ดูแลพ่อแม่อย่างไรเมื่อถึงวัยสูงอายุ

ดูแลพ่อแม่อย่างไรเมื่อถึงวัยสูงอายุ
วัยสูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย สมอง จิตใจ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น เกษียณจากงานมาอยู่กับบ้าน หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก 

การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อแม่สูงวัยทุกวัน คนเป็นลูกอาจรู้สึกเคยชินจนไม่ทันสังเกตความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพก็เป็นได้ 
ควรดูแลเอาใจใส่พ่อแม่สูงอายุด้านใดบ้าง 
ผู้สูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย สมอง อารมณ์ และจิตใจ ในวัยสูงอายุมักจะมีโรคที่พบได้บ่อย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อม

การพบปัญหาสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้เราทราบว่าจะต้องเอาใจใส่พ่อแม่ในเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง หรือปัญหาสุขภาพใดมีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก็จะไดัรับการรักษาทันท่วงที เพื่อให้ท่านสามารถมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี มีความสุข และมีความภูมิใจในตัวเองที่สามารถใช้ชีวตอยู่อย่างมีอิสระ สามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน
   
เมื่อสังเกตพ่อแม่วัยสูงอายุ อาจพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายประการดังนี้ 
1. ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย   
- การมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนก่อน สายตาเปลี่ยน อาจมีโรคเกี่ยวกับดวงตา 
- การได้ยิน ต้องพูดคุยด้วยเสียงดังถึงจะได้ยิน  เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเสียงดังขึ้น 
- การได้กลิ่น ไม่รับรู้กลิ่นของสิ่งต่าง ๆ เหมือนเดิม อาจไม่ได้กลิ่นอาหารบูดเสีย กลิ่นแก๊สรั่ว เป็นต้น 
- การรับรู้รสชาติ รับประทานอาหารรสจัดขึ้น อาจบอกว่าอาหารจานนั้นจืดทั้ง ๆ ที่รสจัดแล้ว ผู้สูงอายุหลายท่านชอบกินหวานขึ้นมาก บางท่านรู้สึกเบื่ออาหาร 
- การรับรู้ทางการสัมผัส ผู้สูงอายุหลายท่านหนาวง่ายขึ้น ส่วนความรู้สึกร้อนเย็นเมื่อสัมผัสกับสิ่งของลดน้อยลงไป อาจจับของร้อนจัดแต่ยังไม่รู้สึกร้อนแต่มือพองไปแล้ว    
- การเคลื่อนไหวและการทรงตัว เช่น เคลื่อนไหวช้าลง หกล้มง่าย
- อาการเจ็บปวดต่าง ๆ ตามร่างกาย ปวดศีรษะ คอ หลัง แขน ขา ข้อเข่า เป็นต้น  
- สุขภาพปากและฟัน เช่น มีฟันผุหรือไม่ เหลือฟันใช้งานกี่ซี่ มีแผลหรือความผิดปกติภายในปากหรือไม่ 
- การย่อยอาหาร เช่น มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือรับประทานอาหารบางอย่างแล้วมีผลต่อการย่อย 
- การขับถ่าย เช่น ท้องผูก เข้าห้องน้ำบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ 
- นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่พอ
- น้ำหนักลดหรือเพิ่ม 
- กล้ามเนื้อที่เคยมีลดลง หรือมีไขมันเพิ่มมากขึ้น 
- เหนื่อยง่าย 
- เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
- เจ็บป่วยบ่อย 
2. ความเปลี่ยนแปลงทางสมองและความจำ 
- หลงลืมบ่อย ลืมในเรื่องที่ไม่ควรลืม หรือเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน  
- นึกคำพูดไม่ออก เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก ลืมวิธีใช้สิ่งของที่เคยใช้เป็นประจำ 
- หลงทางในที่คุ้นเคย
- ละเลยการดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำสระผม
- คิดหรือทำอะไรแปลก ๆ เช่น ซ่อนของ นำของวางไว้ในที่ ๆ ไม่ควรอยู่ 
ความเปลี่ยนแปลงข้างต้นอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
- มือสั่น ร่างกายแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก อาจเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน

3. ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์
- เหงา 
- เศร้าโศกเสียใจง่าย
- วิตกกังวล
- มีความเครียด
- ไม่อยากพบใคร
- ไม่อยากทำอะไร 
- ละเลยการดูแลตัวเอง 
- ละเลยการดูแลบ้าน  ไม่ทำความสะอาด สะสมของจนบ้านรก

ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์บางอย่างอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า ซึ่งมีโอกาสที่โรคทางร่างกายและจิตใจรวมทั้งสมองเสื่อมมีโอกาสเกิดตามมา
คำแนะนำในการดูแลพ่อแม่ในวัยสูงอายุ 

1. เมื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลง อาจจดบันทึกเพื่อติดตามดูความเปลี่ยนแปลง ข้อมูลที่บันทึกเป็นประโยชน์ต่อการดูแลและเมื่อต้องพบแพทย์

2. หมั่นสังเกตดูว่าพ่อแม่สูงอายุดูแลตัวเองในด้านต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน การดูแลทำงานบ้าน การทำอาหาร การเดินทาง การดูแลเรื่องเงิน การซื้อของ การรักษาความสะอาดตนเอง การแต่งตัว การกินยา และกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน หากความสามารถเหล่านี้ลดลงอาจสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างก็เป็นได้ 

3. พาไปตรวจสุขภาพประจำปี หากพบโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะรักษาได้ง่ายกว่า บางโรคเมื่อเป็นแล้วอาจไม่แสดงอาการ ก็จะรักษาได้ทันท่วงที หรือถ้าหากตรวจพบว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ลดโอกาสในการเกิดโรค

4. ดูแลอาหารการกิน 
- จัดเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในปริมาณเหมาะสม ให้ได้ครบทั้งห้าหมู่ ไขมันน้อย หวานน้อย เค็มน้อย เคี้ยวง่าย และย่อยง่าย  
- พ่อแม่สูงอายุที่ดูแลเรื่องอาหารเองหรือยังทำอาหารเอง ลูก ๆ อาจซื้อวัตถุดิบที่เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพเตรียมไว้ให้ หาอุปกรณ์ทำอาหารที่ใช้งานสะดวก เช่น ถ้าปรุงอาหารรับประทานคนเดียว จัดหาอุปกรณ์ทำครัวขนาดเล็กเหมาะกับการปรุงอาหารสำหรับคนเดียว หรือหาเมนูทำอาหารง่าย ๆ ดีต่อสุขภาพไว้ให้ จะได้ไม่เบื่ออาหาร พวกเครื่องเทศสมุนไพรมีกลิ่นรสช่วยปรุงแต่งให้อาหารน่ารับประทานขึ้น 
- แนะนำการอ่านฉลาก เมื่อทราบปริมาณสารอาหารบนฉลาก ผู้สูงอายุสามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคสารอาหาร เช่น โซเดียม น้ำตาล ไขมัน หรือสารปรุงแต่งต่าง ๆ เกินความจำเป็น ซึ่งการบริโภคเกินมีโอกาสส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- ผู้สูงอายุบางท่านนิยมใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เนื่องจากการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลานาน หรือการใช้ร่วมกับยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์  หรือเกิดอันตรายได้
- ดูแลให้ได้ดื่มน้ำพอเพียงวันละ 6-8 แก้ว โดยจิบทีละน้อยตลอดวันแทนการดื่มคราวละมาก ๆ หากมีโรคบางอย่างเช่น โรคไต หรือโรคหัวใจ ต้องจำกัดการดื่มน้ำ จึงควรดื่มในปริมาณที่แพทย์แนะนำ  

5. ดูแลความแข็งแรงของร่างกาย 
- การออกกำลังกายช่วยสร้างความแข็งแรงรวมทั้งพลังกายและใจให้ผู้สูงอายุ ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ช่วยการทำงานของปอด หัวใจ และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงซึมเศร้า สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี
- แนะนำการออกกำลังกายที่ไม่หนักหน่วงเกินไป เหมาะกับวัย เช่น โยคะ ไทชิ ว่ายน้ำ เดิน อาจปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย 
- มีกิจกรรมประจำวัน เช่น ทำงานบ้าน ทำสวน เดินซื้อของ ท่องเที่ยว เป็นต้น

6. ดูแลให้นอนหลับอย่างพอเพียง 
- แนะนำให้งดใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ใกล้เวลานอน  และใช้เตียงสำหรับนอนเท่านั้น
- ให้เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน 
- หากิจกรรมให้ทำระหว่างวัน หากงีบหลับไม่ควรเกิน 30 นาที และควรงีบก่อนเวลา 15.00 น. 
- เลี่ยงการดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ ในช่วงบายหรือเย็น
- ตรวจดูสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน ควรเงียบ ไม่มีแสงสว่างรบกวน อุณภูมิพอเหมาะที่ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายหลับง่าย ที่นอนไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป 
- หาสาเหตุนอนไม่หลับ เช่น การกินยาบางประเภท ความวิตกกังวล เข้าห้องน้ำบ่อย แก้ไขที่สาเหตุก่อน หรือมีปัญหาทางร่างกาย เช่น  นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ โรคขาอยู่ไม่สุข ควรปรึกษาแพทย์

7. ปรับบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิต
- มีความปลอดภัย จัดการแก้ไขในจุดที่อาจเป็นอันตราย เช่น แสงสว่างพอเพียง โดยเฉพาะบริเวณบันได พื้นต้องไม่ลื่น ไม่วางสิ่งของเกะกะหรือใช้เครื่องเรือนที่สะดุดล้มง่าย มีราวจับในห้องน้ำ เป็นต้น 
- ใช้งานสะดวกดูแลง่าย ดูแลให้ตำแหน่งของการใช้งานจุดต่าง ๆ เข้าถึงง่าย เช่น สวิตช์ไฟ ก๊อกน้ำ อุปกรณ์การใช้งานหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้ง่ายไม่ซับซ้อน  
- บรรยากาศสดชื่นผ่อนคลาย มีมุมพักผ่อนสบาย ๆ หรือปลูกต้นไม้ดูแลง่ายหน้าบ้านหรือบริเวณรอบบ้าน 

8. ดูแลสมองและจิตใจ 
- อย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างเหงาหงอยเบื่อหน่าย หาเวลาอยู่ร่วมกัน  โทรศัพท์ วิดิโอคอลติดต่อกันเป็นประจำ มีกิจกรรมทำร่วมกัน รับประทานอาหาร ทำอาหาร ออกกำลังกาย  ท่องเที่ยว ดูหนัง ชอปปิง ร้องเพลง เต้นรำ ทำสวน ทำงานประดิษฐ์หรืองานศิลปะ เป็นต้น 
- เมื่อผู้สูงอายุมีความเครียด พร้อมรับฟังปัญหา ช่วยคลี่คลาย หรือชวนทำกิจกรรมผ่อนคลายจิตใจ 
- ให้ผู้สูงอายุมีสังคม เช่น การพบปะคนในครอบครัว เพื่อนฝูง เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมตามความสนใจ เช่น ดนตรี อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ  หรือเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนอื่นหรือให้ความรู้ตามความสามารถเดิมที่มี  
- ระวังการใช้ยาที่มีผลต่อสมองและความจำ เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้บางประเภท   ยาลดกรดและยาคลายกล้ามเนื้อบางประเภท และยารักษาโรคจิตยกเว้นในกรณีมีข้อข่งชี้ในการใช้ เช่น ปัญหาพฤติกรรมรุนแรง
ตรวจสุขภาพประจำปีตรวจอะไรบ้าง  

การตรวจสุขภาพประจำปีคือการคัดกรองโรค หากพบเร็วจะได้รับการรักษาทันท่วงที ก่อนที่สุขภาพร่างกายจะถูกโรคทำร้ายรุนแรง ในปัจจุบันการตรวจสุขภาพประจำปีมีหลายโปรแกรมให้เลือก ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการตรวจดังต่อไปนี้ 

- ตรวจสุขภาพทั่วไปโดยแพทย์
- ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- น้ำตาลในเลือด
- ไขมันในเลือด 
- ตรวจการทำงานของตับ
- ตรวจการทำงานของไต
- ระดับกรดยูริค
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจอุจจาระ
- ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
- ตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า
- เอกซเรย์ปอดและหัวใจ
- ตรวจอวัยวะในช่องท้องทั้งหมดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
- ตรวจมะเร็งเต้านมและอัลตร้าซาวด์เต้านม (ผู้หญิง)
- ตรวจภายในและตรวจมะเร็งปากมดลูก (ผู้หญิง)

(อ้างอิงจากโปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับวัย 40 ปีขึ้นไป อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี)

บทความโดย : รศ.พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี               
               พรดี จันทรเวชชสมาน

พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ปาร์ตี้อย่างไรไม่ให้ป่วน
ชุมชนน่าอยู่…เมืองที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ
ชุมชนน่าอยู่ หรือเมืองที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุ
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงคุณก็ลดเองได้
ส่วนใหญ่ของไขมันที่เห็นด้วยตาเปล่าในอาหาร คือ ไตรกลีเซอไรด์ อาหารมัน ...
สูงวัยหลับยากตื่นง่าย
ผู้สูงอายุมักมีปัญหานอนไม่หลับ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.