โรคฟัน

โรคฟัน ที่สำคัญได้แก่ โรคฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ ทั้ง 2 โรค ล้วนมีต้นเหตุมาจาก แผ่นคราบจุลินทรีย์ ในปัจจุบันเรียกว่า ไบโอฟิล์ม ภาษาชาวบ้าน คือ ขี้ฟัน
แผ่นคราบจุลินทรีย์ คืออะไร
แผ่นคราบจุลินทรีย์ ไม่ใช่เศษอาหารชิ้นใหญ่ ๆ ที่ตามตามตัวฟันหลังรับประทานอาหาร แต่เกิดจากสารเหนียวในน้ำลายเคลือบ ผิวฟันเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ มีเยื่อบุผิวในช่องปากที่ตายแล้วหลุดลอกออกมา คราบอาหาร และเชื้อโรคหลายชนิดรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ยึดกันด้วยสารเหนียวในน้ำลาย
ในช่วงต้น ๆ ของ การเกิดจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นใกล้เคียงกับสีฟัน ทำให้มองเห็นได้ยาก ในระยะนี้สามารถกำจัดออกได้โดยการฉีดพ่นน้ำ หรือแปรงออกได้ง่าย ถ้าสะสมไว้นาน ๆ จะมีสีเหลืองเข้ม และยิ่งเหนียว ยิ่งกำจัดออกยากโดยการแปรงฟัน
บริเวณที่มีมักพบแผ่นคราบจุลินทรีย์ คือ บริเวณขอบเหงือก ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ประกอบด้วย เชื้อโรคที่สามารสร้างกรดจากน้ำตาลที่สะสมไว้ที่ตัวฟัน ทำให้เกิดฟันผุได้ ขณะเดียวกันเชื้อโรคกลุ่มที่สร้างสารพิษ ทำให้เกิดภาวะเหงือกอักเสบหรืออวัยวะปริทันต์อักเสบได้
ดังนั้น การป้องกันโรคฟัน นั่นคือ การกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกให้ได้นั่นเอง
โรคฟันผุ
เป็นการสูญเสียแร่ธาตุของผิวฟันมากกว่าการคืนกลับของแร่ธาตุ โรคฟันผุเกิดจากเชื้อโรคที่สร้างกรด และทนต่อสภาวะที่เป็นกรดได้ โดยเชื้อโรคเหล่านี้สังเคราะห์กรดได้จากอาหารกลุ่มแป้ง และน้ำตาล ถ้ากรดมีปริมาณสูงระดับหนึ่ง ก็จะสามารถกัดกร่อนผิวฟันตั้งแต่ขาวขุ่นจนเป็นรูได้ 
ดังนั้น ทำความสะอาดหลังรับประทานอาหาร การลดความถี่ในการรับประทานอาหาร หรือลดการรับประทานอาหารแป้งและน้ำตาล เป็นการลดการสร้างกรดในช่องปากได้ ในขณะเดียวกันน้ำลายในช่องปาก มีน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ช่วยลดเป็นความกรด และสามารถมีการคืนกลับของแร่ธาตุจากน้ำลายเข้าสู่ผิวฟัน ทำให้ฟันไม่ผุได้
ใครมีอาการแบบนี้บ้างไหม ?
สัญญาณอันตราย ! โรคปริทันต์มาเยือนแล้ว
1. มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน 
2. เหงือกบวมแดง
3. มีกลิ่นปาก
4. เหงือกร่น
5. ฟันโยก
โรคปริทันต์อักเสบ
เกิดจากเชื้อโรคในแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่มีฤทธิ์ในการสร้างสารพิษ และภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองต่อสารพิษนี้ เกิดเป็นการอักเสบขึ้น ความรุนแรงของโรคนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่เหงือกอักเสบจนถึงกระดูกรอบรากฟันถูกทำลาย ฟันโยกในที่สุด
แผ่นคราบจุลินทรีย์ในระยะแรกจะมีสีขาวใกล้เคียงกับสีฟัน ทำให้มองเห็นยาก หากทิ้งไว้นาน มีการสะสมแร่ธาตุจากน้ำลาย เกิดเป็นหินปูนได้ ซึ่งถ้าไม่ทำการขูดหินปูนปล่อยให้มีการสะสมนานมากขึ้น จะมีปริมาณหินปูนมากขึ้น ความรุนแรงของเชื้อโรคจะมากขึ้นสามารถลงสู่ร่องเหงือกไปทำลายกระดูกรอบรากฟัน และอวัยวะรอบๆ รากฟันจนฟันโยก หรือฟันเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมเหงือกบวมเป็นหนอง มีกลิ่นปาก
เรียบเรียงจากหนังสือ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข
ผู้เขียน : ทพญ.นันทนา ศรีอุดมพร
งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มาเข้าใจเรื่องฟันกันเถอะ
เป้าหมายในชีวิตของคนเราในวัยสูงอายุ มักตอบว่า อยากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรค แต่หารู้ไม่ว่า ...
การดูแลสุขภาพช่องปาก
การดูแลความสะอาดภายในปากและฟันอย่างถูกวิธี นอกจากช่วยให้มีฟันแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการดูแลสุขภาพร่างกาย ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
อุปกรณ์การดูแลแผลกดทับ
การดูแลแผลกดทับ ใช้อุปกรณ์ที่ต่างกันตามระดับแผลกดทับ ...
น่ารู้เกี่ยวกับคาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่มีมากในอาหารหมู่ที่ 2 ข้าว เผือก มัน ...
อาหารสำหรับผู้มีปัญหาการกลืน
EP09 อัลไซเมอร์...คำที่ไม่มีวันลืม
ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.