ช่วยด้วย ! ผู้ป่วยด่าหยาบคาย
พฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความเครียดให้กับผู้ดูแลนั่นก็คือ ผู้ป่วยอาละวาดด่าว่าหยาบคาย ทั้งที่บางท่านเคยเป็นคนสุภาพเรียบร้อยมาก่อน น่าเห็นใจผู้ดูแลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานการณที่ทำใจไม่ได้ง่ายนัก จึงขอแนะนำหลากหลายวิธีร่วมกันเพื่อช่วยลดปัญหาให้เบาบาลง
1. หาสาเหตุดูก่อน
เวลาผู้ป่วยเริ่มแสดงอารมณ์โกรธ ลองจดบันทึกว่าเกิดขึ้นช่วงเวลาไหน กี่โมง ก่อนหน้านั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง บางครั้งหากเป็นช่วงเวลาเดิม ๆ อาจเกิดจาก หิวข้าว กระหายน้ำ ใกล้ถึงเวลาอาจหาเครื่องดื่มหรือของว่างให้รับประทาน หรือถ้าสาเหตุจากผู้ป่วยเหนื่อย ให้ผู้ป่วยพักสบาย ๆ ถ้ายังไม่ได้ผลลองหาสาเหตุอื่นแล้วปรับวิธีแก้ไขดู
2. ลดตัวกระตุ้นสร้างบรรยากาศสงบ
กำจัดสิ่งที่อาจจะรบกวนผู้ป่วย เช่น
- สภาพแวดล้อม : เสียงดัง ร้อน ในห้องมีกระจกผู้ป่วยมองเห็นตัวเองเป็นคนแปลกหน้าแล้วกบัวหรือโกรธ หาของไม่เจอ
- เจ็บป่วย : มีอาการป่วย ติดเชื้อ ความเจ็บปวดทางร่างกาย ปวดตัว ปวดข้อ บาดเจ็บ นั่งหรือนอนไม่สบายตัว
- ความกลัวความวิตกกังวล : กลัวสิ่งของ กลัวถูกทอดทิ้ง กล้วผี
- ความรู้สึกอึดอัดใจ : ถูกบังคับ ถูกห้าม ตัดสินใจไม่ได้ ทำในสิ่งที่ซับซ้อนเกินความสามารถ บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไรหรือต้องการอะไร
เลี่ยงสิ่งรบกวน เช่น เสียงดัง ปิดโทรทัศน์ วิทยุ ให้คนอื่นออกไปจากห้องก่อน ผู้ดูแลเองสูดหายใจลึกๆ ช้า ๆ ให้ตัวเองผ่อนคลาย หรือเดินเลี่ยงออกไปจากห้องชั่วครู่เพื่อสงบจิตใจค่อยกลับมาหาผู้ป่วย ผู้ดูแลอารมณ์มั่นคงแล้วผู้ป่วยก็จะมีแนวโน้มว่าอารมณ์สงบลงตาม หากกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นตัวกระตุ้นให้พักไว้ก่อน สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เช่น เปิดเพลงเพราะๆ ฟังเบาๆ ชวนกินของว่างหรือเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยชอบ นวด ดูตามสถานการณ์ว่าเหมาะหรือไม่
3. ทำความเข้าใจ
สาเหตุของการพูดจาหยาบคายด่าทอนั้นมาจากโรคก่อความเสียหายให้กับสมอง ผู้ป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้และมิได้ตั้งใจทำเช่นนั้น และเมื่อเวลาผ่านไปอาการของโรคก็จะเปลี่ยนไปในที่สุด ถึงแม้ว่าจะเข้าใจแล้วอาจเป็นสิ่งที่ทำใจยาก แต่เมื่อพยายามทำความเข้าใจจะช่วยให้ผู้ดูแลใจเย็นลง ทำหูทวนลมบ้างไม่ต้องเปิดรับทุกขณะ
เลี่ยงการปะทะ เมื่อผู้ป่วยเริ่มเกรี้ยวกราด ลองเบี่ยงเบนความสนใจชวนคุยเรื่องอื่น หาสิ่งที่ชอบมาให้ หรือขอตัวไปทำอย่างอื่น เช่น ไปห้องน้ำ บอกว่ามีคนมาเรียกขอไปดูสักครู่ ฯลฯ
4. ปลอบโยน
อาจปลอบโยนผู้ป่วย แสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ป่วย เอาอกเอาใจ พูดกับผู้ป่วยช้า ๆ น้ำเสียงนุ่มนวล ไม่ใช้เสียงดังหรือเสียงแหลมสูง ใช้ประโยคสั้น ๆ ตรงประเด็น เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารและรู้สึกสบายใจขึ้น บีบนวด การกอดช่วยให้ผู้ป่วยสงบได้แต่ต้องดูสถานการณ์ว่าเหมาะสมหรือยัง
5. ปรึกษาแพทย์
แพทย์อาจปรับยา หรือให้ยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสงบลง และสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ในการดูแล
6. เข้าร่วมกลุ่มผู้ดูแล
กลุ่มผู้ดูแลด้วยกันจะมีความเข้าอกเข้าใจกัน และมีประสบการณ์บางอย่างคล้ายกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยปลอบโยน ช่วยลดความเครียดแล้ว ยังมีทั้งมุมมองและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ สามามรถนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยของเราเองได้อีกด้วย
7. ขอความช่วยเหลือ
จากคนอื่นในครอบครัว เพื่อน จ้างผู้ช่วย นำผู้ป่วยฝากศูนย์ดูแลชั่วคราว เพื่อผู้ดูแลมีโอกาสหยุดพักกายพักใจบ้าง ก็จะช่วยลดความเครียดให้กับผู้ดูแล
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความอื่นที่น่าสนใจ
Caregiver Connect