 คุณหมอแนะนำให้ซื้ออุปกรณ์วัดความดัน ก็อิดออด คิดว่าเก็บเงินไว้ดีกว่า แต่ก็ยอมซื้อมาเพื่อดูแลตัวเอง หมั่นออกกำลังเพิ่ม ทุกวันนี้วัดความดันแล้วประคองจนลดลงเหลือ 120/70 หัวใจเต้น 60 ครั้งต่อนาที
ผมมาคิดทบทวนว่าเราจะดูแลพี่ๆ ได้ดีหรือไม่ อยู่ที่เราดูแลตัวเอง ถ้าเราดูแลตัวเองให้ดีไม่ได้ สุขภาพย่ำแย่ จิตใจตก การดูแลผู้ที่ป่วยไข้ก็จะไม่ดีเท่าที่ควร
     เหมือนตัวเราเป็นคนไม่แข็งแรง แล้วไปช่วยคนตกน้ำก็คงจะจมน้ำไปพร้อมกันทั้งสองคน ผมเคยชอบอาหารรสหวานมาก เค็มมาก มันมาก เคยตามใจตัวเราเองมามาก ต้องขอทวนกระแสเพื่อถนอมชีวิตของเราที่เหลืออันน้อยนิด มาสางสิ่งที่ตกค้างอยู่ ดูแลพี่ทุกคนให้ตลอดรอดฝั่งเพราะว่าชีวิตพี่นั้นฝากไว้ที่เรา
คนที่ทุกข์กว่าเรายังมี

     พี่ ๆ ทั้งสามของผมเวลานี้อยู่ในสถานที่สงเคราะห์แห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสถานสงเคราะห์ของทางราชการที่ดี เพราะริเริ่มก่อตั้งโดยสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน ท่านสร้างไว้เนื่องจากท่านประชวรในโรงพยาบาล ท่านทรงคิดว่าแม้เป็นพระสังฆราช ยามเจ็บป่วยยังลำบาก คนสูงอายุทั่วไปเจ็บป่วยจะยิ่งลำบากกว่า
     ท่านจึงสร้างสถานสงเคราะห์ขึ้นมาเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน ผมไปเยี่ยมพี่ ๆ สม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่พยาบาลถามว่า ผมเป็นลูกของคนไหน เจ้าหน้าที่บอกกับผมว่าคนที่อยู่ที่นี่แม้แต่เป็นลูก เป็นพ่อแม่ ยังไม่มาเยี่ยมเลย ยิ่งเป็นพี่เป็นน้องยิ่งไม่มา ผมบอกว่าเรามีความผูกพันกันมาก เขายังบอกกับผมอีกว่า ผูกพันยังไงก็ไม่มา ตอนพี่สาวคนโตป่วยอยู่โรงพยาบาลใกล้ๆ บ้าน คุณพยาบาลยังสงสัยว่าทำไมไปเยี่ยมบ่อย แถมล้อผมเล่นว่า สงสัยพี่สาวคงมีมรดกมาก ผมบอกคุณพยาบาลว่าผมมีพี่น้องหลายคน ถ้ามรดกมากคงจะไม่ต้องปล่อยให้เป็นภาระพวกคุณมาช่วยดูแล
ผมไม่ได้เป็นคนเดียวหรอกครับที่มีภาระดูแลคนเจ็บป่วย คนที่เรารู้จักแต่ไม่เคยพูดคุยซักถาม ก็มีคนเจ็บคนป่วยในครอบครัวที่ต้องดูแลเช่นเดียวกับผม
     ผมเป็นคนคุยกับคนอื่นง่าย ระหว่างไปเยี่ยมพี่ๆ ก็คุ้นเคยกับคุณพยาบาลหลายคนได้พูดคุยกับเขา ลองถามว่าเขาต้องดูแลใครหรือเปล่า คุณพยาบาลบอกว่าพูดแทงใจดำ เดี๋ยวเลิกงานก็จะไปเยี่ยมคุณแม่ที่อัมพฤกษ์ อีกคนหนึ่งดูแลคนในครอบครัวที่เป็นอัมพาต อีกคนมีบุพการีเป็นมะเร็ง ฉะนั้นคนอื่นที่ทุกข์กว่าเราก็มี ตอนแรกเรามองคนอื่นอย่างผิวเผินก็เข้าใจว่าชีวิตของเราลำบากเหลือเกิน คร่ำครวญอยู่แต่ว่าเราตายแน่ ที่จริงนั้นคนลำบากกว่าเรามีอีกมาก ฐานะการเงินของบางคนก็ไม่ดี เขาลำบากกว่าเราหลายเท่า เพียงแต่เราไม่ได้ไปตามดูเขา เราจึงไม่รู้เท่านั้นเอง เพราะเรื่องความทุกข์ไม่มีใครอยากเล่าให้ใครฟัง
ผมเคยเป็นทุกข์เพราะผมคิดวนเวียนอยู่กับคำๆ หนึ่งว่า “ทำไมต้องเป็นเรา” คำถามนี้เกาะกินใจผมมาตลอดเวลา
      ผมเฝ้าคิดแต่ว่าผมเป็นลูกคนเล็กนะ มีภรรยา มีลูก 2 คน เราอายุ 64 ปี เกษียณแล้วน่าจะสบาย ทำไมพี่ๆ คนอื่นไม่มาช่วยเราบ้าง ผมพยายามเตือนตัวเองว่าอย่าคิดมาก ถ้าคิดมากอาจต้องเข้าจิตเวชอีกคน พี่ ๆ ของเราจะลำบากยิ่งขึ้น หากจะว่าไปปัญญานั้นก็เหมือนเรามีเงินสดอยู่ในกระเป๋าพร้อมใช้ แต่ถ้าใช้ปัญญาเหมือนมีเงินอยู่ในธนาคารก็ต้องคิดเตรียมไว้ก่อนเหตุการณ์จะเกิด แต่ที่เราป้องกันไม่ทันเพราะความทุกข์เข้ามาบีบคั้น ยิ่งเรายึดมั่นมากเรายิ่งพลาดง่าย แต่จะให้เราปล่อยวางทันทีคงจะทำไม่ได้ เราจึงต้องฝึกสติไว้ก่อน
     คนอื่นอาจจะบอกว่าพูดง่ายกว่าทำ แล้วจะทำอย่างไร 
ผมเห็นว่าเราต้องพักปัญหา พักสิ่งที่กลัว หรือความกังวลก่อน ต้องมาติดอาวุธทางปัญญาก่อน ผิดตรงไหนแก้ตรงจุดนั้น
     ผมผิดที่ผมโทษตัวเองในวันที่ยังทำงานอยู่ ว่าเรามัวแต่สนใจเรื่องตำแหน่งงานของเรา จนไมได้ดูแลพี่ให้ดี ปล่อยให้ท่านสมองเสื่อมไป ความรู้สึกทุกข์ใจของแม่ ใครจะมาช่วยคลี่คลายให้ก็คงจะไม่ได้
พักปัญหามองที่ สติ และปัญญา

     เมื่อผมเงยหน้าขึ้นจากการเฝ้ามองเฉพาะปัญหาของตัวเอง มองดูความทุกข์ของคนอื่นบ้าง ก็รู้สึกว่าเราไม่ควรจะคร่ำครวญอยู่กับตัวเองตลอดเวลา คุณหมอที่ให้คำปรึกษาผมนั้นก็มีญาติผู้ใหญ่เป็นสมองเสื่อม ท่านเองยังไม่สามารถรอดพันจากความทุกข์ ผมอยู่บ้านหรือไปเข้าอบรมนั่งสมาธิ ก็ยังทำใจไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังคุณหมอพูดแล้ว ผมสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ที่แบกเอาไว้ได้ ไม่มีใครแบกรับความทุกข์อยู่เพียงคนเดียวในโลก ทุกคนเขาก็ต้องเผชิญทุกข์เช่นเดียวกัน การที่ผมได้ฟังคำพูดดี ๆ จากผู้ใหญ่ ได้อ่านหนังสือที่คอยช่วยเตือนสติ ไม่ว่าเราจะได้ยินหรือได้อ่านมานานแค่ไหนแล้วก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นจะยังฝังลึกอยู่ข้างใน
วันหนึ่งที่เราต้องเผชิญกับเรื่องร้ายหรือหมดกำลังใจ คำดี ๆ เหล่านั้นจะเป็นแสงสว่างนำทาง ให้เราก้าวไปอย่างมีสติมีพลังและมีปัญญา
     ผู้ที่เป็นกำลังใจให้ผม ก็คือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ที่ผมติดต่อด้วย ผมประทับใจทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแลพี่ของผมในสถานดูแลผู้สูงอายุ ทุกคนให้ทั้งคำแนะนำ ความช่วยเหลือ และดูแลพี่ผมอย่างดี ผมจึงนำความประทับใจนั้นมาเป็นพลังในการต่อสู้ เพื่อดูแลพี่ๆ ต่อไป
     พวกเขาเคยถามว่า ผมคิดอย่างไร
     ผมตอบไปว่า
     ชีวิตให้โอกาสผมได้ดูแล
     พี่ที่ผมรักมาก ผมก็จะทำให้ดีที่สุด
เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
ครอบครัว คือยารักษาใจ
คุณแม่ของผมเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2492 ท่านเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถสูงคนหนึ่ง ...
มากกว่ารักคือเข้าใจ
การมีผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน กระทบทุกคนในครอบครัว บางครอบครัวที่ขาดความเข้าใจ ทะเลาะกับผู้ป่วยบ้าง ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
หกล้มอันตรายกว่าที่คิด
อายุ 65 ปี+ เสี่ยงหกล้ม 28-35% อายุ 70 ปี+ เสี่ยงหกล้ม ...
ออกกำลังกายเพื่อพัฒนาการทรงตัว
เช่น โยคะ ไทชิ ฝึกการทรงตัว ฝึกเดินต่อเท้า เป็นต้น ...
น้ำ สารอาหารที่ร่ายกายขาดไม่ได้
น้ำ คือ สารอาหารตัวที่ 6 มีแทรกอยู่ในอาหารทั้ง 5 หมู่ นอกจากนี้ ...
นิยามผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะ 1/2/3
อาการของภาวะสมองเสื่อม 3 ระยะ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.