โอบรักให้อุ่นใจ

โอบรักให้อุ่นใจ
โรคอัลไซเมอร์ไม่เพียงส่งผลกระทบกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ผู้ดูแลก็ควรได้รับการดูแลทั้งกายและใจด้วยเช่นกัน
ผู้มีภาวะสมองเสื่อม…ควรได้รับการปรับยาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะอาการ เพราะถ้าปรับยาได้สมดุลจะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติสุขตามอัตภาพ ผู้ดูแล…ควรปรับใจให้ยอมรับ ศึกษาและเข้าใจอาการโรคสมองเสื่อม เข้าใจคนของเรา ผ่อนคลาย ไม่แบกรับความเครียดมากเกินไปจนกลายเป็นซึมเศร้าไปอีกคน ขอบคุณโรคอัลไซเมอร์ที่ทำให้เราใส่ใจกันและกันกว่าที่เคย ขอบคุณความรู้จาก “สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม” ที่มีเทคนิคดี ๆ ให้นำไปปรับใช้ดูแลคนของเรา ให้มีความสุขและประคองอาการตามสภาวะที่เป็น จากประสบการณ์ที่ได้ดูแลคนในครอบครัวที่มีสภาวะสมองเสื่อมมากว่าสิบปี รวบรวมข้อมูลการดูแลคนของเราในมุมต่าง ๆ ที่ใช้ได้ประมาณนี้

1. ยอมรับและเข้าใจ คนของเราคนเดิม แต่วันนี้การรับรู้และตัดสินใจเขาเปลี่ยนไปแล้ว การบ่น การว่า หรือการใช้เสียงดังจะทำให้ท่านยิ่งน้อยใจ พยายามใช้เสียงสอง (เสียงนุ่มนวล) พูดคุยกันเพื่อทำให้ท่านผ่อนคลายที่สุด ทุกอย่างในการกระทำของผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีแรงจูงใจเสมอ อย่างคุณแม่ท่านหนึ่งรักความสะอาดมาก ท่านเลยจะย้ำคิดย้ำทำในสิ่งนั้น ข้อดีคือ ท่านได้ลุกออกกำลังกายในการทำความสะอาด แต่ควรเสริมกิจกรรมอื่น ๆ ที่ท่านชอบเพื่อลดการพะวงเรื่องความสะอาด เช่น อ่านนิตยสาร งานฝีมือ ฟังเพลง-ร้องเพลง ดูรูปที่ไปเที่ยวกันหรือให้คุณพ่อช่วยพูดคุยกับคุณแม่ถึงเรื่องประทับใจ จะได้หันเหความสนใจ สนุกไปกับเรื่องอื่น

2. ผ่อนปรน คล้อยตามแล้วค่อยชักจูงคนของเราไปในทิศทางที่เราจะนำพาไป บ่อยครั้งที่คนของเราจะไม่ยอมไปอาบน้ำในช่วงที่มีอาการเข้าสู่ระยะกลาง อ้างว่าหนาวบ้าง ไม่ชอบบ้าง ลองหากิจกรรมที่ท่านชอบแล้วมาปรับใช้ เช่น หากท่านชอบนวด ลองเปลี่ยนเป็นชวนไปนวดแล้วจะเอาผ้าอุ่น ๆ ประคบให้ ท่านก็คล้อยตาม ยอมลุกไปอาบน้ำแต่โดยดี

3. จัดกิจกรรมระหว่างวันให้คนของเราได้เพลิน ไม่หมองเศร้า และรักษาทักษะต่าง ๆ ให้คงอยู่ให้ยาวนานที่สุด เช่น การเขียน การอ่าน นับเลข เดินเล่นออกกำลังกาย และจัดเวลาพูดคุยกัน อาจจะเอารูปที่เราไปเที่ยวกันมาดู หรือรูปสมัยหนุ่ม ๆ หรือเรื่องที่ท่านประทับใจ สร้างอารมณ์ดี และเสียงหัวเราะให้ท่านมีความสุขในทุกวัน

4. ประเมินสถานการณ์คนของเราและเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อที่จะดูแลคนของเราในลำดับต่อไป เช่น ถ้าคนของเรามีอาการของโรคอยู่ช่วงระยะกลาง การเตรียมตัวเข้าอบรมการดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือศึกษาข้อมูลไว้ก่อน ช่วยให้การตั้งรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพราะบางทีจุดเปลี่ยนมันมาเร็วแบบที่เราแทบไม่ได้ตั้งตัว

5. ใช้ทฤษฏี Humanitude ช่วยกระตุ้นให้คนของเราความจำดีขึ้นชัดเจน เมื่ออาการป่วยเข้าสู่ช่วงระยะกลาง เวลาพูดคุยกับคนของเรา ตำแหน่งที่เหมาะสมผู้พูดจะอยู่ตรงด้านหน้า และสบตาในแนวเดียวกัน หรือผู้พูดควรอยู่ต่ำกว่าคนของเรานิดนึง ในระยะไม่เกิน 20 ซม. ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม น้ำเสียงนุ่มนวล พร้อมจับมือท่านไปด้วย ประสบการณ์ตนเองได้ลองทดสอบด้วยการนัดหมายท่านตอนกลางคืนก่อนเข้านอน บอกท่านว่าจะไปพบคุณหมอตอนเช้าตอน 9:00 น. เมื่อท่านตื่นขึ้นตอนเช้า ได้ถามแม่ว่าวันนี้ลูกจะพาไปไหนนะ ซึ่งปกติจะไม่เคยถาม ลิ้งค์ข้อมูลเรื่อง Humanitude เผื่อใครจะไปศึกษาเพิ่ม https://www.youtube.com/watch?v=YdH3Jq0_nd8

6. ดูแลคนของเรา และดูแลใจเราเองด้วย กว่าจะผ่านระยะต้น-กลาง-ปลาย ผู้ดูแลเองก็ต้องปรับตัวหลายอย่าง เปลี่ยนการทำงานเพื่อจัดเวลาให้ลงตัวกับการดูแลคนของเรา เวลาตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ความรู้สึกคงไม่มีอารมณ์จะยิ้ม มีแต่ความเศร้า แต่เพื่อสุขภาพใจที่ดีของตัวเราเอง พยายามหามุมบวกให้ใจมีความสุขเล็ก ๆ ให้ได้ เพื่อร่างกายจะได้สร้างฮอร์โมนดีๆ กาย ใจจะได้ไม่ป่วย เช่น ออกกำลังกาย (เดิน วิ่ง เต้น ขยับร่างกายอะไรก็ได้) การเขียนบันทึกก็เป็นการระบายความเครียดอย่างหนึ่ง แต่พยายามเขียนเชิงบวก ในมุมที่เราก็ผ่านวันนี้ไปได้อีกวัน ขอให้สนุกกับการแก้ปัญหาในแต่ละวันนะคะ ( ^,^ )/
Love box…โอบรักให้ใจอุ่น 25 สิงหา 2565
จากผู้ดูแลถึงผู้ดูแล
ข้อแนะนำการดูแลรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อมในมุมมองของผู้ดูแล
เคล็ดไม่ลับกับการดูแล
เมื่ออาการมันน่าจะใช่...แล้วจะเริ่มพาไปรักษาอย่างไรดีล่ะ
บทความอื่นที่น่าสนใจ
6 ข้อควรระวังหนาวนี้
หน้าหนาวควรระวังสุขภาพของผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นพิเศษ ...
ด้วยรักและเข้าใจ
พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง หรือสามีภรรยา ...
10 สัญญานเตือนผู้ดูแลเครียด
ผู้ดูแลมีโอกาสเครียดสูง ลองมาสำรวจสัญญานเตือน ...
ฉลองตรุษจีนแบบสุขภาพดี หนีสมองเสื่อม (และปัญหาหลอดเลือด)
เทศกาลตรุษจีนเป็นวันที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.