ปัญหาของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะต่าง ๆ และแนวทางการรับมือ

ปัญหาของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะต่าง ๆ และแนวทางการรับมือ
แนวทางในการรับมือกับปัญหาของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะต่าง ๆ ให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดีในแต่ละวัน จะมีความเกี่ยวข้อง กับเรื่องของการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่
แนวทางในการรับมือกับปัญหาของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในระยะต่าง ๆ ให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆผ่านไปได้ด้วยดีในแต่ละวัน โดยไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการประเมินและแก้ไขปัญหาต้องดูอาการในภาพรวม ร่วมกับปัญหาทางร่างกายอื่น ๆ อาทิ เช่น หูตึง เป็นต้น

ระยะแรก (Mild Dementia)

อาการที่พบ
– สมาธิสั้น ความคิดสะดุดบ่อย ๆ
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– กำหนดให้ทำกิจกรรมที่ละอย่าง พูดคุยสนทนาทีละเรื่อง ไม่เปลี่ยนเรื่องสนทนาบ่อย ๆ

อาการที่พบ
– ตอบสนองช้า ใช้เวลานานขึ้นในการรวบรวมคำตอบ ทำงานที่คุ้นเคย หรือ ทำกิจวัตรประจำวันช้าหรือไม่คล่องแคล่ว/ไม่สำเร็จ/ไม่เสร็จ
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– ผู้ดูแลควรให้เวลาเพียงพอ ให้กำลังใจ ช่วยเหลือปลอบใจ หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ในทางลบ
– แยกงานออกเป็นขั้นตอน ทำให้ง่ายขึ้น หรือ จัดสิ่งของ อุปกรณ์ เพื่อเอื้อให้ทำกิจกรรมได้เอง
– สนใจคำตอบ คาดเดาความต้องการ กระตุ้น การพูด ใบ้คำ
– ระวังเรื่องความปลอดภัยในกิจกรรมที่ซับซ้อน เช่น การทำอาหาร

อาการที่พบ
– จำไม่ได้ สมองไม่แล่นเหมือนเมื่อก่อน
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– ใช้อุปกรณ์เตือนช่วยความจำ เช่น การจดบันทึก การตั้งนาฬิกาเตือน

อาการที่พบ
– หงุดหงิดง่าย อารมณ์เศร้า เหงา เซ็ง
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– หลีกเลี่ยงสิ่งของ/คนที่สิ่งกระตุ้นอารมณ์ทางลบ ไม่เถียง ไม่ปะทะ ไม่เอาชนะ ไม่เห็นการกระทำต่าง ๆ เป็นเรื่องตลก ปรับวิธีการรับมือแบบยืดหยุ่นและเบี่ยงเบน
พูดคุยสนทนาทีละเรื่อง แยกงานออกเป็นขั้นตอน สนใจคำตอบ ใช้อุปกรณ์เตือนช่วยความจำ หลีกเลี่ยงสิ่งของ/คนที่สิ่งกระตุ้นอารมณ์ทางลบ

ระยะสอง (Moderate Dementia)

อาการที่พบ – ความเข้าใจเหตุผลลดลง มีเหตุผลแปลก ๆ
สิ่งที่ควรปฏิบัติ – ญาติต้องเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะปล่อยผ่านด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ไม่เยาะเย้ย หรือขบขัน

อาการที่พบ– ลำบากในการเข้าใจการสนทนาที่ยาวนาน ลำบากในการอ่านเอกสารต่าง ๆ ใช้ภาษาไม่ถูก ไวยกรณ์
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– สื่อสารด้วยภาษากายที่ง่าย ไม่ซับซ้อน คำถามควรเป็นตัวเลือก ให้เวลาเพียงพอในการสื่อสารและกำจัดสิ่งรบกวนอื่นให้หมด มองหน้าผู้ป่วยขณะพูด ช้า ๆ ชัด ๆ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ไม่ดังหรือเบาจนเกินไป ให้กำลังใจและคำชม ใช้ภาษากายกระตุ้นให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น

อาการที่พบ
– เริ่มมีอาการผิดปกติทางจิตเวช เช่น เห็นภาพหลอน หลงผิดคิดไปเอง หลงคิดว่าจะถูกทำร้าย
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– พาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

อาการที่พบ
– มีปัญหาพฤติกรรม เช่น ปัสสาวะในที่สาธารณะ ไม่สนใจสายตาประชาชี
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– คอยสังเกตพฤติกรรมอยู่เสมอ ๆ หลีกเลี่ยงและลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว อย่าห้าม อย่าสั่ง อย่าดุ เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาและทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้

อาการที่พบ
– ดูแลตัวเองได้น้อยลง ไม่สวยไม่เนี้ยบเหมือนเดิม ไม่สะอาด เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ล้างก้น แต่งหน้าเขียนคิ้วแบบ Angry bird
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– ผู้ดูแลช่วยเหลือในกรณีที่จำเป็น และคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น เตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และสะดวกในการปรับเปลี่ยน

อาการที่พบ
– ลืมอิ่ม
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– เก็บอาหารให้มิดชิด หากิจกรรมอื่นที่ชอบให้ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ หรือ แบ่งมื้ออาหารน้อย ๆ เป็นหลาย ๆ มื้อ เพื่อให้ทานเวลาเรียกหาอาหาร

อาการที่พบ
– หลงทางแม้ในที่คุ้นเคย หาทางกลับบ้านไม่ถูก
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– เฝ้าระวัง ป้องกันการเดินออกนอกบ้าน และมีกิจกรรมให้ทำอยู่เสมอ
ญาติต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยผ่านด้วยท่าทีที่เป็นมิตร สื่อสารด้วยภาษากายที่ง่าย มองหน้าผู้ป่วยขณะพูด ช้า ๆ ชัด ๆ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล หลีกเลี่ยงและลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมแปลก ๆ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แบ่งมื้ออาหารน้อย ๆ เป็นหลาย ๆ มื้อ เฝ้าระวัง ป้องกันการเดินออกนอกบ้าน

ระยะสาม (Severe Dementia)

อาการที่พบ
– สื่อสารยากขึ้นมาก
– ไม่เข้าใจคำพูดส่วนใหญ่
– อาจมีการส่งเสียงอื่น ๆ ในการพยายามจะสื่อสารแทนการใช้คำพูด
– อาจพูดขึ้นมาลอย ๆ พึมพำพูดไม่ค่อยจบประโยค
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– หมั่นสังเกตภาษากายและใช้วิธีการสื่อสารหลาย ๆ วิธีร่วมกัน ใช้ภาษากาย ยิ้ม สัมผัสอย่างอ่อนโยน มีเมตตา

อาการที่พบ
– ดูแลตัวเองไม่ได้
– ดูแลกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา
– ปัสสาวะ อุจจาระไม่รู้ตัว และไม่ยอมรับ – แยกไม่ได้ว่าอะไรกินได้ไม่ได้
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมทั้งหมด ป้องกันหรือกำจัดสิ่งที่อาจทำให้เกิดอันตราย พาไปห้องน้ำเป็นเวลาเพื่อป้องกันปัสสาวะราด ระมัดระวังเก็บสิ่งของอันตราย เช่น ของมีคม และสารเคมีให้มิดชิด

อาการที่พบ
– มีอาการทางจิตเวช
– หลงผิด เห็นภาพหลอน
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
– หาสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ก่อน เช่น เห็นเงาในกระจกแล้วเข้าใจว่าเป็นคนอื่น ให้ติดม่านที่กระจก เช่นเดียวกับการเห็นเงาบนประตู บนหน้าต่าง เป็นต้น และควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
หมั่นสังเกตภาษากายและใช้วิธีการสื่อสารหลาย ๆ วิธีร่วมกัน ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมทั้งหมด อาการทางจิตเวช ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

แนวทางในการเข้าหาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

– ให้ความสนใจผู้ป่วยด้วยการแสดงออกทางสีหน้า แววตา ท่าทาง ยิ้มให้เสมอ
– แสดงความไว้วางใจผู้ป่วย ไม่รังเกียจความชรา หรือสกปรก
– พูดคุยด้วยความอบอุ่น ใช้น้ำเสียง อ่อนโยน มีเมตตา หลีกเลี่ยงการใช้น้ำเสียงดุดัน กระโชก หรือเสียงออกคำสั่ง
– ใช้ภาษากาย ท่าทาง ที่อบอุ่นเป็นกันเอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกน่าใกล้ชิดและอยากพูดคุยด้วย
– การสัมผัสผู้ป่วยด้วยความรัก การประคอง พยุง เมื่อจำเป็น
– ค่อย ๆ เข้าหาผู้ป่วยทางด้านหน้า ไม่ให้สะดุ้งตกใจกลัว และอย่าเข้าใกล้ชิดจนเกินไป
– อย่าลืมว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ และมีศักดิ์ศรีในตนเอง
พูดคุยด้วยความอบอุ่น ใช้น้ำเสียง อ่อนโยน มีเมตตา อย่าลืมว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ และมีศักดิ์ศรีในตนเอง
สมองเสื่อมก็พาเที่ยวได้
เมื่อถึงเทศกาลเฉลิมฉลองหลายครอบครัวพากันไปเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ ...
การสังเกตภาษากายของผู้มีภาวะสมองเสื่อม
ดูแลด้วยความเคารพ ให้เกียรติ อ่อนโยน มีเมตตา รักและเข้าใจ สร้างสุขทั้งผู้มีภาวะสมองเสื่อม ครอบครัว ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
อุปกรณ์ช่วยพยุงตัว
อุปกรณ์ช่วยพยุงตัว ช่วยป้องกันผู้มีภาวะสมองเสื่อมหกล้ม ...
ครอบครัว คือยารักษาใจ
คุณแม่ของผมเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2492 ...
หวานไปก็อ่อนหวานได้
ถ้าเราเป็นเบาหวานแล้ว ไม่ต้องกลัว ต้องดูแลรูปร่างไม่ให้อ้วน ...
การออกกำลังกายสำหรับโรคหัวใจ
โรคหัวใจก็ออกกำลังกายได้ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.