ทำอย่างไรให้รักยังคงอยู่
ทำอย่างไรให้รักยังคงอยู่
คนที่เรารัก เราจะยังคงรักเขาอยู่หรือไม่ถ้านิสัยใจคอหรือการกระทำของเขาเปลี่ยนไปไม่ใช่คนเดิม หรือแม้กระทั่งจำไม่ได้ว่าเราเป็นใคร คำถามนี้ เป็นสิ่งท้าทายจิตใจคนในครอบครัวผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง
อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ป่วยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนอารมณ์ดีเปลี่ยนเป็นเกรี้ยวกราด พูดกันด้วยเหตุผลไม่ได้ อธิบายก็ไม่ฟัง สื่อสารไม่รู้เรื่อง บอกอะไรไม่จำ ลืมคนที่อยู่ด้วยกัน เอาแต่ใจตัวเอง พลุ่งพล่านวุ่นวาย ซ่อนของ กล่าวหาว่าคนอื่นขโมยของ เห็นภาพหลอน บอกว่าคนแปลกหน้าจะมาทำร้าย หนีออกจากบ้าน ฯลฯ
เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาพฤติกรรมของผู้ป่วย ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวต้องปรับตัวปรับใจขนานใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องยาก และที่สำคัญยังต้องดูแลอารมณ์ตนเองมิใช่น้อย อาจหงุดหงิดอารมณ์เสียได้บ่อยเพราะสื่อสารกับผู้ป่วยไม่รู้เรื่อง บอกอะไรไปแล้วผู้ป่วยไม่จำ มักจะทะเลาะกันเพราะพยายามอธิบาย แต่ผู้ป่วยไม่ฟัง มีความเข้าใจผิดคิดว่าผู้ป่วยโกหก ความจริงไม่ได้โกหกแต่ลืมไปแล้ว หรือสมองแปรปรวนทำให้มีอาการหลงผิด น้อยใจผู้ป่วยที่จำคนดูแลเอาใจใส่อยู่ทุกวันไม่ได้ น้อยใจเพราะผู้ป่วยกล่าวหาว่าทำผิดทั้ง ๆ ที่ดูแลอย่างดีมาตลอด หรือทำใจไม่ได้ที่ผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากเดิมมาก
การทำความเข้าใจในตัวผู้ป่วยและอาการของโรค รวมทั้งการปรับตัวปรับใจมีส่วนช่วยให้การดูแลง่ายขึ้น ปัญหาลดลง และยังคงรักษาความรักเอาไว้ได้
มาทำความเข้าใจในตัวผู้ป่วยและอาการของโรคกันสักนิด
1. พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม ไม่ได้เกิดจากความต้องการของตัวผู้ป่วย แต่เป็นเพราะภาวะสมองเสื่อมนั้นทำลายสมองให้แปรปรวนไป การทำงานของสมองด้านต่าง ๆ เสื่อมลง
2. เมื่อสมองเสื่อม ความสามารถในการบันทึกข้อมูลของสมองบกพร่อง ผู้ป่วยจึงไม่สามารถจดจำหรือทำตามที่แนะนำได้ ต้องบอกซ้ำหรือช่วยกำกับ เช่น เวลาอาบน้ำหรือแต่งตัว
3. สมองที่แปรปรวนไป ทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอน เข้าใจผิด แยกแยะความจริงกับสิ่งที่อยู่ในสมองไม่ได้ แยกแยะความจริงจากเรื่องราวโทรทัศน์ไม่ได้
1. พยายามไม่คาดหวังว่าผู้ป่วยจะเข้าใจหรือรับรู้อย่างคนปกติทั่วไป
2. ใจเย็นลงสักนิด ถ้าอารมณ์เสียให้เลี่ยงการเผชิญหน้า หลบไปสงบสติอารมณ์สักครู่แล้วค่อยกลับมาใหม่
3. ใช้ความอ่อนโยนจะช่วยให้ผู้ป่วยสงบลง
4. เนื่องจากผู้ป่วยลืมง่าย การเบี่ยงเบนความสนใจจึงได้ผลกว่าการบังคับ
5. เมื่อมีปัญหาการสื่อสารด้วยคำพูด ใช้การสังเกตอารมณ์ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง จะช่วยให้เข้าใจผู้ป่วยได้ดีขึ้น ดูแลง่ายขึ้น
6. ถ้าเป็นผู้ดูแลหลัก หาคนผลัดเปลี่ยนช่วยดูแลบ้างเป็นครั้งคราว ช่วยลดความเครียดความเหนื่อยล้า
7. หาวิธีผ่อนคลายจิตใจผู้ดูแล
8. หาความรู้เพิ่มเติม ปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือเข้าร่วมกลุ่มผู้ดูแล
บทความที่เกี่ยวข้อง