การกลืน

การกลืน
การกลืนลำบากเกิดขึ้นกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมในระยะอาการใดก็ได้ แต่เมื่อมาถึงระยะอาการที่มากขึ้น อาการก็จะรุนแรงตามระยะของอาการ

สาเหตุ

เกิดจากสมองที่เสื่อมลง กล้ามเนื้อ เส้นประสาทควบคุมการกลืน เส้นประสาทสั่งการ การรับความรู้สึกเสื่อมตามไป ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่กลืนอาหารอ่อนแรง ส่วนรับความรู้สึกก็ลดลง ปาก คอ ไม่รับรู้ว่ามีอาหารอยู่ในปาก บางครั้งอาจไม่รู้ว่ามีอาหารคำเล็กหรือเศษอาหารติดตามซอกฟัน

ผลเสียต่อสุขภาพ

อาหารที่ติดค้างอยู่ในคอ เกิดการระคายเคือง มีโอกาสตกลงไปในทางเดินหายใจ ทำให้สำลัก หายใจติดขัด ไอ หายใจไม่ออก อาจทำให้ขาดน้ำ ขาดอาหาร สำลักเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ ทางเดินหายใจส่วนบนอุดตัน มีโอกาสเป็นอันตรายถึงชีวิต

สังเกตอาการกลืนลำบาก

ไอ สำลักเวลากลืน เสียงแหบหลังจากกลืนอาหาร ไม่ยอมกินอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำเพราะกลัวสำลัก น้ำหนักลด

ดูแลอย่างไร

สมองเสื่อมระยะแรก

ฝึกให้ผู้ป่วยไอตั้งแต่เริ่มมีภาวะสมองเสื่อมในระยะแรก ๆ เพื่อให้รู้ว่าต้องไออย่างไร เสมหะและเศษอาหารจึงจะออกมาได้ดีที่สุด

ฝึกวิธีไอ

สอนให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อม หัดหายใจเข้าลึก ๆ จนท้องพอง แล้วกลั้นหายใจไว้ จากนั้นให้ไอออกมาแรง ๆ เพื่อให้เศษอาหารหรือน้ำที่ติดค้างในทางเดินอาหารออกมาตอนสำลัก

สมองเสื่อมระยะที่ 2

ฝึกบริหาร ดูตามสภาพผู้มีภาวะสมองเสื่อม ถ้ายังสามารถเข้าใจและทำตามคำแนะนำได้มาก มีความรู้ตัว การรับรู้ยังดีอยู่ สามารถทำตามที่บอกได้

ฝึกบริหารช่วยการกลืน

ชวนผู้มีภาวะสมองเสื่อมบริหารกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้การกลืนดีขึ้น

1. บริหารปาก

2. บริหารลิ้น แลบลิ้นออกมาเล็กน้อย ฟันบนกับฟันล่างขบลิ้นไว้เบา ๆ แล้วกลืน ทำ 5 ครั้ง / แลบลิ้นออกยาว ๆ แล้วนำลิ้นกลับเข้าปากดังเดิม ทำ 5 ครั้ง / ตวัดลิ้นไปข้างมุมปากซ้าย-ขวาสลับกัน ทำ 5 ครั้ง / ลิ้นแตะริมฝีปากบนสลับกับริมฝีปากล่าง ทำ 5 ครั้ง

3. บริหารคอ หาลูกบอลนิ่มขนาดเล็กประมาณลูกเทนนิส หนีบใต้คาง กดคางลงค้างไว้ นับ 1-20 ทำ 5 ครั้ง / ผู้ดูแลจับบอลวางไว้ตรงคอ ให้ผู้ป่วยก้มหน้ากดคางลงที่บอล แล้วเงยหน้าขึ้น ทำ 10-20 ครั้ง

4. ออกเสียง อา สลับกับ อู ทำซ้ำ 5 ครั้ง / อู สลับกับ อี ทำซ้ำ 5 ครั้ง / ลาลาลาลาลา 5 ครั้ง / ทาทาทาทาทา 5 ครั้ง / กากากากากา 5 ครั้ง

ข้อแนะนำ

- ใช้การชักชวนแทนการบังคับ สร้างบรรยากาศสนุกสนานแบบการเล่นเกม ผู้ดูแลอาจบริหารไปพร้อมกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
- เลือกเวลาที่สงบเงียบ ผู้ป่วยสบายตัว อารมณ์ดี มีสมาธิพร้อมฝึก
- ดูตามสภาวะร่างกายของผู้มีภาวะสมองเสื่อม ว่าสามารถบริหารหรือทำตามที่บอกได้แค่ไหน
- ดูตามกำลัง ไม่ควรให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเหนื่อยเกินไป

สมองเสื่อมระยะที่ 3

ไม่สามารถฝึกได้ ใช้การกระตุ้นประสาทสัมผัสแทน

ใช้ความเย็นกระตุ้น

วิธีทำ
1. ใช้ก้านสำลีขนาดใหญ่พิเศษ หรือไม้สะอาดพันสำลี เมื่อพันสำลีให้มีขนาดประมาณนิ้วก้อย (ไม่ควรใช้ก้านสำลีขนาดเล็กที่ใช้ทั่วไป) แช่น้ำใส่น้ำแข็ง บิดหมาด
2. นำไม้พันสำลีกระตุ้นตามกระพุ้งแก้ม ทั้งสองข้าง ขึ้น-ลง บริเวณเพดานอ่อน ให้ถู ซ้าย-ขวา
3. ทำก่อนเวลารับประทานอาหาร 5 นาที เช้า กลางวัน เย็น

ข้อแนะนำ

- ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำให้เจือจางทำวิธีเดียวกัน ควรเจือจางน้ำมะนาวป้องกันการแสบปาก
- กระตุ้นด้วยความเย็นและต่อด้วยน้ำมะนาว หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
- เลี่ยงการล้วงเข้าไปในปากลึกเกินไป เพื่อป้องกันการอาเจียน

ปากสะอาดเรื่องสำคัญ

ควรดูแลปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าปากสะอาดเวลาสำลักเชื้อโรคจะเข้าทางเดินหายใจไปสู่ปอดน้อยลง ลดเสี่ยงอันตรายจากปอดติดเชื้อ

การดูแล

- ทำความสะอาดภายในปากผู้มีภาวะสมองเสื่อม ก่อน-หลังรับประทานอาหาร
- ทำความสะอาดฟันปลอม ก่อน-หลังรับประทานอาหาร

ปรับเพื่อช่วยให้กลืนง่าย

- ปรับอาหารให้นิ่มขึ้น ปรับจากการทอดเป็นต้ม นึ่ง หรือแช่น้ำให้นิ่มก่อน เช่น ขนมปังจุ่มนม ปรับให้ชิ้นเล็กลง
- ถ้าสำลักน้ำเปล่า ปรับลดปริมาณน้ำที่ดื่มแต่ละครั้งลง ถ้ายังไออยู่ให้ปรับลดลงเรื่อย ๆ จากทีละแก้วเป็นครึ่งแก้ว
การให้อาหารทางสายยางทางจมูก
ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารได้น้อย ไม่รับประทานอาหาร หรือมีปัญหาการกลืน ...
การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เคลื่อนไหวลำบาก ต้องการการดูแล การอาบน้ำช่วยให้ร่างกายสะอาด ขจัดสิ่งสกปรก ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
EP01 ฉันจะเป็นชีวิตและจิตใจ ให้เธอจนวันสุดท้าย
พี่สาวของฉัน ฝึกให้เรารู้จักว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ...
การรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบใช้ยา
ยาสำหรับรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อมมี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ...
EP05 ทุกข์ ของผู้เป็นที่รัก
ด้วยความที่พ่อมีพื้นนิสัยเป็นคนพูดน้อย และเป็นสุภาพบุรุษ ...
การกอดช่วยผู้มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจสูญเสียความจำและความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.