ผู้ดูแลอยากจะกรี๊ด

ผู้ดูแลอยากจะกรี๊ด
การดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม ถึงแม้จะดูแลด้วยความรักความเอาใจใส่ ผู้ดูแลหลายท่านบอกว่าอยากจะขอกรี๊ดบ้างสักที เนื่องจากต้องทำหน้าที่อย่างเหนื่อยหนัก ยาวนาน และต่อเนื่อง น่าเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง จึงต้องการทั้งความเข้าใจ และความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
หนักหนาแค่ไหน
มาดูกันว่าผู้ดูแลต้องแบกรับอะไรไว้บ้าง… 
1. ดูแลผู้ป่วยทุกวันตั้งแต่ลืมตาตื่น เตรียมอาหาร ดูแลการอาบน้ำแปรงฟันสระผม สุขอนามัย ให้ยา พาออกกำลังกาย หากิจกรรมให้ทำ ดูแลความปลอดภัย ฯลฯ แต่ละอย่างมีรายละเอียดจุกจิกมิใช่น้อย 
2. เมื่ออาการสมองเสื่อมมาถึงระยะหนึ่ง จะพูดกันไม่รู้เรื่อง ผู้ป่วยจะต่อต้านการทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้ผู้ดูแลควบคุมอารมณ์ยาก
3. สุขภาพกายใจผู้ดูแลมีปัญหาอยู่แล้ว เช่น แรงน้อยถอยลง ปวดข้อ ในขณะที่ต้องยกหรือพยุงตัวผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง โมโหบ่อยจนความดันขึ้นสูง
4. ไม่มีใครช่วยแบ่งเบา หรือผลัดเปลี่ยน ถึงมีผู้ช่วยก็ลาออกบ่อย
5. ไม่มีเวลาของตัวเอง ไม่ได้ออกไปเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง ไม่มีเวลาหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพตัวเอง แทบไม่มีเวลาพักผ่อน อดนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ 
6. มีปัญหาชีวิตส่วนตัว ปัญหาการเงิน ต้องออกจากงานมาดูแลทำให้รายได้ลดลง หรือต้องทำงานไปด้วยดูแลไปด้วยจึงแบกภาระหนักทั้งสองทาง
อยากกรี๊ดก็กรี๊ดเถอะ
ถ้ารู้สึกทนไม่ไหวขึ้นมา ผู้ดูแลอาจแอบไปกรี๊ดห่างผู้ป่วยสักนิดเพื่อไม่ให้ตกอกตกใจ  แล้วหาวิธีการหรือผู้ช่วยเพื่อลดภาระ จัดสรรสิ่งที่ต้องทำให้ผู้ดูแลเองได้รับการผ่อนคลาย รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีคิด
ปรับความคิด 
 1. ไม่จำเป็นต้องเป๊ะไปทุกอย่าง ปล่อยวางลงบ้าง ยืดหยุ่นให้ผู้ป่วยและตัวเอง
 2. คาดหวังในสิ่งที่มีโอกาสเป็นจริงได้  ลดความคาดหวังสูงๆ
 3. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและตัวผู้ป่วย พฤติกรรมป่วนของผู้ป่วยเกิดจากโรค ไม่ได้มาจากความตั้งใจ 
 4. เปลี่ยนจากการมองในสิ่งที่เป็นทุกข์ มามองในจุดดีที่ทำไป คอยสังเกตว่าใช้เทคนิคดูแลแบบไหนได้ผล จดจำไว้ใช้ 
 5. อย่าจมอยู่กับความรู้สึกผิดหรือคิดลบ เรียนรู้จากความผิดพลาด ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยน
ปรับวิธีทำ
1. พยายามจัดการสิ่งต่างๆ เป็นเวลา ความคุ้นเคยช่วยให้ง่ายทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
2. ลดหรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำลง บางอย่างอาจรวบไว้ด้วยกัน จดเพื่อช่วยเตือนความจำ 
3. พยายามจัดให้มีเวลาว่างสำหรับตัวผู้ดูแลเองได้ผ่อนคลายระหว่างวัน 
4. รูปแบบพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วย เกิดซ้ำๆ หรือในเวลาเดิม ท่าทางที่สื่อถึงการกระทำบางอย่าง ความชอบไม่ชอบเฉพาะตัว สังเกตและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไว้ใช้รับมือ 
5. เตรียมสิ่งที่ผู้ป่วยชอบและเพลิดเพลิน ภาพ หนังสือ โทรทัศน์ อาหารว่าง ผลไม้ที่ผู้ป่วยชอบ 
6. ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อลดสิ่งที่ผู้ดูแลรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ และได้ประโยชน์ไปด้วยกัน เช่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง งานประดิษฐ์ งานฝีมือ  ให้ทำงานบ้านง่ายๆ ด้วยกัน 
7. จัดการป้องกันสิ่งที่อาจเกิดปัญหาไม่ให้เข้าถึง เช่น สิ่งของอันตรายต่างๆ ล็อกประตูบ้าน ห้อง หรือจุดต่างๆ เก็บกระจกหากเห็นภาพหลอน เลี่ยงชวนคุยเรื่องที่ผู้ป่วยไม่สบายใจ ไม่ให้รับสื่อที่มีความรุนแรงหรือเกี่ยวกับอารมณ์มากๆ 
8. หาคนมาผลัดเปลี่ยนดูแลบ้างบางช่วง อาจปรึกษากันในครอบครัว จ้าง หรือฝากศูนย์ดูแล 
9. ระบายความรู้สึกขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว เพื่อน ปรึกษาแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข เข้าร่วมกลุ่มผู้ดูแลแลกเปลี่ยนความรู้สึกและเทคนิคการดูแล 
หากผู้ดูแลรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ ขอให้นึกไว้เสมอว่าท่านไม่ได้โดดเดี่ยว มีผู้พร้อมรับฟัง แลกเปลี่ยนความรู้สึก ให้คำปรึกษาแนะนำ และพร้อมเป็นกำลังใจให้กับผู้ดูแลทุกท่าน

ติดต่อได้ที่นี่ 

โทร : สายด่วนให้คำปรึกษา 

Facebook :  สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม 

Facebook กลุ่มส่วนตัว ขอเข้ากลุ่มได้ที่  : อัลไซเมอร์-สมองเสื่อม-สวัสดี

ลองทำ แบบประเมินความเครียดผู้ดูแล 
สมองเสื่อม สังคมช่วยดูแลได้อย่างไร
หยิบยื่นน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ...
ไม่ยอมอาบน้ำทำยังไงดี
“ไม่ยอมอาบน้ำ” หลายบ้านเผชิญกับปัญหานี้คล้ายกัน ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยสมองเสื่อม
ในสมองของผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
6 ข้อควรระวังหนาวนี้
หน้าหนาวควรระวังสุขภาพของผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นพิเศษ ...
สุขอนามัยส่วนบุคคล
เมื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีสุขอนามัยที่ดี ...
รู้ได้อย่างไรว่าไขมันเกินหรือยัง?
อ้วนไม่อ้วนเราดูที่ปริมาณเนื้อเยื่อไขมันเป็นหลัก ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.