ป่วนตอนพระอาทิตย์ตกทำไงดี

ป่วนตอนพระอาทิตย์ตกทำไงดี
ผู้ดูแลหลายท่านพบว่าเมื่อถึงช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกหรือพลบค่ำ ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักจะมีอาการป่วนขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ 

บางวันสภาพอารมณ์ผู้ป่วยอาจดีมาตลอดทั้งวัน แต่พอถึงช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ ไปจนถึงหัวค่ำ ท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนจากสว่างไปสู่ความมืด ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุข อาการนี้มีชื่อเรียกว่า อาการซันดาวน์ (Sundown Syndrome)
ทำไมจึงมีอาการตอนพระอาทิตย์ตก

อาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของแสงที่ส่งผลต่ออารมณ์ผู้ป่วยสมองเสื่อม  เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปมักรู้สึกเหงาหรือเศร้าในช่วงเวลานี้ ร่วมกับความเครียดหรือความเหนื่อยล้าของร่างกาย

สาเหตุอื่นที่อาจเป็นตัวช่วยกระตุ้นอาการ ได้แก่ ไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมที่คุ้นเคย เปลี่ยนที่นอน เปลี่ยนเวลาในการทำกิจกรรมที่เคยทำมาทุกวัน หรือมีความวุ่นวาย เช่น อยู่ในที่ ๆ มีคนมากเกินไป พลุกพล่าน เสียงดัง  การกินยาบางชนิด นอนหลับไม่พอเพียง มีอาการเจ็บหรือปวดอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น
อาการป่วนมีอะไรบ้าง

อาการป่วนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในบางวัน อาจจะวันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ 1 วัน เช่น 
- สับสน มึนงง
- กระสับกระส่าย ไม่อยู่นิ่ง เดินวนไปมา
- กลัว กังวล หรือกระวนกระวายใจ 
- ต่อต้าน
- อารมณ์เสีย ก้าวร้าว
- ร้องไห้
- หูแว่วหรือเห็นภาพหลอน 
- ทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น ถามซ้ำคำถามเดิม 
10 วิธีจัดการอาการป่วน 

1. สังเกตว่ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้นปัญหาพฤติกรรมของผู้ป่วย ดูแลเรื่องพื้นฐาน เช่น ดูว่าผู้ป่วยหิว กระหายน้ำ หรือต้องการเข้าห้องน้ำหรือไม่ 
2. ปิดประตูหน้าต่างหรือม่านเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเห็นความเปลี่ยนแปลงของแสง แล้วเปิดไฟในบ้านให้สว่าง 
3. เลี่ยงการบังคับให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมใด ๆ ในเวลานี้
4. เลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการ เช่น เสียงดัง พลุกพล่าน ความร้อน 
5. สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ผู้ป่วย ให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมคุ้นเคย พูดคุย โอบกอด
6. พยายามสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ไม่เครียด  อาจเปิดเพลงเบา ๆ หรือเพลงที่ชอบ ฟังแล้วผ่อนคลาย อุ้มหรือกอดสัตว์เลี้ยงขนนุ่ม อย่างสุนัขหรือแมวที่เชื่อง ตุ๊กตาขนนุ่มที่ผู้ป่วยชอบ
7. พยายามรักษากิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา การเปลี่ยนแปลงเวลาจะทำให้ผู้ป่วยไม่คุ้นเคย เกิดความเครียดสับสนได้ง่าย หากจำเป็นต้องปรับเวลาจริง ๆ ควรค่อยเป็นค่อยไป
8. ปรับการกินอาหารให้เหมาะสม เลี่ยงมื้อหนักตอนเย็น ให้รับประทานพออิ่ม และเลือกอาหารที่ย่อยง่าย งดชา กาฟ หรืออาหารหวานจัด
9. ดูแลให้ผู้ป่วยนอนหลับเต็มอิ่มในเวลากลางคืน ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวน อุณหภูมิไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ชวนทำกิจกรรมที่ได้ออกกำลังกายตอนกลางวัน เช่น  เดินเล่น บริหารร่างกาย ทำสวน ร้องเพลง ทำงานบ้านเบา ๆ ด้วยกัน เพื่อช่วยให้หลับสนิท   
10. ความเครียดความเหนื่อยล้าของผู้ดูแล ทำให้หงุดหงิดได้ง่ายอาจส่งผลต่อผู้ป่วยได้ ผู้ดูแลต้องดูแลสภาพร่างกายและจิตใจตนเอง เพื่อปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลายลงในช่วงเวลาดังกล่าว

อาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแล
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
สัญญาณเตือนสมองเสื่อม
หลงลืมจนน่าหงุดหงิด ลืมเรื่องใหม่ ๆ ที่เพิ่งรับรู้ในระยะไม่เกิน 2 ...
การออกกำลังกายสำหรับผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง
ผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ...
แนวทางการเคลื่อนย้ายผู้มีภาวะสมองเสื่อม
เมื่ออาการสมองเสื่อมมาถึงระยะที่ 2 แขนขาเริ่มเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ ...
ปัญหาที่พบในคนโรคสมองเสื่อม
เมื่อมีภาวะสมองเสื่อม จะมีปัญหาความจำ และปัญหาด้านอื่น ๆ อีก เช่น ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.