ประเด็นที่ต้องระวังในเรื่องการขับรถ
เหตุใดผู้มีภาวะสมองเสื่อมจึงไม่ควรขับรถโดยเด็ดขาด
ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดไม่ควรให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมขับรถโดยเด็ดขาด
แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายห้าม หรือผู้มีภาวะสมองเสื่อมหลายรายจะยังสามารถขับรถเดินทางไปไหนเองได้ก็ตาม แต่อาการของภาวะสมองเสื่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถบนท้องถนน สาเหตุเพราะผู้มีภาวะสมองเสื่อมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความเสื่อมสภาพของร่างกาย คือ กำลังกล้ามเนื้อลดลง ความว่องไวในการตอบสนองต่อเหตุการณ์คับขันช้าลง การทำงานระหว่างอวัยวะต่างๆ ให้ประสานกันได้ไม่ดี และสมาธิลดลงด้วย นอกจากนี้ร่างกายยังอ่อนล้าง่ายถ้าต้องขับรถเป็นเวลานาน ๆ กรมการขนส่งทางบกเผย 9 อาการของผู้สูงวัยต่อไปนี้ ให้หลีกเลี่ยงอย่าเสี่ยงขับรถ ได้แก่ โรคตาชนิดต่าง ๆ โรคสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน โรคลมชัก/ลมบ้าหมู โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่าง ๆ โรคเบาหวาน โรคอื่น ๆ และภาวะทางการแพทย์หรือการบาดเจ็บชั่วคราว รวมถึงการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลทำให้ง่วงซึม ล้วนมีผลต่อการขับขี่ให้ปลอดภัย อาจเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายได้
อาการของผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่มีผลในการขับขี่
ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดอาการหลงลืม จดจำเส้นทางไม่ค่อยชัดเจน ขับรถหลงทาง เลี้ยวผิดเลี้ยวถูก หรือแขนขาไม่มีแรงที่จะขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ได้ไม่คล่องแคล่ว ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง การตัดสินใจและสมาธิไม่ดี ซึ่งส่งผลทันทีต่อสมรรถนะในการขับขี่ อาจเกิดอันตรายต่อตนเองและเพื่อนร่วมทางผู้ใช้รถใช้ถนนเมื่อใดหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง อีกทั้งได้รับอันตรายมากกว่าและโอกาสถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่า ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยแก่ทุกชีวิตบนท้องถนน ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจึงไม่ควรเสี่ยงขับรถโดยเด็ดขาด เมื่อต้องการเดินทางควรมีคนขับให้หรือเดินทางโดยใช้บริการขนส่งสาธารณะจะปลอดภัยกว่า
ที่มา: สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก
บทความที่เกี่ยวข้อง