สะสมจนบ้านรกทำอย่างไรดี

สะสมจนบ้านรกทำอย่างไรดี
ผู้ดูแลหลายท่านอาจพบว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมชอบสะสมสิ่งของจนรกรุงรัง บ้านกลายเป็นแหล่งสะสมขยะกองใหญ่ นอกจากผู้ป่วยแล้วผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอาจหมายถึงอาการของ โรคการสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder) ก็เป็นได้ 
ทำความเข้าใจอาการสักนิด
ผู้ป่วยสมองเสื่อมและผู้ที่เป็นโรคสะสมสิ่งของมักจะ…
- ตัดใจทิ้งสิ่งของยากกว่าปกติ เพราะเชื่อว่าของเหล่านั้นมีความสำคัญหรือมีความจำเป็นต้องใช้ 
- เกิดความเครียดวิตกกังวลเมื่อคิดจะทิ้ง ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีคุณค่าหรือราคาใด ๆ ก็ตาม
- ทั้งห้องหรือทั้งบ้านมีแต่กองสิ่งของหรือขยะสะสม 
- มีปัญหาในการวางแผนและการจัดระเบียบ 
- การสะสมมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

*โรคสะสมสิ่งของ นอกจากมีอาการสะสมสิ่งของแล้ว ยังรวมไปถึงอาการนำของไปซ่อน และทำของหายบ่อยจนผิดปกติ 

*ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสะสมของ แนะนำให้พาไปปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการ
ปัญหาที่ตามมา 
- ทำให้ใช้พื้นที่ภายในห้องไม่สะดวกหรือใช้ไม่ได้ และทางเดินคับแคบลงจนเดินไม่สะดวก 
- มีโอกาสสะดุดกองสิ่งของหกล้มหรือบาดเจ็บ 
- มีสัตว์ร้ายหรือสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคมาอาศัยอยู่
- บางรายละสมอาหารหรือเศษอาหารทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค 
- เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ เช่น วางของไว้ใกล้เตาไฟ ปลั๊กไฟ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า
- มีปัญหาในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น 
เคล็ดลับการกำจัดของรก
การจัดการกับของสะสมของผู้ป่วยนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง มีความรักความผูกพันกับสิ่งของเหล่านั้น ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงจะเป็นสิ่งไร้ค่าแล้วยังสร้างปัญหาก็ตาม ผู้ดูแลควรใช้วิธีการที่นุ่มนวล ค่อยเป็นค่อยไป มิฉะนั้นจะเป็นการทำร้ายจิตใจกันและอาจเกิดปัญหาการต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้ป่วย 
ข้อแนะนำมีดังนี้ 
1. ค่อย ๆ ลดจำนวนของสะสมลงทีละน้อย โดยไม่ให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง 
2. จัดการอย่างสม่ำเสมอ 
3. ชวนผู้ป่วยบริจาคสิ่งของ อาจพูดชักชวนว่าเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นที่ขาดแคลน และยังได้บุญ ถ้าไม่รับฟังอย่าฝืนใจ 
4. ถ่ายภาพสิ่งของที่บริจาคเก็บไว้เมื่อถามหานำภาพถ่ายให้ดูว่าบริจาคไปแล้ว หรือใช้การเบี่ยงเบนความสนใจไปยังหัวข้อสนทนา หรือชวนทำกิจกรรมอื่นเพื่อให้ลืม 
5. กำจัดสารเคมี ของมีคม สิ่งของอันตราย อาหารเน่าเสีย สิ่งของที่วางไว้ใกล้เตาไฟ ปลั๊กไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า 
6. ตรวจดูตามตู้ ใต้เตียง ซอกมุมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยอาจนำของไปซุกไว้ และตรวจสิ่งของก่อนทิ้งเพราะอาจซุกของมีค่าปะปนอยู่กับขยะ
7. ปิดล็อกตู้หรือบางห้องเพื่อป้องกันการสะสมเพิ่ม 
8. เลี่ยงการตำหนิ บังคับ เอาชนะ หรือชี้แจงเหตุผลมากจนเกินไป   
9. หากการสะสมของผู้ป่วยไม่ได้สร้างปัญหามากนัก ยังสะสมน้อย ยังมีความปลอดภัย แนะนำให้จัดการปัญหาที่เร่งด่วนกว่าก่อน แล้วค่อยมาจัดการปัญหานี้ภายหลัง 
จัดระเบียบบ้านช่วยลดปัญหาของหาย 
สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มักซ่อนของหรือหาของไม่พบบ่อย ๆ ผู้ดูแลช่วยจัดระเบียบข้าวของภายในบ้านเพื่อช่วยในการหาสิ่งของได้ง่ายขึ้นดังนี้
1. เก็บของในที่เดิมเป็นประจำ  และชวนผู้ป่วยทำตาม ฝึกฝนและบอกผู้ป่วยเป็นประจำ เช่น แขวนกุญแจไว้ใกล้ประตู วางรีโมทไว้ในตะกร้าตรงจุดเดิม พับเสื้อผ้าทั้งชุดวางไว้ในตู้ตรงจุดเดิม เป็นต้น 
2. จัดห้อง ตู้ ลิ้นชัก ให้เป็นระเบียบ ใช้กล่องหรือช่องแบ่งเพื่อช่วยแยกประเภทและช่วยให้หาง่าย 
3. สำหรับผู้ป่วยที่ยังอ่านหนังสือหรือเข้าใจภาพได้ ใช้ข้อความหรือภาพติดหน้าตู้หรือกล่องเพื่อบอกว่าภายในนั้นใส่อะไรไว้
4. ทำสำเนาสิ่งของสำคัญ  เช่น กุญแจ แว่นตา เอกสารสำคัญ  ซื้อเสื้อตัวโปรดหรือของใช้ที่ผู้ป่วยชอบสำรองไว้ เผื่อสูญหายจะได้มีทดแทน
5. เก็บสิ่งของหรือเอกสารสำคัญล็อกใส่กุญแจไว้ ป้องกันผู้ป่วยนำไปซ่อน 
6. เมื่อของหาย ให้นึกถึงบริเวณที่ผู้ป่วยมักนำของไปซ่อน 
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ความดันโลหิตสูงลดลงดีกว่านะ
การลดน้ำหนัก จะทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วย
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
โรคซึมเศร้าจะเป็นโรคที่พบบ่อยว่าในผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับวัยเด็ก ...
กินแล้วบอกไม่ได้กิน
กินแล้วบอกไม่ได้กิน พบบ่อย ๆ ...
ปรับบ้านเพื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.