จากผู้ดูแลถึงผู้ดูแล

จากผู้ดูแลถึงผู้ดูแล
โดย ศาสตราจารย์ ดร. นภดล ร่มโพธิ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อแนะนำการดูแลรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อมในมุมมองของผู้ดูแล

ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้เรื่องเชิงลึกเกี่ยวกับสมองเสื่อม เพียงแต่มีประสบการณ์ที่คุณพ่อมีอาการสมองเสื่อมมาได้สัก 10 ปีแล้ว เลยอยากจะแบ่งปันข้อแนะนำที่มาจากประสบการณ์เหล่านี้ โดยต้องให้เครดิตคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ทุกท่านที่ผมได้เคยพูดคุยด้วย หนังสือทุกเล่มที่เกี่ยวกับสมองเสื่อมที่ผมเคยได้อ่าน ลองอ่านข้อแนะนำเหล่านี้ดูเผื่อจะเป็นประโยชน์นะครับ

1. พยายามดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด

หลายท่านคงทราบว่าอาการสมองเสื่อมนั้นมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือคนที่เรารักเริ่มมีอายุมากขึ้น เช่น อยู่ในวัยเกษียณ ผมอยากแนะนำให้เราลองพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ หรือให้มีใครสักคนที่คอยดูแลเขานะครับ เหตุผลแรกคือเวลาเขามีคนคุยด้วย มีกิจกรรมต่าง ๆ ทำ โอกาสที่จะเกิดอาการสมองเสื่อมจะลดลง เหตุผลที่สองคือเมื่อเกิดอาการสมองเสื่อม แล้วเรารู้ตั้งแต่แรก ๆ ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้มียารักษาให้หายขาดได้ แต่มันมียาที่ช่วยชะลออาการได้ และมีการปฏิบัติหลายอย่างที่มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่าอาจจะทำให้ดีขึ้นได้อีกด้วย การที่เราทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยชะลออาการได้ดีมาก ๆ เลยล่ะครับ

2. ถ้าเริ่มสังเกตเห็นอาการสมองเสื่อมให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

ใช่ครับ อาการสมองเสื่อมโดยทั่วไปมันจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน (คือแบบนั้นก็มี อันนั้นก็ต้องรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนนะครับ เพราะอาจจะอันตรายมาก ๆ เลย) โดยทั่วไปอาจจะไม่ได้ต้องถึงกับว่าต้องไปหาหมอกลางดึกอะไรแบบนั้น แต่อย่าชะล่าใจไปครับ เพราะจากประสบการณ์ของผม ถ้าเราไปให้คุณหมอวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เริ่มรักษาหรือกินยาตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะสามารถชะลอการพัฒนาของอาการสมองเสื่อมไปได้นานกว่าที่จะปล่อยไปตามธรรมชาติ อย่างคุณพ่อของผมเอง ครอบครัวพอจะสังเกตเห็นอาการตั้งแต่แรกเริ่ม จึงได้ไปหาคุณหมอและรักษามาอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้ก็ 10 ปีแล้วตั้งแต่วันที่พบอาการนั้นครั้งแรก คุณพ่อยังช่วยตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง เดินเหินได้เอง รับประทานอาหารได้เอง พูดคุยได้บ้าง ถึงแม้จะไม่เหมือน 10 ปีก่อนนั้น แต่การที่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วก็จะช่วยชะลออาการได้จริง ๆ

3. เริ่มเตรียมการต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมยังสามารถทำได้

อย่างที่เราพอจะทราบว่าอาการสมองเสื่อม ตอนนี้อาจจะยังไม่มียารักษาให้หายขาด (ญาติผู้ป่วยทุกคนคงภาวนาอยากให้มียาแบบนั้นได้สักที) ดังนั้นถึงแม้จะมียาที่ชะลออาการได้ แต่อาการก็จะค่อย ๆ พัฒนาไป ความสามารถของผู้ป่วยก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ตอนที่เขายังทำได้ เราควรจะรีบจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เช่น เรื่องทรัพย์สมบัติ หรือเรื่องเอกสารต่าง ๆ อย่างคุณพ่อผม ท่านจะเป็นห่วงเรื่องนี้ ดังนั้นเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องบริหารจัดการ ก็จะทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้ามาทำตอนหลังที่ท่านจำไม่ได้แล้ว บางทีเราอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าท่านมีทรัพย์สมบัติอะไรอยู่บ้าง มีเอกสารที่สำคัญอะไรอยู่ที่ไหน นอกเหนือจากเรื่องทรัพย์สมบัติหรือเอกสารต่าง ๆ เรื่องสุขภาพที่จำเป็นก็รีบจัดการซะก่อน เช่น การทำฟัน การรักษาตา อะไรแบบนี้ เพราะเมื่ออาการพัฒนาไปมากแล้ว การพาไปรักษาจะเริ่มทำได้ลำบากขึ้น เพราะผู้มีภาวะสมองเสื่อมเองก็อาจจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือสักเท่าไร

4. พยายามใช้เวลาที่มีคุณภาพกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมมาก ๆ

จริง ๆ ข้อแนะนำนี้ ไม่จำเป็นต้องให้คุณพ่อคุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่มีอาการสมองเสื่อมก่อนแล้วค่อยทำนะครับ เพราะชีวิตเราก็ไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราควรจะพยายามใช้เวลาที่มีคุณภาพกับท่านมาก ๆ แต่สำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมนั้น มันเป็นเหมือนการบอกเราว่า เราควรจะรีบใช้เวลาดี ๆ กับเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อยากพาไปเที่ยว ก็รีบพาไป อย่ารอ เพราะถ้ามีอาการเยอะขึ้นแล้ว บางทีเขาอาจจะไม่อยากไป หรือจะมีความยากลำบากมากขึ้นในการพาไปเที่ยว อีกอย่างการที่เราได้พูดคุยกับเขา พาเขาไปเที่ยว ผมเชื่อว่าจะมีส่วนที่จะทำให้อาการเขาไม่แย่ลงเร็ว หรืออาจจะทำให้เขาดีขึ้นได้ด้วยซ้ำ แล้วเราจะไม่ต้องมาเสียดายหรือเสียใจภายหลังว่า รู้อย่างนี้ ตอนนั้นพาไปเที่ยวก็ดี หรือให้เวลากับเขามากกว่านี้ก็ดี

5. เมื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีอาการมากขึ้น พยายามทำความเข้าใจเขาให้มากที่สุด

ข้อนี้บอกได้เลยว่ายากทีเดียวครับ เพราะพอผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีอาการมากขึ้น เขาจะเริ่มไม่ค่อยมีเหตุผล ใหม่ ๆ อาจจะยังแค่ลืม ถามแล้ว ถามอีก ซึ่งบางคนอาจจะเริ่มรู้สึกรำคาญ แต่พยายามคิดว่านี่คืออาการของโรค เขาไม่ได้ตั้งใจ ต่อมาอาการก็อาจจะมีมากขึ้น เขาอาจจะเริ่มไม่ยอมทำอะไรที่จริง ๆ เป็นสิ่งธรรมดามาก ๆ สำหรับเรา เช่น เขาไม่อยากแปรงฟัน ไม่อยากอาบน้ำ ซึ่งจะปล่อยไปก็ไม่ได้ เพราะมันจะไม่ดีต่อสุขภาพเขา แต่เขาไม่เหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่เวลางอแงไม่ยอมทำ เราอุ้ม เราบังคับให้เขาทำได้ แต่พอเป็นผู้ใหญ่เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่จะบอกว่าลองสังเกตเขาดูดี ๆ ครับ แต่ละคนจะมีเทคนิคตรงนี้แตกต่างกันไป แต่มันจะมีวิธีทำจนได้ ผู้มีภาวะสมองเสื่อมบางคนอาจจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว หวาดระแวง ก็พยายามเข้าใจเขานะครับ ไม่ต้องน้อยใจ เสียใจว่าเราทำถึงขนาดนี้ ทำไมไม่ไว้ใจเรา เขาไม่ได้ไม่ไว้ใจครับ มันเป็นอาการของความหลงลืมของเขานั่นแหละ ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ไหว ไปพบคุณหมอครับ คุณหมอเขารู้วิธีหรือมียารักษาอาการเหล่านี้ได้ครับ

6. ผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมก็ต้องดูแลรักษากายและใจตัวเองด้วย

ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมากนะครับ เพราะการที่ต้องดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมตลอดเวลาเป็นเรื่องที่เครียดมาก เพราะท่านก็เป็นคนที่เรารัก แต่บางครั้งท่านอาจจะไม่เหมือนเดิม อย่างกรณีของคุณพ่อของผม มีคุณแม่เป็นคนดูแลหลัก ผมต้องคอยให้กำลังใจคุณแม่ พูดคุยกับคุณแม่บ่อย ๆ เพราะหลายครั้งคุณแม่ก็จะเหนื่อย เครียด ถ้าพอเป็นไปได้ ผมแนะนำให้หาคนมาช่วยด้วยครับ แต่ก่อนคุณแม่ผมก็ดูแลคุณพ่ออยู่คนเดียว แต่พอระยะหลัง ไม่ไหว ก็มีคนมาช่วยดูเพิ่มขึ้น ก็จะมีเวลาพักผ่อนกายใจมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้คือพยายามหาคนปรึกษาในเรื่องนี้บ้าง และคนที่จะเข้าใจเรามากที่สุดก็คือ กลุ่มผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมนี่แหละครับ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องหาเพื่อนหรือคนรู้จักเสมอไป มีกลุ่มออนไลน์หลาย ๆ กลุ่มที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะมาพูดคุยกัน บางคนมาขอเทคนิค มาปรึกษา บางคนก็มาระบายความรู้สึก หลาย ๆ คนก็จะมาแวะเวียนให้กำลังใจกันอยู่ตลอดเวลา ผมก็โชคดีที่ได้รู้จักหลาย ๆ คนที่มีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่เคารพมีอาการสมองเสื่อม รู้จักคุณหมอ และผู้เชี่ยวชาญในโรคนี้อยู่บ้าง เลยได้มีโอกาสปรึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้เรารู้วิธีในการจัดการและเบาใจมากขึ้น

7. ยอมรับในทุกเรื่อง

ข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ยาก แต่ในที่สุดแล้ว ในโลกนี้จะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องที่เราควบคุมได้ กับเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ หน้าที่ของเราก็จัดการเรื่องที่เราควบคุมได้ครับ เช่น เราอาจจะพยายามหาข้อมูลเรื่องการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้มากที่สุด อ่านหนังสือ ดูคลิป ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ลองใช้แนวทางต่าง ๆ นำมาปรับใช้ ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว แค่ไหนก็คงต้องแค่นั้น อย่าไปกังวลมากนักกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะถึงเรากังวลไป ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ถ้าเราทำได้แบบนี้ เราจะมีความสุขกับชีวิตเรามากขึ้น และผมเชื่อว่าเวลาเรามีความสุข คนรอบข้าง รวมถึงผู้มีภาวะสมองเสื่อมก็จะมีความสุขตามเช่นกัน ผมขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมทุกท่านนะครับ สิ่งที่ท่านทำอยู่ในขณะนี้เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่มาก ๆ ขอให้ท่านขอบคุณตัวเองให้มาก ๆ ที่ทำได้ดีขนาดนี้ อะไรที่ผ่านไปแล้ว ขอให้ผ่านไป วันนี้คือวันใหม่ที่ท่านจะทำได้ดีขึ้นเสมอ และขอให้คนที่ท่านรักที่เป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อมมีอาการดี และมีแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิตท่านนะครับ
ป้องกันการบาดเจ็บจากการดูแล
ระหว่างการดูแล ผู้ดูแลอาจต้องพยุง ประคอง หรือยกตัวผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
โอบรักให้อุ่นใจ
โรคอัลไซเมอร์ไม่เพียงส่งผลกระทบกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เตรียมใจสู่วัยสูงอายุคุณภาพ
ในวัยสูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งทางร่างกาย ...
การให้อาหารทางสายยางทางจมูก
ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารได้น้อย ...
จะทำอย่างไรเมื่อคนในครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อม
เมื่อคนในครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อม ...
แนะนำสถานที่ให้คำปรึกษา
เมื่อเกิดปัญหาด้านกฏหมาย/สิทธิ/สวัสดิการ เราปรึกษาหน่วยงานไหนได้บ้าง
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.