กลางวันไม่ตื่นกลางคืนไม่นอน

กลางวันไม่ตื่นกลางคืนไม่นอน

ภาวะสมองเสื่อมส่งผลให้การทำงานของสมองแปรปรวนไปในหลายด้าน รวมถึงรูปแบบการนอนหลับ หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยมักนอนหลับในช่วงกลางวัน แต่กลับตื่นขึ้นมาอย่างแจ่มใสในเวลากลางคืน ส่งผลให้ผู้ดูแลต้องดูแลและคอยเฝ้าดูผู้ป่วยทั้งกลางวันและกลางคืน จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอและเกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ นพ. พงศกร ตนายะพงศ์ จากสาขาวิชาอายุรศาสตร์การนอนหลับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมาให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ดูแลสามารถพักผ่อนอย่างพอเพียง ลดภาระการดูแลอันหนักหน่วง
เรามาดูสาเหตุของการนอนที่ผิดปกติในผู้ป่วยสมองเสื่อมกันก่อน คุณหมอพงศกรกล่าวถึงสาเหตุของการนอนที่ผิดปกติในผู้ป่วยสมองเสื่อมดังนี้ 

1. อายุที่มากขึ้น มีผลทำให้กลางคืนนอนหลับยาก ประกอบกับการทำงานของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย ซึ่งเป็นกระบวนการส่งเสริมให้คนเราง่วงในเวลากลางคืน ตื่นในเวลากลางวันตามเวลาปกติแปรปรวนไป  เมื่อถึงวัยสูงอายุจะมีรูปแบบการนอนเปลี่ยนแปลงไป 4 ประการ คือหลับเร็วขึ้น แต่หลับไม่ค่อยลึก หลับไม่ต่อเนื่อง และตื่นเช้ากว่าปกติ 

2. การนอนหลับได้ดีนั้นมีความเชื่อมโยงกับแสงแดด หากได้รับแสงแดดในเวลากลางวันมากเพียงพอ จะทำให้นอนหลับได้ดีในกลางคืน และตื่นนอนตอนกลางวันได้ตามปกติ 

3. ช่วงเวลาตื่นนอนมีผลต่อการนอนหลับในตอนกลางคืน ถ้าหากผู้ป่วยตื่นนอนในตอนเช้า และช่วงตื่นยาวนานถึง 16 ชั่วโมง จะเกิดความง่วงสะสม ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 16 เป็นต้นไปจะรู้สึกง่วงมาก จะนอนหลับได้ดีและหลับลึก

4. กลางวันมีกิจกรรมไม่เพียงพอ ได้แก่ กิจกรรมทางร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ตอนกลางวันไม่มีอะไรทำ ไม่มีกิจกรรมด้านความคิด สมองไม่ได้ใช้งานด้านความคิด นอกจากนี้ยังขาดกิจกรรมทางสังคม ไม่ได้พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกับกับคนอื่นมากนัก การอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานานทำให้เกิดความง่วงผู้ป่วยจึงหลับในตอนกลางวัน    

5. มีโรคร่วม เมื่ออายุมากผู้ป่วยมักจะมีโรคทางร่างกายหรือโรคจิตใจ มีการใช้ยาซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขาอยู่ไม่สุขซึ่งมักมีอาการในตอนกลางวัน ความเจ็บปวดทางกายที่พบบ่อย เช่น ความเจ็บปวด ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีโรคทางใจเช่น ซึมเศร้า เป็นต้น
คำแนะนำในการแก้ปัญหาผู้ป่วยไม่นอนตอนกลางคืน 

1.  จัดระเบียบกิจวัตรประจำวันบางอย่างให้อยู่ในเวลาเดิม ๆ เช่น เวลาตื่นนอนในตอนเช้า  เวลารับประทานอาหาร และเวลาเข้านอน เป็นต้น 

2. ดูแลให้ผู้ป่วยได้มองเห็นแสงแดดในเวลากลางวันมากเพียงพอ เช่น เปิดหน้าต่างให้มีแสงสว่างลอดเข้ามาภายในบ้าน ส่วนในเวลากลางคืนลดแสงสว่างลง เพื่อให้ร่างกายรับรู้ว่าเป็นเวลานอน 

3. หากผู้ป่วยง่วงมากในเวลากลางวัน ให้งีบหลับได้แต่จำกัดชั่วโมงงีบให้น้อยที่สุด เวลางีบไม่ควรเกิน 30 นาทีและก่อนเวลา 15.00 น. พยายามให้ผู้ป่วยมีช่วงเวลาตื่นในตอนกลางวันให้มากขึ้น 

4. ตอนกลางวันให้ผู้ป่วยทำกิจกกรรมมากขึ้น เช่น ออกกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย ฝึกใช้ความคิด มีกิจกรรมทางสังคม ได้พูดคุยสื่อสารกับคนรอบตัวหรือทำกิจกรรมร่วมกัน 

5. จำกัดตัวกระตุ้นการตื่นตัวในเวลาใกล้นอน เช่น งดเครื่องดื่มคาเฟอีน เมื่อถึงช่วงบ่ายแล้วไม่ควรให้ดื่มชา กาแฟ เนื่องจากมีคาเฟอีนทำให้นอนไม่หลับ  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือเมื่อใกล้เวลานอน  เนื่องจากหน้าจอมีแสงไฟสีฟ้าทำให้นอนไม่หลับและยังหลับไม่สนิท 

6. พิจารณาว่าผู้ป่วยมีโรคร่วมใดบ้าง หากสังเกตพบว่ามีโรค เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคขาอยู่ไม่สุข  แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการนอนหลับเพื่อเข้ารับการรักษาอาการดังกล่าว 

7. การกินยาบางประเภทอาจรบกวนการนอนหลับของผู้ป่วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการให้ยา ในบางกรณีแพทย์อาจให้ปรับเวลาให้รับประทานช่วงเช้าแทนก่อนนอน   
 
8. ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมื้อเย็นหรือมื้อก่อนเข้านอนเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้นอนหลับสบาย  

9. หากผู้ป่วยนอนหลับไม่ค่อยได้ หรือมักตื่นในเวลากลางคืน ลองมองหาสาเหตุ อาจเกิดจากสาเหตุง่าย ๆ อย่างเช่น อาจปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ หรือมีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยสมองเสื่อมไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ แนะนำให้พาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเวลานอน หรือสังเกตว่ามีอาการปวดเมื่อยตามตัว อาจบีบนวดเพื่อช่วยลดอาการปวด ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น 

10. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสำหรับการนอนหลับ ในช่วงก่อนนอนควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ  ดูแลให้ภายในห้องมีความสงบบรรยากาศผ่อนคลาย ห้องนอนควรมืด เงียบ อุณหภูมิพอเหมาะ โดยสังเกตจากผู้ป่วยมักจะนอนหลับสบายและหลับเป็นเวลานานในอุณหภูมิดังกล่าว   
ผู้ให้ข้อมูล : นพ. พงศกร ตนายะพงศ์ จากสาขาวิชาอายุรศาสตร์การนอนหลับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ปีใหม่เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ
คนทั่วไปอาจตั้งปณิธานปีใหม่ว่าจะทำอะไรให้ดีขึ้น ...
อาการของโรคซึมเศร้า
สังเกตอาการของโรคซึมเศร้าได้จากปัญหาการกินการนอน ...
หกล้มอันตรายกว่าที่คิด
อายุ 65 ปี+ เสี่ยงหกล้ม 28-35% อายุ 70 ปี+ เสี่ยงหกล้ม ...
แนวทางการวัดความดันโลหิตที่บ้าน
ค่าความดัน คือ แรงดันในหลอดเลือด ช่วงหัวใจบีบตัวและคลายตัว ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.