ผู้ป่วยกล่าวหาว่าขโมยของ

อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ “ผู้ดูแลอยากจะกรี๊ด” นั่นก็คือ ผู้ป่วยสมองเสื่อมกล่าวหาว่าผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวขโมยเงินทองหรือทรัพย์สินมีค่า ผู้ตกเป็นจำเลยอาจตั้งรับไม่ทันจึงรู้สึกโกรธ น้อยอกน้อยใจ เสียความรู้สึก บางบ้านเปิดศึกทะเลาะกันเพราะเชื่อผู้ป่วย จนกระทั่งเป็นถูกกล่าวหาเสียเองจึงค่อยทราบความจริง
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมักจะมีความวิตกกังวล อารมณ์ไม่ดี รู้สึกสูญเสียการควบคุมในชีวิต รวมทั้งมีอาการหลงลืมและสับสน อาจทำให้เกิดความหวาดระแวงและหลงผิดได้ง่าย เมื่อหาของไม่เจอ สมองก็จะตีความว่ามีคนขโมยไป
คนทั่วไปก็มีความคิดในลักษณะนี้ขึ้นมาได้เช่นกันเมื่อของหาย แต่เมื่อลองนึกและพยายามหาจนพบ หรือได้รับคำอธิบายจากคนอื่นว่าไม่ได้นำไปจริง ๆ ก็จะสามารถเข้าใจได้ก็จบเรื่อง
ส่วนผู้ป่วยสมองเสื่อมนั้นจะอยู่ในโลกของตัวเองมากกว่าโลกของความเป็นจริง จึงปักใจเชื่อในความจริงที่สร้างขึ้นมาในสมองของตนเอง
1. ตั้งสติ เตือนตัวเองไว้เสมอว่าพฤติกรรมแปลก ๆ ของผู้ป่วยอาจเป็นอาการหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ป่วย ใจเย็นลงสักนิด ทำความเข้าใจกับอาการของโรค และไม่ลืมให้ความรักความเมตตาต่อผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความโกรธที่มีต่อผู้ป่วยลงไปได้
2. อย่าโต้เถียงหรือพยายามให้เหตุผล เนื่องจากสมองของผู้ป่วยไม่สามารถประมวลผลได้ตามปกติเหมือนก่อน ยิ่งอธิบายยาวหรือโต้เถียงจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
3. สื่อสารเชิงบวก พูดกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ท่าทีสุภาพนุ่มนวล แสดงความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจผู้ป่วย ปลอบโยน หรือช่วยค้นหาสักครู่ไม่ต้องใช้เวลานาน
4. รีบเบี่ยงเบนความสนใจ เนื่องจากผู้ป่วยสมองเสื่อมลืมง่าย อาศัยจุดนี้เป็นประโยชน์ หาสิ่งอื่นหรือกิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ขณะหาของในตู้เสื้อผ้าอาจชวนพับผ้า ชวนเล่นเกม ดูภาพ หาของโปรดมาให้รับประทาน ฯลฯ เพื่อให้ลืมความตั้งใจเดิม
5. หาตัวสำรอง สังเกตดูว่าผู้ป่วยทำของสิ่งไหนหายบ่อย เช่น กระเป๋าสตางค์ กุญแจ ยาดม ฯลฯ เตรียมสำรองไว้เพื่อจะได้หาเจอง่าย
6. สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบขึ้น ลดเสียงดังจากโทรทัศน์ วิทยุ ปิดประตูหรือหน้าต่างลดเสียงดังจากภายนอก เปิดเพลงสบาย ๆ เบา ๆ คลอ ดูอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพื่อให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น บ้านเรามักจะมีปัญหาอากาศร้อน อาจเปิดพัดลมเพิ่ม เปิดแอร์ ช่วยเช็ดตัว ให้จิบเครื่องดื่มเย็น ๆ หรือไอศกรีม ฯลฯ
7. ปรึกษาหารือ กับคนในครอบครัวถึงอาการของผู้ป่วย และปรึกษาเรื่องการจัดการดูแลทรัพย์สินของผู้ป่วย เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาภายในครอบครัว ปรึกษากลุ่มผู้ดูแล หรือปรึกษาแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง