ปรับตัวปรับใจดูแลแม่สมองเสื่อม

12 August 2024
 ปรับตัวปรับใจดูแลแม่สมองเสื่อม
เมื่อแม่เริ่มมีอาการหลงลืม บางอย่างดูแปลกไปจากเดิม หลังจากพาไปตรวจ คุณหมอวินิจฉัยว่าแม่เป็นสมองเสื่อม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปรับตัวปรับใจสำหรับคนเป็นลูกในการดูแลและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยสมองเสื่อม

จะอยู่อย่างไรให้แม่ได้รับการดูแลอย่างดีมีความสุข ในขณะเดียวกันลูกในบทบาทผู้ดูแลที่เพิ่มขึ้นมายังคงรักษาความสุขและดูแลชีวิตของตัวเองไปพร้อม ๆ กันโดยไม่หนักหน่วงจนเกินกำลัง  
10 เคล็ดลับปรับทั้งตัวปรับทั้งใจ

1. ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในตัวแม่ แม่อาจเริ่มต้นจำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ นานไปอาจจำลูกไม่ได้ บุคลิกหรือพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม ค่อย ๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

2. ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม จากข้อมูลออนไลน์ที่เชื่อถือได้ หรือหนังสือ  

3. สร้างความมั่นใจในตัวเองว่าเราสามารถดูแลแม่ได้ ส่วนใดที่ขาดไปอาจขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น 

4. เมื่อมีปัญหาอย่าจมอยู่กับความทุกข์ ขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจาก แพทย์ พยาบาล ญาติพี่น้อง กลุ่มผู้ดูแล หรือเพื่อนที่ต้องดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จะพบว่าหลายปัญหามีทางออกและมีผู้ผ่านประสบการณ์เดียวกันสามารถแก้ปัญหาได้

5. โดยรวมแล้วแม่ควรได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการกระตุ้นให้ช่วยเหลือตัวเองเท่าที่สามารถทำได้ในช่วงเวลานั้น ส่วนลูกควรรู้จักยืดหยุ่น ไม่ต้องกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือพยายามให้ได้ผลดีที่สุดอยู่ตลอดเวลา ลดรายละเอียดจุกจิกลงไปบ้าง  

6. ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายไปด้วยกัน จะช่วยให้รู้สึกว่าไม่เป็นงานหรือภาระหน้าที่แต่เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่มีร่วมกัน เช่น ชวนออกกำลังกาย ชวนกันร้องเพลง ปลูกต้นไม้ ทำอาหารหรือขนม ทำงานศิลปะ ออกไปเดินเล่น ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน พาไปเที่ยวในบริเวณที่คนไม่พลุกพล่าน

7. จัดการและวางระบบทั้งการดูแลผู้ป่วยและดูแลตัวเอง เช่น การดูแลสุขภาพแม่และลูกที่เป็นผู้ดูแล จัดการเรื่องการเงิน ดูแลกิจวัตรผู้ป่วยให้เป็นไปตามเวลาทุกวัน กำหนดวันจัดการธุระต่าง ๆ วันจ่ายบิล วันซื้อของ  ปรับบ้านให้เหมาะกับผู้ป่วย ปลอดภัย สิ่งของต่าง ๆ ใช้งานง่าย อาจติดป้ายบอก 

8. มีอารมณ์ขันบ้าง บางเรื่องอาจหัวเราะไม่ออก แต่สำหรับปัญหาหรือสิ่งน่ารำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถมองเป็นเรื่องขำขันได้เช่นกัน

9. มองเห็นแง่มุมดี ๆ ของการดูแล ให้ถือว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่คนเป็นลูกได้มอบความรักให้แม่ ด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะทั้งสุขและทุกข์ก็นับเป็นเวลาสร้างความรักความผูกพันอีกวาระหนึ่ง  

10. ชวนกันฝึกความจำรำลึกความหลัง  เช่น ชวนเล่นเกมฝึกสมอง ชวนดูภาพถ่ายเก่าของครอบครัวหรือเพื่อน พูดคุยแลกเปลี่ยนว่าคนในภาพเป็นใคร ถ่ายที่ไหน โดยไม่ต้องให้แม่พยายามนึกให้ออก หรือให้เล่าเรื่องในสมัยก่อนที่แม่ยังจำได้ เน้นความทรงจำที่มีความสุข
อ่านเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติม : ปรับใจยอมรับอัลไซเมอร์ของแม่
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.