ปัญหาและแนวทางการรับมือด้านพฤติกรรม อารมณ์ และการรู้คิด

อาการเจ้าปัญหาพาเครียด
อาการเจ้าปัญหาพาเครียด

อาการเจ้าปัญหาพาเครียด

1. ปัญหาถามซ้ำซาก พูดซ้ำ ๆ วนเรื่องเก่า

การดูแล
– เออออไป ไม่ขัด ไม่ย้ำว่าเคยตอบไปแล้ว เพราะทำให้ท่านเสียความมั่นใจ หรือคิดว่าเราโกหก เพราะในความทรงจำท่าน ท่านไม่รู้ข้อมูลที่ถามมาจริง ๆ
– เบี่ยงเบนความสนใจ ชวนคุยหรือทำกิจกรรมอื่น
– ถามถึงคนใกล้ชิดที่ล่วงลับไปแล้ว บอกไปว่าเดี๋ยวมา หรือไปธุระ อย่าพยายามอธิบายย้ำความจริง เพราะทุกครั้งที่ท่านทราบว่าคนที่รักเสียไปแล้ว จะเป็นเรื่องใหม่ เสียใจใหม่ทุกครั้ง

2. ปัญหาเอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้จักรอ ไม่มีเหตุผล พูดไม่รู้เรื่อง

การดูแล
– ไม่เอาชนะ เลี่ยงการทะเลาะ
– หากไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจวัตร ยอมตามไปก่อน อารมณ์ดีขึ้นค่อยชวนใหม่
– เบี่ยงเบนความสนใจอย่างมีศิลปะ ค่อยชวนคุยเรื่องอื่น ชวนทำกิจกรรมที่ชอบ
– อย่าพยายามอธิบายเหตุผล
– ทำความเข้าใจ สังเกตภาษา ท่าทาง ว่าผู้มีภาวะสมองเสื่อมต้องการสื่ออะไร


3. วุ่นวายพลุ่งพล่าน เดินไปมาทั่วบ้าน รื้อค้นของในตู้ ร้องอยากกลับบ้านทั้งที่อยู่บ้านตัวเอง และพยายามจะออกนอกบ้านกลางดึก อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น มีความเจ็บปวดในร่างกาย ท้องผูก หิว รู้สึกไม่ปลอดภัย มีเรื่องกังวลค้างในใจ หรือมีพื้นนิสัยเดิมอยู่ เช่น เป็นคนที่ต้องออกนอกบ้านไปโน่นนี่ทุกวัน

การดูแล
– หาสาเหตุแล้วแก้ให้ตรงจุด
– ให้อยู่ในที่ ๆ สงบ เลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นความวุ่นวาย ก้าวร้าว เช่น ปิดผ้าม่านจะได้ไม่เห็นประตู ไม่พยายามออกนอกบ้านกลางดึก
– ชวนทำกิจกรรมที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมชอบ เบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้ลืม
– เลี่ยงการโต้เถียงกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
– ระวังการใช้ความรุนแรง ทั้งกายและวาจา ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะต่อต้านและมีอาการรุนแรงขึ้น
– ดูจังหวะแล้วกอด อาจช่วยให้อาการสงบลงได้


4. ก้าวร้าว โมโหร้าย พูดจาหยาบคาย ทำร้ายร่างกาย อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เจ็บป่วยไม่สบายตัว บอกสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ถูกขัดใจ รู้สึกว่าจะถูกทำร้าย หรือแสดงพื้นนิสัยเดิม เช่น เป็นสาวโสดแต่ถูกผู้ดูแลจับแก้ผ้าอาบน้ำก็ต่อสู้ขัดขืน เป็นต้น

การดูแล
– หาสาเหตุแล้วแก้ให้ตรงจุด
– เลี่ยงการอธิบายเหตุผล
– เลี่ยงการบังคับ ห้าม หรือเร่ง เบี่ยงเบนให้ลืมแล้วค่อยวกกลับมาทำสิ่งที่ผู้ดูแลต้องการให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมทำ เช่น อาบน้ำ กินข้าว
– พยายามจัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา สร้างความคุ้นเคยไม่ต่อต้าน ไม่ต้องเป๊ะมาก
– ถ้าผู้ดูแลรู้สึกโกรธ ควรแยกตัวสงบสติอารมณ์ก่อน ไม่ปักหลักทะเลาะกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
– ให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมสงบ สบาย คนไม่พลุกพล่าน
– ใช้ของที่ชอบ ดึงอารมณ์ให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมสงบลง เช่น ของใช้ประจำตัว เพลง หรืออาหารที่ชอบ
– ผู้ดูแลต้องให้เกียรติในความเป็นตัวตนของผู้มีภาวะสมองเสื่อม แม้จะต้องให้ช่วยเหลือในกิจวัตรง่าย ๆ



5. อาการทางจิตเวช เช่น ประสาทหลอน หลงผิด หูแว่ว เห็นภาพหลอน คิดว่ามีคนขโมยของ ขโมยเงิน คิดว่ามีคนอื่นอยู่ในบ้าน หวาดระแวงคิดว่าคนจะทำร้าย คิดว่าสามี-ภรรยานอกใจ อาจเกิดจากมีไข้ ซึม ท้องผูก ปัสสาวะน้อย

การดูแล
– หาสาเหตุแล้วแก้ไขให้ตรงจุด
– ปลอบโยนหากผู้มีภาวะสมองเสื่อมกลัว
– ควบคุมสติอย่ากลัวตามไปด้วย
– เลี่ยงรายการโทรทัศน์ที่มีความรุนแรงทางอารมณ์ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ไม่ดี
– เบี่ยงเบนความสนใจอย่างแนบเนียน พาเข้าประเด็นสนทนาอื่น พาไปเดินเล่น
– เลี่ยงการทะเลาะ เลี่ยงอธิบายเหตุผลหรือความจริง
– ในบ้านควรมีแสงสว่างให้มองเห็นชัด มีแสงแดดส่องถึง
– ตรวจดูว่ามีสิ่งทำให้เห็นภาพหลอน เช่น เสื้อผ้าที่แขวนไว้ พุ่มไม้นอกหน้าต่าง ผ้าม่าน ฯลฯ
– ปรับบ้านให้ปลอดภัย ไม่มีอุปกรณ์อันตราย
– ไม่มีเสียงรบกวนมากเกินไป
– เลี่ยงการจัดบ้านหรือสิ่งแวดล้อมใหม่
– พูดคุยเสียงดังฟังชัด ไม่กระซิบกระซาบกันต่อหน้าผู้มีภาวะสมองเสื่อม ทำให้ท่านรู้สึกว่าโดนนินทา
– ห้ามใจ ไม่ใช้คำพูดหรือการกระทำรุนแรง
– อย่าด่วนสรุปว่าทุกสิ่งที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเล่าไม่จริงเสมอไป ควรตรวจสอบ

6. ซ่อนของ

การดูแล
– จัดระเบียบบ้านตนเอง สิ่งของที่มีโอกาสถูกนำไปซ่อน เช่น กุญแจบ้าน โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ รีโมท หาที่เก็บให้พ้นสายตา
– จัดหากล่องหรือตู้เก็บของส่วนตัวผู้มีภาวะสมองเสื่อม
– สังเกตผู้มีภาวะสมองเสื่อมชอบซ่อนของตรงไหน ยกให้เป็นที่เก็บของประจำของท่าน
– เตรียมของสำรองไว้เผื่อหาของไม่พบ

7. ไม่รู้จัก ทำไม่เป็นแม้แต่เรื่องธรรมดาที่เคยทำได้ เช่น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้าน ทำกับข้าวแล้วกินไม่ได้ ขับรถจำกฎจราจรไม่ได้ แต่ก็ยังอยากทำตามความเคยชิน

การดูแล ดูตามความสามารถของผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นหลัก

ยังพอทำอะไรเองได้ อ่านหนังสือออก เข้าใจสัญลักษณ์
– เขียนป้ายติดของใช้เพื่อให้อ่านเห็นชัดเจน เช่น ขวดสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฯลฯ
– เขียนป้ายบอกวิธีใช้และข้อห้ามง่าย ๆ สั้น ๆ เช่น อย่าลืมปิดแก๊ส ห้ามใส่ช้อนส้อมในไมโครเวฟ

อ่านไม่ได้ ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ไม่สนใจอ่าน
– ติดภาพแทนข้อความ เช่น ติดภาพสระผมบนขวดแชมพู ติดภาพหัวกะโหลกไขว้บนขวดสารเคมี ติดภาพขั้นตอนการใช้งานเครื่องซักผ้า
– เก็บสิ่งอันตรายไว้ในที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเข้าไม่ถึง ล็อกกุญแจ ล็อกห้อง
– เก็บกุญแจรถ บอกว่ารถเสีย แต่การขอให้เลิกขับรถเป็นเรื่องยาก อาจต้องใช้ไม้อ่อน อ้างถึงอันตรายจากคนอื่นบนท้องถนนแทนที่จะบอกว่าผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่มีความสามารถ

8. พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะ แก้ผ้าในที่สาธารณะ จับอวัยวะเพศคนอื่น ไล่ปล้ำผู้ดูแล อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมพฤติกรรมเสียไป หรือ ร้อน ปวดปัสสาวะ คัน เจ็บ ฯลฯ

การดูแล
– หาสาเหตุและแก้ไขให้ตรงจุด
– พาไปห้องนอนให้อยู่คนเดียวเพื่อปลดเปลื้อง
– ถ้ามีพฤติกรรมคุกคาม ควรมีผู้ดูแลมากกว่า 1 คน หาผู้ดูแลที่ไม่ใช่สเป็กที่ถูกใจ
– เลี่ยงการประณาม ตำหนิรุนแรง
– ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาช่วย
*พยายามมองที่คุณค่าในตัวผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เคยเป็น ทำความเข้าใจว่าการกระทำผิดแปลก ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เป็นเพราะโรคทำร้ายสมองให้เสื่อมลง จะช่วยให้เปิดใจยอมรับและเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยง่ายขึ้น
ยืดหยุ่น ใส่ใจ ปลอดภัย ไม่เอาชนะ
ถ้าพบว่าคนในครอบครัวเริ่มมีอาการสมองเสื่อม ควรเตรียมตัวเตรียมใจ เพราะอาการและการดูแลต่างจากโรคอื่น
การเพิ่มสมรรถนะและวิธีการผ่อนคลายร่างกาย
ผู้ดูแลอาจมีความเหนื่อยล้าสะสม เครียดกับอาการผู้มีภาวะสมองเสื่อม ปัญหาขาดรายได้ กินไม่เป็นเวลา ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
6 ข้อควรระวังหนาวนี้
หน้าหนาวควรระวังสุขภาพของผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นพิเศษ ...
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงคุณก็ลดเองได้
ส่วนใหญ่ของไขมันที่เห็นด้วยตาเปล่าในอาหาร คือ ไตรกลีเซอไรด์ อาหารมัน ...
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เกิดจากอะไรบ้าง
กลุ่มโรคไม่ติดต่อส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิต
อุปกรณ์ดูแลช่องปาก
เมื่ออาการผู้มีภาวะสมองเสื่อมมาถึงระยะที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.