การดูแลแผลกดทับ

เมื่ออาการของผู้มีภาวะสมองเสื่อมมาถึงระยะที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ผู้มีภาวะสมองเสื่อมนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ผิวหนังและเนื้อบริเวณเดิมต้องรับน้ำหนักตัวผู้ป่วยเป็นเวลานาน โดยเฉพาะปุ่มกระดูกบริเวณ หลังศีรษะ หู สะบัก หัวไหล่ ข้อศอก หลังส่วนล่าง ก้น ด้านข้างสะโพก เข่าด้านใน และ ส้นเท้า ผิวหนังและเนื้อจะถูกทำลายจนเป็นแผลมีเนื้อตาย

ข้อแนะนำในการดูแลแผลกดทับมี ดังนี้
– ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนดูแลแผลกดทับให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อม
– เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนแกะผ้าก๊อซปิดแผลเก่าออก
– การแกะปลาสเตอร์ปิดเแผล
– ถ้าปลาสเตอร์ติดกับแผลหยอดน้ำเกลือให้ชุ่มผ้าก๊อซ แล้วค่อย ๆ ดึงผ้าก๊อซออกเบา ๆ
– หากมือสกปรกให้ล้างมืออีก 1 รอบ

แผลกดทับระดับต่างๆ

แผลกดทับระดับที่ 1 ผิวหนังเป็นรอยแดง ยังไม่ฉีกขาด เมื่อใช้นิ้วกดและปล่อยรอยแดงไม่จางหายไป
แผลกดทับระดับที่ 2 ลึกถึงชั้นหนังแท้ ผิวสีแดงหรือชมพู ผิวหนังเปิดออก หรือมีตุ่มน้ำใส
แผลกดทับระดับที่ 3 ลึกถึงชั้นไขมัน อาจมองเห็นเนื้อตาย โพรงใต้ขอบแผล ผิวหนังเปิดออก
แผลกดทับระดับที่ 4 มองเห็นกระดูก กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น

การดูแลแผลกดทับระดับที่ 1

อุปกรณ์การดูแล แผ่นโพลียูริเทนโฟม ปลาสเตอร์

ขั้นตอนการดูแลแผลกดทับ
1. ให้นอนตะแคง 30 องศา พลิกตะแคงทุก 2 ชั่วโมง
2. แปะแผ่นโพลียูรีเทนโฟมบริเวณปุ่มกระดูก โดยตัดแผ่นโฟมคลุมบริเวณปุ่มกระดูกทั้งหมด ตัดบากรอบแผ่นเข้าไปเล็กน้อยเพื่อให้แนบกับผิวหนัง
3. ปิดปลาสเตอร์รอบแผ่นโฟม

การดูแลแผลกดทับระดับที่ 2 และ 3


อุปกรณ์แบบที่ 1 ไม้พันสำลีปลอดเชื้อ
ประกอบด้วย ไม้พันสำลีปลอดเชื้อ ผ้าก๊อซปลอดเชื้อ ปลาสเตอร์ กรรไกร น้ำเกลือปลอดเชื้อ (Saline) ถุงขยะ ถุงมือสะอาด (มีหรือไม่มีก็ได้)

ขั้นตอนการดูแลแผลกดทับ
1. ตัดปลาสเตอร์โดยพับมุมเล็กน้อย เพื่อความสะดวกเวลาดึงออก ความยาวมากกว่าผ้าก๊อซด้านละ 1 นิ้ว
2. เปิดซองชุดทำความสะอาดแผล แล้วเทน้ำเกลือปลอดเชื้อลงในซองก้านสำลีพอหมาด ปากขวดน้ำเกลือไม่สัมผัสกับชุดก้านสำลี
3. บีบสำลีจากด้านนอกถุงให้พอหมาด
4. เช็ดรอบแผล โดยวนออกทางเดียวออกไปกว้าง 2-3 นิ้ว และเช็ดทำความสะอาดแผลเริ่มจากกลางแผลวนออกนอกแผล
5. ทิ้งไม้พันสำลีลงในถังขยะ
6. ทายาเฉพาะในแผลก่อนปิดผ้าก๊อซ ไม่จับด้านในผ้าก๊อซ
7. ปิดปลาสเตอร์

อุปกรณ์แบบที่ 2 ชุดทำความสะอาดสำเร็จรูปปลอดเชื้อ
ประกอบด้วย สำลี ผ้าก๊อซ คีมคีบ น้ำเกลือปลอดเชื้อ (Saline) ถาดพลาสติก ถุงมือสะอาด (มีหรือไม่มีก็ได้)

การดูแลแผลกดทับระดับที่ 4

อุปกรณ์ทำความสะอาดแผลที่นิยมใช้ดูแลแผลกดทับระดับที่ 4 แนะนำให้ใช้ชุดทำความสะอาดแบบที่ 3 ชุดถาดโลหะเพื่อความสะดวกและประหยัด
อุปกรณ์แบบที่ 1 ไม้พันสำลีปลอดเชื้อ
ประกอบด้วย ไม้พันสำลีปลอดเชื้อ ผ้าก๊อซปลอดเชื้อ ปลาสเตอร์ กรรไกร น้ำเกลือปลอดเชื้อ (Saline) ถุงขยะ ถุงมือสะอาด(มีหรือไม่มีก็ได้)

อุปกรณ์แบบที่ 2 ชุดทำความสะอาดสำเร็จรูปปลอดเชื้อ
ประกอบด้วย สำลี ผ้าก๊อซ คีมคีบ น้ำเกลือปลอดเชื้อ (Saline) ถาดพลาสติก ถุงมือสะอาด (มีหรือไม่มีก็ได้)

อุปกรณ์แบบที่ 3 ชุดถาดโลหะที่สามารถต้มทำความสะอาดได้
ประกอบด้วย ถาด ถ้วย คีมคีบ ถุงมือสะอาด (มีหรือไม่มีก็ได้) น้ำเกลือปลอดเชื้อ (Saline) ผ้าก๊อซ สำลีกรรไกร ปลาสเตอร์ ถุงขยะ

ขั้นตอนการดูแล
1. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนทำความสะอาดแผล
2. ตัดปลาสเตอร์โดยพับมุมเล็กน้อยเพื่อความสะดวกเวลาดึงออก ความยาวมากกว่าผ้าก๊อซด้านละ 1 นิ้ว
3. เปิดซองผ้าก๊อซ ไม่สัมผัสบริเวณในถาดป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค
4. เปิดซองสำลีใส่สำลีลงในถ้วยโลหะ
5. เทน้ำเกลือปลอดเชื้อลงในถ้วยโลหะอีกใบ
6. แกะปลาสเตอร์เก่าออกจากแผล ใช้นิ้วข้างหนึ่งกดผิวหนัง มืออีกข้างหนึ่งค่อย ๆ ดึงปลาสเตอร์ออก ทิ้งลงในถุงขยะ ถ้าผ้าก็อซติดแผลหยดน้ำเกลือลงผ้าก๊อซให้ชุ่ม แล้วค่อย ๆ ดึงผ้าก๊อซออกเบา ๆ
7. หากมือสกปรกให้ล้างมืออีก 1 รอบ
8. เริ่มทำความสะอาดแผลด้วยสำลีชุบน้ำเกลือ ใช้คีมบีบให้หมาดก่อนทิ้งลงถุงขยะ
9. เช็ดทำความสะอาดของแผลโดยวนออกทางเดียวกว้าง 2-3 นิ้ว
10. เช็ดในแผลโดยเริ่มจากกลางแผล วนออกรอบนอก เช็ดจนกว่าจะสะอาด
11. ถ้ามีโพรงใต้ขอบแผล ใช้สำลีพันก้านทำความสะอาดตามความลึกของขอบแผล
*ควรใส่ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือบิดหมาดในโพรงแผลก่อนปิดแผล
*ถ้าต้องใส่ยาในโพรงแผล ให้คลุกน้ำยากับผ้าก๊อซ ก่อนใส่ในโพรงแผล เพื่อดูดซับน้ำในโพรงแผล
12. ปิดทับด้วยผ้าก็อซ
13. ปิดปลาสเตอร์
14. ทิ้งสำลีลงถังขยะ
*หลังใช้ล้างชุดขัดโลหะให้สะอาดแล้วต้มในน้ำเดือด 30 นาที แล้วผึ่งให้แห้ง
*ถ้าแผลมีความรุนแรง เช่น มีกลิ่น ผู้ป่วยมีไข้ แนะนำให้มาโรงพยาบาล

ยาที่มีฤทธิ์ต้านยาสมองเสื่อม
ข้อควรระวังในการใช้ยารักษาภาวะสมองเสื่อมร่วมกับยากลุ่มอื่น
การดูดเสมหะในปาก
การดูดเสมหะเป็นการขจัดน้ำลายหรือเสมหะซึ่งกีดขวางทางเดินหายใจของผู้ที่มีเสมหะมากและไอเอาออกมาเองได้ไม่ดีนัก
บทความอื่นที่น่าสนใจ
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เกิดจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ...
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเกิดความเครียด
วัยสูงอายุ เป็นวัยของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและใจ ...
หวานไปก็อ่อนหวานได้
ถ้าเราเป็นเบาหวานแล้ว ไม่ต้องกลัว ต้องดูแลรูปร่างไม่ให้อ้วน ...
วิธีดูแลความปลอดภัย
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่หายออกจากบ้าน มักจะมีพฤติกรรมเดินหลง ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.