อัลไซเมอร์...คำที่ไม่มีวันลืม

อัลไซเมอร์...คำที่ไม่มีวันลืม
record_voice_over อ่านให้ฟัง
เรื่องเล่าจากหนังสือ วันวาน ณ ปัจจุบัน โดย ยินดี
ดิฉันมีอาชีพเป็นครูอนุบาล ดิฉันช่วยคุณแม่ดูแลพี่ชายที่สมองพิการตั้งแต่กำเนิดมาหลายปี ก่อนจะลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลคุณพ่อที่อายุมากกว่า 90 ปี ท่านล้มป่วยด้วยสาเหตุเส้นเลือดในสมองอุดตัน ระหว่างที่ดูแลคุณพ่ออยู่ 5 ปี คุณแม่เริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ให้เห็น เพียงแต่ในเวลานั้น รู้สึกแต่เพียงว่าคุณแม่ดูแปลกไป แต่ไม่ทราบเลยแม้แต่น้อยว่าเป็นอาการของโรคในระยะแรก
การออกจากงานเพื่อมาดูแลคุณพ่อ ทำให้เรามีโอกาสแสดงความกตัญญู พี่ ๆ น้อง ๆ ก็จะได้มีโอกาสช่วย ทางด้านการเงิน โดยไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นอยู่ของพ่อแม่

ช่วยคุณแม่...ดูแลคุณพ่อ

วันหนึ่งดิฉันกลับมาจากที่ทำงาน คุณแม่บอกว่าคุณพ่อเข้าโรงพยาบาล เพราะเมื่อเช้าหกล้มในห้องน้ำ พี่ชายเป็นคนเห็นคนแรก วิ่งลงบันไดมาเรียกคุณแม่ ดิฉันเห็นภาพเลยว่าต้องใช้เวลานาน เพราะพี่ชายคนนี้มีปัญหาทางสมองตั้งแต่กำเนิด จะเดินช้า คิดช้า พูดช้า กว่าคนปกติ แต่ก็ยังได้เป็นพระเอกในครั้งนี้ คุณหมอบอกว่าการดูแลที่ดี และหมั่นทำกายภาพจะช่วยคุณพ่อได้ การดูแลไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณแม่ เพราะสุขภาพของคุณแม่เองก็มีปัญหา คุณแม่หัวใจโต มีอาการ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เหนื่อยง่าย บวกกับการที่ต้องดูแลบ้านและพี่ชาย เป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว คุณแม่รับภาระคนเดียวคงไม่ไหวแน่ เมื่อคุณพ่อกลับจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้านแล้ว ก็มีอาการวุ่นวาย ลับมีดในครัวจนทื่อหมด หรือเอาผัดผักใส่ลงในชามแกงทั้งจาน

ลูก ๆ เห็นความจำเป็น ว่าต้องมีคนดูแลที่ไว้วางใจได้เป็นหลัก แล้วจะมีใครรู้ความต้องการของคุณพ่อ ได้เท่ากับเรา เราเป็นลูกก็จะดูแลด้วยความรัก ความเอาใจใส่ คงจะจ้างใครไม่ได้นอกจากดูแลด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้ดิฉันใช้เวลากลางวัน ที่ว่างจากการสอนกลับมาดูแลพี่กับพ่อ นำงานที่ต้องตรวจมาทำต่อที่บ้าน แต่ต้องรีบร้อนอยู่ตลอดเวลา ด้วยควาที่เป็นคนโสด ไม่มีภาระผูกพัน เงินเดือนก็น้อยว่าคนอื่นในบ้าน พี่ ๆ น้อง ๆ จึงบอกว่าลาออกมาดูคุณพ่อคุ้มกว่า เขาจะช่วยดูแลค่าใช้จ่ายเอง

การออกจากงานเพื่อมาดูแลคุณพ่อ ทำให้เรามีโอกาสแสดงความกตัญญู พี่ ๆ น้อง ๆ ก็จะได้มีโอกาสช่วย ทางด้านการเงิน โดยไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นอยู่ของพ่อแม่ การจ้างคนอื่นก็คงดูแลรับผิดชอบ เรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านไม่ได้ เขาก็ทำเฉพาะหน้าที่ของเขา เราอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย มากขึ้นไปอีกเพื่อจ้างอีกคนมาช่วยงานอื่น ๆ
คุณแม่เริ่มไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ดูเหมือนกลัว และต้องการความช่วยเหลือในการจัดการทุกเรื่อง
คุณแม่เปลี่ยนไป...เมื่อไรคุณพ่อมีอาการสมองเสื่อม จากเส้นเลือดสมองอุดตัน บางเวลาหลงเข้าใจว่าตัวเองเป็นนักมวย ตีเข่าเข้าหน้าผากเรา เหมือนมีเสียงมะพร้าวแตกอยู่ในหัว พอเดินไปฟ้อง คุณแม่บอกอย่าไปยุ่งกับมัน ดิฉันรู้สึกว่าคุณแม่ใช้คำพูดแปลก ๆ ไม่เคยได้ยินคำพูดแรง ๆ แบบนี้มาก่อน แต่เวลานั้นคิดว่าแม่คงรักลูก เจ็บปวดแทนลูก

ครั้งหนึ่งตอนที่ฟุบหลับ อยู่กับเหล็กกั้นข้างเตียงคุณพ่อ คุณแม่สะกิดบอกให้ไปนอนเถอะ พ่อเขาหลับแล้วก็พาคุณแม่ไปห้องน้ำก่อน แล้วจูงไปนอนที่เตียง พอใกล้จะหลับ คุณแม่ถามว่าหลับหรือยัง ตอนนั้นคุณแม่นอนเตียงใหญ่ ดิฉันนอนเตียงพับ เห็นคุณแม่ลืมตาอยู่ จึงถามว่าหนูนอนข้าง ๆ เอาไหม คุณแม่ทำท่าดีใจ เหมือนอยากให้มีคนอยู่ใกล้ ๆ เป็นเพื่อน ปกติคุณแม่ไม่ชอบให้ใครมานอนด้วย บอกนอนคนเดียวสบายดี แต่วันนั้นได้กอดอุ่นไปเลย คุณแม่ก็หลับได้ เพราะดึงแขนเราไปวางที่อก ลูบ 4 – 5 ที ก็หลับไป เมื่อมองย้อนกลับไป ภาพความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เราไม่ทันสังเกต ก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้น คุณแม่เคยเป็นคนใจดีมาก กลับหวงของ กลายเป็นคนเฉยเมยไม่ยอมทำอะไร ชอบเก็บของไว้ผิดที่ผิดทาง แปลกประหลาดมาก เช่น เอาผลไม้ไปไว้ในตู้เสื้อผ้า เก็บไม้จิ้มฟันไว้ใต้หมอน เช็นชื่อในใบเบิกเงินไม่ได้ และบางครั้งพูดก้าวร้าว หรือโกรธขึ้นมาเฉย ๆ อย่างไม่มีเหตุผล
คุณแม่เริ่มไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ดูเหมือนกลัว และต้องการความช่วยเหลือ ในการจัดการทุกเรื่อง เวลาเข้าครัวก็มักจะเกี่ยง ให้เราทำอาหารแทน ให้เหตุผลว่า ทำอาหารมานานแล้ว ให้ลูกจัดการเองบ้าง เวลาขอความเห็น ก็มักตอบว่าไม่รู้สิ เวลานั้นคิดว่าคงเป็นความกังวลของท่าน เพราะอายุมาก และไม่สบายด้วยโรคหัวใจโตมานาน คุณพ่อก็ป่วย โดยที่ต้องใช้ความอดทนในการดูแลด้วย

มีเรื่องเดียวที่คุณแม่ไม่ยอมให้ใครจัดการเลย คือ เรื่องเงิน! มาทราบภายหลังว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมหลายคนมักะมีอาการหวง และห่วงเรื่องเงินทองทรัพย์สมบัติ เช่นเดียวกับคุณแม่ ช่วงที่ดิฉันออกจากงานมาใหม่ ๆ ได้ยินเสียงเพลงชาติ น้ำตาพาลจะไหลให้ได้ คิดว่าเราต้องหาอะไรสักอย่าง นอกจากดูแลพี่ และคุณพ่อ เพื่อให้ยุ่ง ๆ เข้าไว้ จะได้ไม่อาลัยอาวรณ์งานสอนหนังสือมากนัก ตอนนั้นงานดูแลคุณพ่อยังไม่หนักมาก เหมือนระยะหลัง ๆ จึงตั้งใจว่าจะทาสีบ้าน ตอนผสมสี ขอให้คุณแม่ช่วยหยิบแปรงทาสีมาให้ คุณแม่มองเหม่อ ๆ ไม่มีชีวิตชีวาเฉยเมย เมื่อขอให้ช่วยก็ส่ายหน้า ลุกเดินไปจัดการของที่ลิ้นชักข้างเตียง ปล่อยในเรายืนรอสีอยู่บนบันได ที่ปีนขึ้นไปเพื่อทากำแพง คิดว่าคุณแม่คงเบื่อจึงบอกให้ พี่ช่วยพาคุณแม่ไปทานข้าวนอกบ้านบ้าง แต่คุณแม่ก็ไม่ยอมไป
หลังจากนั้นอาการของคุณแม่ ก็แปลกมากอย่างเห็นได้ชัด ชอบถามว่า นี่อะไรเกือบทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ของนั้นเคยรู้จักมาก่อน

คุณแม่เปลี่ยนไป...เพราะอัลไซเมอร์

ปี พ.ศ. 2546 คุณแม่เริ่มเล่าเรื่องสมัยก่อนซ้ำ ๆ ดิฉันง่วงหลับไปไม่ค่อยได้สนใจฟัง ตื่นขึ้นมา คุณแม่ยังเล่าเรื่องทำขนมขาย ให้ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกอยู่เลย น้องสาวโทรศัพท์จากต่างประเทศ มาคุยกับคุณแม่เป็นประจำ ถามว่าสังเกตอะไรหรือเปล่า ทำไมคุณแม่ถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ช่วงเวลานั้น เวลาคุณแม่รับโทรศัพท์ก็จะยื่นให้เรา เหมือนไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี ทั้ง ๆ ที่น้องยังพูดอยู่ในสาย และทำอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ บางทีให้ต่อโทรศัพท์ถึงน้องชาย หลังจากเพิ่งวางไป แล้วถามคำถามเดิม ๆ บางทีทางโน้นขอวางสายไปแล้ว คุณแม่ยังพูดอยู่เลย จึงกะเวลาว่าพูดสักพัก ก็จะขอพูดบ้างแล้วเป็นที่รู้กันว่าวางสายได้

หลังจากนั้นอาการของคุณแม่ ก็แปลกมากอย่างเห็นได้ชัด ชอบถามว่า นี่อะไรเกือบทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ของนั้นเคยรู้จักมาก่อน ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ผ้าปูที่นอน ฯลฯ แรก ๆ ก็ขำคิดว่าแกล้งถาม แต่หน้าตาบอกว่าไม่ได้พูดเล่นนะ ไม่รู้จริง ๆ เวลาตื่นนอนก็มักจะถามว่ากี่โมงแล้ว ชอบยื่นนาฬิกาให้เราดู แล้วถามว่ากี่โมง และไม่จำอะไรที่เพิ่งเกิดขึ้น ถามว่าจะไปห้องน้ำยังไง ไปทางไหน ทำไมมืด พอเปิดไฟให้บอกว่าสว่างดี เปิดไฟอย่างนี้เองหรือ ถึงเวลาอาบน้ำดิฉันเข้าไปดูเห็นนั่งเฉย คุณแม่บอกว่าไม่รู้จะอาบน้ำอย่างไร
มาถึงขั้นนี้คิดว่าคุณแม่เป็นมากแล้วอาการอัลไซเมอร์ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ดิฉันตกใจมาก เมื่อคุณแม่เย็บตะขอกระโปรงแบบประหลาด ยิ่งกว่าคนทำไม่เป็น เย็บพันกัน ยุ่งเหยิงไปหมด เย็บ ๆ อยู่ก็โมโหโยนทิ้ง ต้องเข้าไปปลอบว่า “หนูเย็บให้เองนะคะ ตอนเล็ก ๆ คุณแม่เย็บให้ลูก ตอนนี้ลูกเย็บให้แม่” คุณแม่บอกขอบใจลูก แล้วก็อารมณ์ดีเหมือนเดิม เรื่องเงินเป็นปัญหา ที่ทำให้ไม่สบายใจมากเรื่องหนึ่ง คุณแม่เป็นคนคุมค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด แต่ไม่ยอมจ่ายตามที่เคยให้ทุก ๆ เดือน บางเดือนให้แค่ 100 บาท ดิฉันไม่ทราบว่า นี่คืออาการของโรคอัลไซเมอร์ ที่ทำให้ความคิดอ่านผิดเพี้ยนไป จึงต่อว่าเพราะซื้ออุปกรณ์ของใช้ หลายอย่าง สำหรับการดูแลคุณพ่อ รวมทั้งอาหารและยาบางอย่างที่เบิกไม่ได้ ดิฉันจึงต้องใช้เงินเก็บของตัวเองจนหมด เริ่มปรึกษาพี่คนกลาง พี่ ๆ น้อง ๆ จึงให้ดิฉันเป็นคนถือเงินแทน แรก ๆ คุณแม่ไม่พอใจ จึงบอกพี่น้องว่าเวลาเอาเงินมา ก็ให้คุณแม่ถือไว้ก่อน พอสนใจสิ่งอื่นมากกว่า เราจึงค่อยเก็บไว้ เพราะเดี๋ยวคุณแม่ก็ลืม ระยะหลังคุณแม่ไม่รู้ค่าเงินแล้ว ให้ธนบัตรใบเดียวก็ดีใจ ยิ่งเป็นธนบัตรสีแดงจะชอบมากว่าสีอื่นๆ เราเริ่มรู้ว่าคุณแม่มีความสุข จึงแลกธนบัตรใหม่ ๆ สีแดง ไว้ให้เวลาอยากเบี่ยงเบนความสนใจ แล้วก็ได้ผลทุกที

ช่วยเหลือตัวเอง...น้อยลงทุกวัน

ในระยะที่อาการเป็นมากแล้ว ถึงขั้นที่เราต้องให้ความช่วยเหลือ ดูแลกิจวัตรประจำวัน ด้วยการเดาความต้องการ เพราะไม่สามารถสื่อสาร ว่าต้องการอะไร เรียกชื่อสิ่งของที่ต้องการก็ยังไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ด้วยกันมานานกว่า 50 ปี ก็เหมือนต้องเริ่มทำความรู้จักกันใหม่ การดูแลคุณแม่ มีงานจุกจิกให้ทำตลอดวัน โชคยังดีที่อาการของโรคค่อยเป็นค่อยไป ให้โอกาสเราจัดการทีละเรื่อง ได้ฝึกวิชาไปทุกวัน เมื่อรู้วิธีดูแลอย่างถูกต้องก็ช่วยคุณแม่ได้มาก
ตอนนั้นคุณแม่นั่งอยู่ที่เก้าอี้ไม้ตัวใหญ่ พอก้มตัวลงไปคุณแม่เอาเท้าวางบนไหล่ดิฉัน “โอ้โห แล้วจะถอดกันยังไงคะคุณผู้หญิง” คุณแม่ยิ้มแล้วยักไหล่ เลิกคิ้วสองสามที แล้วเราสองคนก็หัวเราะกันใหญ่
อีกเรื่องหนึ่งที่เรียกเสียงหัวเราะจากลูก ๆ เวลาเล่าให้ฟัง คือ ตอนพาคุณแม่ไปอาบน้ำ คุณแม่มองไปที่กระจกแล้วยกมือไหว้อย่างอ่อนช้อย ยิ้มเหมือนกำลังต้อนรับแขก ถามว่าไหว้ใคร คุณแม่บอกว่าคุณยายข้างบ้าน ดิฉันจะยิ้ม หรือหัวเราะก็ไม่ได้ เพราะคุณแม่ดูจริงจังมาก ตอนที่พี่มาหาเวลาจะไปอาบน้ำ ก็จะบอกกับคุณแม่ว่า ไปหาคุณยายข้างบ้านกัน คุณแม่จะพยักหน้าตกลง ให้จูงมือเดินตามไปทันที ดิฉันพยายามให้คุณแม่ได้ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยังสามารถทำได้เอง แม้จะเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เพื่อให้คุณแม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ยังพึ่งพาตนเองได้บ้าง ได้เคลื่อนไหว ได้ใช้ทักษะที่เหลืออยู่เท่าที่มี ไม่ต้องรู้สึกเป็นภาระของใครจนเกินไป ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทุกวันตอนที่คุณแม่ ยังเดินไปห้องน้ำได้อยู่ เวลาพาไปอาบน้ำ จะให้ท่านช่วยถือเสื้อกับผ้าเช็ดตัว ที่จะใช้ผลัดเปลี่ยน วันนั้นมีคนมากดกริ่งหน้าประตู พอเดินกลับมาคุณแม่ เอาผ้าเช็ดตัวไว้บนศีรษะชายผ้าตกลงมาปิดหน้า เป็นภาพที่ตลกมากจนดิฉันหัวเราะ คุณแม่ก็พลอยหัวเราะตาม “ตกลงจะไปอาบน้ำหรือไปเล่นละครคะ” คุณแม่บอกว่า “เล่นลิเก” แล้วทำท่ารำพร้อมทั้งยักคิ้วด้วย “งั้นเราอาบน้ำเสร็จแล้วไปเล่นลิเกกัน” พอตอนจูงไป สีหน้าคุณแม่นิ่งเฉยเสียแล้ว อารมณ์ท่านเอาแน่ไม่ได้ เพียงแต่ไม่ขึ้นหรือลงจนผิดปกติ เนื่องจากท่านยาที่ คุณหมอระบบประสาทให้มา ก็อารมณ์ดีสม่ำเสมอแทน จะเป็นคุณแม่คนเก่า การจะได้คุณแม่คนเดิมกลับมาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว หลายครั้งดิฉันนั่งมองคุณแม่เวลาหลับ ถือโอกาสลูบผมคุณแม่เบา ๆ ถ้าเป็นแต่ก่อนคุณแม่จะต้องรู้สึกตัวทันที และคงโดนท่านดุเอาแน่ ๆ

เรียนรู้และทำความเข้าใจอัลไซเมอร์

หลังจากการทราบว่าคุณแม่เป็นอัลไซเมอร์ ก็ไม่ได้ตกใจมากมายอาจเป็นเพราะงงมากกว่า ดิฉันอยากรู้สาเหตุจึงพยายามศึกษา สังเกต ถามผู้รู้บ้างไม่รู้บ้าง บางคนเล่าขยายความ จนเรารู้สึกหวาดหวั่น ว่าเมื่อถึงเวลานั้น เราจะรับสภาพของคุณแม่ได้อย่างไร ถ้าท่านคิดว่าเราจะทำร้าย อาละวาด ฉุนเฉียว ไม่ไว้ใจใคร หายไปจากบ้าน หรือเดินไปเดินมาไม่นอน ฯลฯ ดิฉันพยายามอ่านหนังสือ ดูสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอัลไซเมอร์ การเข้าร่วมประชุม กับกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมด้วยกัน เวลาฟังคนอื่นเล่าอาการรู้สึกสับสนมาก แต่เมื่อวิทยากรอธิบายว่า ผู้ป่วยแต่ละคนก็มีปัญหาต่างกันไปไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ฟังเรื่องของผู้ดแลท่านหนึ่ง ต้องคอยตามแม่ที่ชอบออกไปนอกบ้าน พอคุณแม่เริ่มร้อง ขอไปหาก๋งที่เสียชีวิตไปนานแล้ว บ่อยครั้งเข้า ดิฉันก็พาออกนอกบ้าน ไปเดินเล่นเวลาก็ช่วยได้ ได้ฟังวิธีแก้ของคนอื่น ๆ ทำให้เรามีทางแก้ปัญหา เรื่องที่อยู่ตรงหน้าได้ไม่ยาก เพราะคุณแม่หลอกได้ง่ายเหมือนเด็ก ๆ วิธีการเบี่ยนเบน เป็นวิธีที่เราไม่นึกมาก่อน ทั้ง ๆ ที่เราถนัด เพราะมักจะใช้กับเด็กอนุบาลอยู่แล้ว พอใช้กับคุณแม่ ก็ได้ผลดีด้วย เพราะผ่านไปเดี๋ยวเดียวคุณแม่ก็จะลืมแล้ว เพียงทำให้พอใจได้ เราก็จะไม่ต้องเหนื่อยกับอารมณ์ท่านมาก หรือเมื่อท่านชอบเล่าเรื่องเก่า ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เราก็จะฟัง เพื่อให้โอกาสคุณแม่ได้ถ่ายทอดซ้ำ ย้ำให้คุณแม่ได้มีความสุข กับวันเดิม ๆ ที่เหลือน้อยลงไปทุกที เมื่อรู้จักพิษร้ายของเจ้าอัลไซเมอร์ ว่าน่ากลัวกว่าที่คิดไว้ หัวใจเรารู้สึกกลัวแทนคุณแม่ แต่ก็ทราบว่ายังมีวิธี ที่ทำให้คุณแม่อยู่อย่างมีความสุขได้ ความกังวลของดิฉันจึงค่อยลดลง ตั้งใจว่าเรานี่แหละจะดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุด จะไม่ทิ้งคุณแม่ไปไหนเลย ตัวเราเองจะคอยทดแทนสิ่งที่จะค่อย ๆ หายไปจากคุณแม่ ทั้งความจำ ความคิด การตัดสินใจ การดำเนินชีวิตประจำวัน การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และที่สำคัญ คือ จิตวิญญาณของความรัก ความอบอุ่นที่มีให้กับคุณแม่ เหมือนที่คุณแม่เคยให้กับเรา ตลอดมาร่วม 50 ปี

ดูแล 24 ชั่วโมง เป็นอย่างไร ไม่มีใครเข้าใจ

ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจ ทุ่มแทการดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุด ก็ยังอดล้า อดท้อใจ ไม่ได้ในบางครั้ง งานหนักในเวลานั้นไม่ใช่เฉพาะ การประคับประคองคุณแม่ แต่ต้องเพียรพยายาม หาวิธีให้คนในครอบครัวเข้าใจ ด้วยว่าทำไมคุณแม่จึงเปลี่ยนไป   แรก ๆ คำตอบก็คือ “ไม่เห็นคุณแม่จะเป็นอะไร คนแก่แล้วก็เป็นอย่างนี้เอง อย่าไปซีเรียส เดี๋ยวก็แก่ไปอีกคนหรอก” พี่ ๆ น้อง ๆ ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับดิฉัน ก่อนหน้านี้เวลาบ่นให้ฟัง ว่าดูแลคุณแม่ แทบไม่ได้หลับได้นอนเลย เขาจะไม่เข้าใจเลยว่า ตอนดึก ๆ เราไม่ได้นอนหรอก ทุก 5 นาที คุณแม่จะไปห้องน้ำ จะลงจากเตียงออกไปหาก๋งนอกบ้าน เราต้องหาสารพัดถ้อยคำ มาหลอกล่อ จนใกล้รุ่งเช้านั่นแหละ จึงจะได้นอนหลับไป ส่วนเราก็หลับไม่ได้แล้ว เพราะต้องเตรียมอาหารเช้า พอบ่นอดนอนทุกคนถามเหมือน ๆ กันว่า “อ้าว! ทำไมไม่นอนล่ะ พอคุณแม่หลับก็รีบนอนซิ” พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย แล้วใครจะเตรียมอาหาร ให้คุณแม่ล่ะ

งานดูแลคุณแม่จะเรียกว่ามีตลอด 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ เรามีเวลานอนหลับจริง ๆ วันละ 3 – 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนับว่ามากทีเดียว ยังโชคดีที่ตั้งใจหลับเมื่อไหร่ จะหลับได้ทันที แล้วกลางวันอย่าหวังว่าจะได้นอน คิดจะนอนทีไร ก็จะมีคนมาเยี่ยม หรือมีอะไรสักอย่าง เกิดขึ้นทุกทีไป คุณแม่ถ่าย พี่ชายถ่าย สุนัขจะกัดแมว อุปสรรคมีมาได้ทุกรูปแบบ

เวลากลางวัน ดิฉันจะไม่ยอม ให้คุณแม่หลับเกิน 1 – 2 ชั่วโมง หรือถ้าดูนาฬิกาเกินบ่าย 3 โมงแล้วก็จะไม่ให้นอน เพราะรู้มาว่า จะทำให้หลับยากตอนกลางคืน พี่น้องก็บอกว่า ให้เขาหลับไปเถอะ อายุมากแล้วหลับอยู่ดี ๆ มาปลุก ไม่มีใครรู้ว่า การที่คุณแม่ไม่นอนกลางคืน คนดูแลทุกข์แค่ไหน เพราะทั้งวันเราก็เหนื่อยมามากแล้ว ต้องหลอกล่อ และพยายามรักษาอารมณ์เรา ให้ดีไว้ตลอดเวลา เราต้องจัดการดูแล ให้ทุกอย่าง เมื่อคุณแม่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทั้งการอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ พาไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ให้ทานข้าว ซึ่งบางทีป้อนทางปากได้ แต่บางทีต้องใส่สาย เก็บข้าวของ ปูที่นอน ให้ยา ไปตลาด ทำบัญชีค่าใช้จ่าย ทำงานบ้าน ต้องรับแขกที่มาเยี่ยม พาไปโรงพยาบาล ฯลฯ และทั้งหมดนี้ต้องจัดการเวลา ให้สัมพันธ์กับการดูแลพี่ชายด้วย เวลาจัดบ้านก็ต้องให้เหมาะกับทั้งพี่ และแม่  ต่อมาคุณแม่อาการมาก ไม่ค่อยได้ลงเดินก็จริง แต่พี่ชายยังต้องให้เดินอยู่ ก็จำเป็นต้องจัดที่ให้เดิน หลัง ๆ มีอาการชักบ่อย ก็ต้องจัดที่ให้พร้อมจะช่วยเหลือเวลาชัก มีงานจุกจิกให้ทำตลอดวัน มีเรื่องให้คิดจัดการ แก้ไขปัญหาตลอดเวลาไม่ได้อยู่นิ่ง

ดิฉันไม่ค่อยกลัวปัญหา เพราะเป็นคนที่อดทน เจอปัญหายิ่งยากยิ่งชอบ เพราะเวลาสำเร็จเราจะดีใจมาก ปกติก็มักจะทำอะไรใหม่ ๆ คิดใหม่ ๆ อยู่เรื่อย น้อยครั้งที่เหนื่อยและอยากพัก  อยากไปเที่ยวไกล ๆ อยากไปกับเพื่อน ๆ อยากแต่งตัวสวย ๆ  อยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง
แต่เมื่อมีความเหนื่อย ความล้า สะสมเป็นเวลานานวันเข้า ก็อดคิดน้อยใจไปต่าง ๆ นานา ว่าถ้าเราไม่ใช่คนดี เราคงจะพาทั้งคุณพ่อคุณแม่ และพี่ไปไว้ที่โรงพยาบาล ให้พี่น้องทุกคนเฉลี่ยเงิน มาร่วมกันรับผิดชอบ แทนที่จะโอบอุ้มดูแลไว้เอง คิดว่าตัวเราถูกเอาเปรียบมาก
คนอื่นไปไหนมาไหนก็ได้ตามสบาย เราต้องรีบแบบไม่คิดชีวิต เพื่อมาดูแล แม้ว่าเรามีสิทธิ์จะพักผ่อนบ้าง อย่าว่าแต่พักผ่อนเลย แม้แต่นอนกลางคืน ก็ไม่มีสิทธิ์นอนแบบไม่ห่วงอะไรเลย ในเวลาที่ล้าจริง ๆ ก็น้อยใจ ว่ามีเราคนเดียวหรือที่ต้องดูแล เพียงเพราะเราไม่มีครอบครัว ไม่มีงานที่ต้องรับผิดชอบนอกบ้าน เพียงเพราะเราเหมาะกับงานนี้ เราแค่อยากพักบ้างสักอาทิตย์ละวัน อยากนอนหลับกลางคืนแบบเต็มตา หลายปีแล้วที่ไม่เคยได้นอนแบบไม่ห่วงอะไร หรือไม่ถูกปลุกเพราะแม่ หรือพี่ต้องการให้ดูแล

เวลาเหนื่อย อยากจะให้มีพี่น้อง บอกสักคำว่า เดี๋ยวดูให้ไปพักสักวันเถอะ แต่เราเองนั่นแหละที่มักจะทิ้งไม่ลง และพอนึกถึงการจัดการเตรียมสิ่งต่างๆ ไว้ให้ เพื่อสะดวกสบาย ของพี่น้องที่มาดูแลแทน เฮ้อ! อย่าไปเลย เพราะการตระเตรียมไว้เหนื่อยกว่าอยู่ แถมเวลาไปข้างนอก ใจก็จะพะว้าพะวังอยู่กับคนทางบ้าน ระหว่างดูแลพี่ชาย คุณพ่อ หรือคุณแม่ก็ตาม ได้จ้างคนมาช่วยดูเป็นพัก ๆ บางคนรับผิดชอบดี มีเมตตา กับคนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ช่วยผ่อนแรงเราได้มาก บางคนไม่รับผิดชอบเลย เราต้องมารับภาระหนักกว่าเดิม เวลาไปข้างนอก สั่งอะไรก็ตอบค่ะหมด พอกลับมางานมันฟ้อง ว่าไม่ดูแลดีเท่าที่รับปาก เพราะมัวแต่ดูทีวี ผ้าอ้อมเปียก สมควรเปลี่ยนไปแล้วสองรอบ ยังไม่ได้เปลี่ยน หรือยังไม่ได้ทำอะไรให้เลยตั้งแต่เราออกจากบ้านไป ทั้งดูแลคนไข้ ช่วยพลิกตะแคง หรืองานบ้าน บางทีแทบขอร้อง ซึ่งก็ทำให้บ้างไม่ทำบ้าง เจอหลายครั้งเข้า เลยตั้งใจว่าถ้าจ้างคน แล้วทำให้หนักใจเกินครึ่งก็จะไม่จ้าง ยอมเหนื่อยดีกว่า การมีผู้ช่วยไม่ได้เบาแรงไปทุกครั้ง หลายครั้งกลับยิ่งต้องดูแลมากขึ้นอีก

ไปโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องเล็ก

คุณแม่มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจโต ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ตอนอายุ 40 ปี ก่อนคุณพ่อเสียได้สัก 20 วัน คุณแม่เป็นลมตาตั้ง ครู่ใหญ่ ๆ หัวใจเต้นช้ามาก คิดว่าไม่รอดแล้ว  คุณแม่ต้องอยู่ห้องดูแลพิเศษ ในห้องฉุกเฉิกนานหลายชั่วโมง เพราะหัวใจคุณแม่เต้นไม่เป็นจังหวะ ตอนนั้นคุณแม่มีอาการอัลไซเมอร์แล้ว ร้องขอกลับบ้านอยู่ตลอดเวลา คุณหมอบอกว่า อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เราเข้าใจว่าเป็นเครื่องที่พกติดตัวได้ ไม่นึกว่าต้องผ่าตัดฝังไว้ในร่างกาย เป็นการผ่าตัด ที่คุณแม่ทรมานมาก ต้องนอนอยู่เฉย ๆ นานหลายสัปดาห์ ดิฉันพยายามทุกวิธี เพื่อช่วยให้คุณแม่สบายใจ นำของใช้ประจำ ไปโรงพยาบาลด้วย ทั้งปลอกหมอน ผ้าห่ม ถ้วยน้ำ รูปภาพ และที่ขาดไม่ได้ คือ ตุ๊กตาตัวที่น้องสาวให้มา คุณแม่ไม่ยอมให้ห่างตัวเลย ถ้าเห็นตุ๊กตาตัวนี้ จะอารมณ์ดีขึ้นมาทันที

ภายในเดือนเดียวกัน คุณแม่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินถึง 3 ครั้ง มีครั้งหนึ่ง คุณหมอตรวจไม่พบ ว่าเป็นอะไร แนะนำให้ลองไปหาหมอ เกี่ยวกับระบบประสาท พี่น้องของเราพอรู้ว่า จะพาคุณแม่ไปหาหมอระบบประสาท โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นโรคจิต ทำไมจึงต้องไปหาหมอโรคประสาท ยิ่งพอได้ยามาทาน  คุณแม่วุ่นวายใหญ่ ไม่มีลูกคนไหน สนับสนุนให้ไปรักษาอีกเลย คุณหมอคนเก่าไปต่างประเทศ เราเองก็กลัวว่า คุณหมอคนใหม่จะลองยาใหม่อีก เมื่อไม่ทานยา คุณแม่กลับอาการดีเหมือนปกติ และไม่ได้พาไปหาหมอระบบประสาทอีก จากนั้นไม่นานเห็นว่าคุณแม่ออกอาการแปลกชัดมาก เหมือนเด็กติดพี่เลี้ยง ไม่ยอมให้เราไปไหน คอยเดินตามแจ ไปไหนแค่ไม่นาน พอเห็นหน้าก็จะกวักมือเรียก เหมือนเด็กที่ถูกทิ้งให้อยู่ลำพัง ทำเหมือนจากกันไป เวลาเราเดินอยู่ในบ้าน ถ้าเดินผ่านจะจับมือเราไว้ บอกให้แม่ไปด้วย แล้วลุกขึ้นเดินตาม บางทีต้องส่งเสียงพูดตลอด ให้รู้ว่าเรายังอยู่ในห้องน้ำ เลยไม่ค่อยอยากเข้าห้องน้ำ เพราะฉะนั้นทุกครั้ง ที่คุณแม่เข้าห้องน้ำ ก็จะถือโอกาสเข้าด้วย โดยให้คุณแม่ยืนหันหน้าไปทางอื่น

เรื่องทำฟันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์

ดิฉันสังเกตว่า หลังแปรงฟันแล้ว คุณแม่ยังมีกลิ่นปาก คุณหมอใกล้บ้านที่เคยทำประจำ แนะนำให้ไปโรงพยาบาล เพราะคุณแม่ทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ และมีโรคประจำตัวด้วย
หากมีอะไรฉุกเฉิน ไปโรงพยาบาลใหญ่ดีกว่า แต่ดิฉันรู้ว่าต้องเป็นเรื่องยาก เพราะต้องพาไปตรวจ รอนาน คุณแม่ไม่ค่อยร่วมมือ หรือทำตามคำสั่งก็ไม่ได้ ก่อนถอนฟัน ต้องติดต่อคุณหมอรักษาหัวใจก่อน เพื่องดยาละลายลิ่มเลือด พี่ ๆ น้อง ๆ บอกว่าคุณแม่อายุป่านนี้ จะถอนฟันไหวหรือ อ้าวแล้วจะให้ปวดอยู่แบบนี้หรือ เวลาปวดก็ทรมาน ลูกคนหนึ่งถามคุณแม่ว่า จะถอนฟันมั้ย คุณแม่บอกไม่ถอน พอได้ยินคำตอบ ก็หันมาบอกเราทันทีว่า “เห็นมั้ยคุณแม่ไม่ถอนหรอก”

บางทีความรัก ก็ทำให้ไม่มีเหตุผลเอาดื้อๆ แต่เราตัดสินใจแล้วว่า ต้องพาคุณแม่ไปถอนฟันจนได้ สงสารแต่คุณหมอ คุณพยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ถ่ายเอ็กซเรย์ ที่วุ่นกับคุณแม่ไปทั้งห้อง เพราะสื่อสารกันไม่ได้ ยอมรับว่าเก่งกันจริง ๆ และมากกว่าความเก่ง คือ มีความตั้งใจรักษา ทั้งรู้สึกทึ่ง และขอบคุณในหัวใจของเรา วันไปถอนฟัน พยายามให้คุณแม่พักผ่อนเต็มที่ คุณหมอทำให้ตื่นเต้น เหมือนไม่กล้าถอน เพราะอายุมากแล้ว และอันตราย เพราะเป็นฟันกราม คุณแม่มีโรคประจำตัว แล้วยังสื่อสารลำบาก หากเกิดอะไรขึ้นมา บอกคุณหมอว่าเข้าใจ แต่ปล่อยให้คุณแม่ปวดอยู่อย่างนี้ไม่ไหว ถ้าฟันอักเสบ ก็มีผลกับหัวใจอยู่ดี คุณหมอ 3 – 4 ท่าน รายรอบคุณแม่ ในที่สุดก็ถอนฟันสำเร็จ แผลหายวันหายคืน ไปตรวจฟันอีกที แผลติดดีมาก คุณหมอชมกันใหญ่ ส่วนคุณแม่ไม่สนใจคำชม จะกลับบ้านท่าเดียว ดูคุณหมอสบายใจ ที่รักษาเคสยาก ๆ ได้ ดิฉันเองก็สบายใจ ยิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมด

ยามฉุกเฉิน...อำนวยความสะดวก หรือซ้ำเติม

วันหนึ่งที่คุณแม่ไม่สบายมาก เป็นวันที่ทุกอย่างประเดประดัง เข้ามาพร้อม ๆ กัน วันนั้นคุณแม่มีอาการจุกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหงื่อแตก ใจสั่น ดิฉันตัดสินใจ โทรเรียกรถพยาบาล บริการแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่รถบอกว่า เขาไปส่งเฉพาะโรงพยาบาล ที่เขากำหนดเท่านั้น ถ้าไม่ส่งโรงพยาบาลนั้น เราต้องจ้างรถของที่อื่นที่แพงกว่า เจ้าหน้าที่ให้น้ำเกลือไหลเข้าเส้นเร็วมาก ดิฉันบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้อันตราย เพราะคุณแม่เป็นโรคหัวใจโตอยู่ จึงค่อยลดความเร็วของน้ำเกลือลง
ดิฉันขอร้องว่า พาคนไข้ไปรักษาที่ประจำได้ไหม เขาบอกควรไปโรงพยาบาลที่ เขาบอกก่อน เพราะอาการไม่ดี และอยู่ในเขตที่เขาบริการ บอกกับเขาว่าที่ใหม่หมอไม่รู้จักคนไข้มาก่อน  ไม่มีประวัติการรักษาคงลำบาก ถ้าต้องเริ่มซักประวัติกันใหม่   ครั้งก่อนยังไปส่งเราได้เลย แต่เขาก็พาไปโรงพยาบาลที่เขาต้องการอยู่ดี

ดิฉันต้องนึก ทวนประวัติของคุณแม่ซ้ำ ๆ เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็น กับหมออยู่นาน มีการตรวจเลือด และตรวจอีกหลายอย่าง ที่สุดก็จบด้วยการบอกว่า ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิม เพราะที่นี่ไม่มีหมอเฉพาะทาง และไม่มีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ เวลานั้นโกรธจนตัวสั่น

กว่าเราจะติดต่อรถใหม่ได้ ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ดิฉันน้ำตาซึม บอกกับคุณแม่ว่าจะพาคุณแม่ไปเอง เวลานั้นรู้ว่าคุณแม่คงเหนื่อย และทรมานมาก เพราะตั้งแต่ตอนอยู่ในห้องฉุกเฉิน คุณแม่ไม่ได้นอนนิ่ง ๆ ผุดลุกผุดนั่งอยู่ตลอดเวลา ดิฉันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ด้วย แล้วยังต้องเหนื่อย กับการเดินทาง ไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง  ระหว่างทางนับเงินแล้ว ไม่พอจ่ายค่ารถ ต้องโทรบอกพี่ให้มาช่วยจ่ายสตางค์ พี่ถามว่า ทำไมไม่พามารักษาที่เดิมตั้งแต่แรก... จุกจนอธิบายไม่ออกเลย

กำลังใจของเรา

ในยามที่เหนื่อยล้า ดิฉันรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ให้รับภาระหนักหน่วงอยู่เพียงลำพัง ในหัวมีแต่ความคิดด้านลบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในวันที่อารมณ์เหล่านั้นผ่านพันไป ยามจิตใจแจ่มใส  ดิฉันก็ทราบดีว่า ไม่ได้โดดเดี่ยวถึงเพียงนั้น ยังมีพี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยดูแลประคับประคองอยู่ เพียงแต่เขาทำหน้าที่ต่างจากเราเท่านั้นเอง

เมื่อได้ทบทวนเรื่องเก่า ๆ ที่ผ่านมา ดิฉันทราบดีว่าได้รับกำลังใจ จากพี่น้องหลายต่อหลายครั้ง เวลามีคนมาร่วมแก้ปัญหา มาช่วยแบกภาระให้บ้าง ดิฉันรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก อยากขอบใจพี่น้อง แทนคุณแม่ทุกครั้ง ที่เขาได้ช่วยทำอะไรสักอย่างก็ตาม ดิฉันตระหนักดี ว่าพี่น้องก็มีภาระมากอยู่แล้ว เรื่องเวลาอาจไม่สามารถให้ได้เต็มที่ แต่ก็ได้มอบด้านอื่น ๆ ทดแทนให้ คุณแม่จะยอมอาบน้ำง่ายขึ้น ถ้ามีสิ่งที่ชอบมาดึงความสนใจ น้องชายอุตส่าห์ หาสบู่กลิ่นที่คุณแม่เคยใช้ตอนสาว ๆ มาให้ เครื่องทำน้ำอุ่นเครื่องเดิมร้อนจัดเกินไป จนใช้เปิดฝักบัวอาบไม่ได้ ก็มาเปลี่ยนให้ แล้วช่วยเปลี่ยนฝักบัว ที่มีสายยาวกว่าเดิม น้ำไหลนิ่มกว่าเก่า

เรื่องใหญ่อย่างเรื่องของอนาคต พี่คนกลางพาไปดูที่ เพื่อซื้อไว้ปลูกบ้านยามแก่ชรา  บอกกับดิฉันว่า หมดภาระคุณพ่อคุณแม่แล้ว ให้มาอยู่ด้วยกัน หรือเรื่องการเงินภายในบ้าน ทุกคนไว้ใจให้ดูแล ไม่เคยขอดูรายการจ่าย ไม่เคยถามว่าใช้เงินอย่างไร  น้องชายยังบอกว่า ถ้าไม่พอให้บอก ดิฉันใช้เงินที่ทุกคนมอบให้ และเงินในธนาคารของคุณแม่ เพื่อจุดประสงค์เดียว คือ ทำให้คุณแม่มีความสุข ความสบายเท่านั้น พยายามจำกัดจำเขี่ยให้พอ ในแต่ละเดือน ถึงจะไม่พอ ก็เอาเงินเก็บของตัวเองมาใช้จนหมด  จนหมดจริง ๆ นั่นแหละ จำเป็นมาก จึงเอ่ยปากกับน้องกับพี่ ซึ่งก็ให้ความช่วยเหลือมาตลอด

คนที่รับภาระดูแลอย่างเรา ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย บางครั้งเรื่องเล็ก ๆ ก็ทำให้เราซาบซึ้งใจแล้ว ขอให้นึกถึงเราบ้าง วันที่พี่ตั้งใจพาไปทานข้าวลำพังสบาย ๆ สักมื้อ ละมือจากการดูแลคุณแม่กับพี่บ้าง หรือช่วยป้อนข้าวคุณแม่แทน ให้เรามีเวลาพัก หรือวันที่น้องชายเอาใจใส่เรา ดูแลเราในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ชงกาแฟมาให้กาแฟแก้วนั้น ช่างเป็นกาแฟกลิ่นหอม รสชาติอร่อยที่สุดสำหรับพี่สาวคนนี้ ความอบอุ่นจากพี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยสร้างพลังใจ ให้ดิฉันทำหน้าที่ของตัวเอง ให้ดีที่สุดต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

ถึงคราวต้องลาจาก

อาการของคุณแม่ในระยะสุดท้าย บ่งบอกว่าท่านใกล้จะจากพวกเราไปแล้ว ความไม่เข้าใจในโรคอัลไซเมอร์ ความไม่เข้าใจ ในสิ่งที่ดิฉันจัดการเพื่อคุณแม่ ดิฉันค่อย ๆ เข้าใจพี่น้องว่าแท้จริงแล้วลึก ๆ นั้น พวกเขาคงยากจะยอมรับมากกว่าจะไม่เข้าใจ
เมื่อจวนถึงวาระของคุณแม่ ดิฉันบอกให้พี่น้องกราบลา คุณแม่ ลูกหลานเข้ามากราบลาทีละคน น้องชายกราบเป็นคนสุดท้าย และบอกข้างหูคุณแม่ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรนะ น้องชายคนที่เป็นบาทหลวง กับพี่สาวมาสวดข้างเตียงพร้อมกันกับดิฉัน และผู้ช่วยดูแลคุณแม่ในค่ำวันเดียวกันนั้น

นี่เป็นภาพวันสุดท้าย ที่พี่น้องทุกคนเข้าใจดี ถึงภาวะแห่งโรคที่คุณแม่เป็น แต่เมื่อเวลามาถึงจริง ๆ พี่สาวดิฉันทำใจรับได้ยาก ดิฉันบอกคุณแม่ในใจว่า ทุกคนรักคุณแม่นะ ไม่อยากให้คุณแม่ไปเลย คุณแม่จากพวกเราไปหาพระนะคะ วันรุ่งขึ้นตอนประมาณตี 3 คุณแม่หายใจลำบากเต็มที เราสวดบอกกับพระว่า รับคุณแม่ไปอยู่กับพระองค์เถิด คุณแม่เหนื่อยมามากจริง ๆ ถ้าคุณแม่จากเราไปแล้ว เราต้องรู้สึกเศร้าเสียใจ เหมือนตอนสูญเสียคุณพ่อเราก็ยอม ดีกว่าเห็นคุณแม่หายใจลำบากเช่นนี้ ดิฉันกระซิบข้างหูเบา ๆ บอกคุณแม่ทั้งน้ำตา พยายามไม่ให้มันไหล ไปโดนตัวคุณแม่ คุณแม่จะได้ไม่ต้องรับรู้ ถึงความทุกข์ในใจของเรา

เมื่อคุณแม่แหงนหน้าขึ้น หายใจเฮือกสุดท้าย เหมือนกับบอกลา แล้วหลับไปตลอดกาล ในทันทีนั้นคุณแม่ดูผ่อนคลาย คิ้วที่เคยขมวดเป็นเกลียวคลายออก ใบหน้าระบายยิ้ม เหมือนคุณแม่คนเดิม ที่เราคุ้นเคยมานาน ความตายทำให้คุณแม่พ้นจากความทุกข์ทรมาน ท่านนอนนิ่งเหมือนหลับ กลับดูเบาสบายกว่า เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ หลับเถิดนะคะ ไปหาพระเจ้าเพื่อรับรางวัล ที่คุณแม่กระทำความดีมาตลอดชีวิต เวลานั้นดิฉันรู้สึกถึงความ สงบ หวนระลึกถึงคืนวันที่ผ่านมา ว่าเราได้มอบสิ่งดี ๆเพียงพอให้คุณแม่ เต็มความสามารถของเรา ท่านได้อยู่ให้ลูก ๆ ได้มีโอกาสกราบลา และ ตอบแทนพระคุณจน...วาระสุดท้าย

ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย และน้ำตาที่ประสบมานั้น
ดิฉันพบว่ามี สิ่งงดงาม ที่เรียกว่า “ความรัก” และ “ความสุข”

ถึงแม้ว่าน้อยครั้งที่จะสัมผัส ถึงความสุขก็ตาม แต่สำหรับดิฉันแล้วทั้งสองสิ่ง รายล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเสมอ ทั้งในยามที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ หรือจากไปแล้วก็ตาม ใจของเราเกิดความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเมื่อระลึกถึง
ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย และน้ำตาที่ประสบมานั้น
ดิฉันพบว่ามี สิ่งงดงาม ที่เรียกว่า “ความรัก” และ “ความสุข”
เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
ปรับใจยอมรับ อัลไซเมอร์ ของแม่
คุณแม่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มา 8 ปีแล้ว เมื่อแรกเริ่มมีอาการทางบ้านไม่ทราบความผิดปกติเลย ...
ครอบครัว คือยารักษาใจ
คุณแม่ของผมเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2492 ท่านเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถสูงคนหนึ่ง ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เคลื่อนไหวลำบาก ต้องการการดูแล ...
การกอดช่วยผู้มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจสูญเสียความจำและความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ...
วางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงในวัยสูงอายุ
ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ...
เยียวยาสมองเสื่อมด้วยหัวใจ
การดูแลพ่อสมองเสื่อมในขณะที่ลูกป่วยด้วยโรคเอสแอลอี ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.