อาหารสำหรับผู้มีปัญหาการกลืน

อาหารสำหรับผู้มีปัญหาการกลืน
อาหารสำหรับผู้มีปัญหาการกลืน
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายประการหนึ่งที่พบบ่อยเมื่อถึงวัยสูงอายุนั่นก็คือ การสำลักหรือไอเมื่อดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร

จะสังเกตอย่างไรว่าผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุมีปัญหาการกลืนแล้ว

- กลืนอาหารแล้วรู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอ สำลักและไอขณะกลืนอาหาร
- กินหรือดื่มของเหลวแล้วมีอาการสำลักและไอบ่อยๆ 
สามารถคัดกรองปัญหาการกลืนลำบากเบื้องต้นได้ตามแบบแบบสอบถาม T-SSQ 
แบบสอบถามอย่างง่ายเกี่ยวกับปัญหาการกลืน (Thai – Version of Simplified Swallowing Questionnaire; T-SSQ)

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ท่านมีปัญหาต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือไม่
•  มีปัญหาหรือรู้สึกลำบากในการกลืนอาหารหรือน้ำ หรือไม่สามารถกลืนได้เลย
•  มีอาการไอ สำลัก ขณะกินอาหารหรือดื่มน้ำ
•  สำลักน้ำหรืออาหารเข้าทางเดินหายใจ
•  รู้สึกว่ามีอาหารติดในลำคอหรือทรวงอก

ถ้าตอบ “ใช่” อย่างน้อย 1 ข้อ ให้สงสัยว่าท่านอาจมีปัญหาการกลืน

ที่มา: Limpuangthip N, Komin O, Tatiyapongpaiboon T. A simplified method for evaluating swallowing ability and estimating malnutrition risk: A pilot study in older adults. PLoS One. 2022;17(2):e0263896.

* หากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการข้างต้น ควรปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลและนักกิจกรรมบำบัด เพื่อประเมินว่าผู้สูงอายุมีปัญหาการกลืนลำบากระยะใด และเหมาะกับอาหารฝึกกลืนระดับไหน
ปัญหาการกลืนมีกี่ระดับ และต้องเตรียมอาหารในลักษณะใดบ้างให้เหมาะสม
ปัญหาการกลืนสามารถแบ่งปัญหาตามระยะการกลืนเป็น 3 ระยะ โดยอาการของผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก อาจมีอาการแสดงที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ระยะที่ 1 ระยะช่องปาก เกิดจากการสร้างนํ้าลายลดลง ทำให้ปากแห้ง หรือไม่มีกำลังและฟันสำหรับบดเคี้ยวอาหาร อาจทำให้เกิดอาการกลืนหลายครั้งจนทำให้เกิดการสำลัก 
- ระยะที่ 2 ระยะคอหอย เกิดจากกล่องเสียงปิดช้า หูรูดหลอดอาหารส่วนต้นเปิดช้า และมีการหดตัวของคอหอยเพื่อส่งอาหารน้อยลง ส่งผลให้อาหารอยู่บริเวณคอหอยเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงในการสำลักอาหารเข้าระบบทางเดินหายใจ 
- ระยะที่ 3 ระยะหลอดอาหาร เกิดจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนต้นเปิดสั้นลง ส่งผลให้อาหารค้างอยู่ที่คอหอย และเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดอาการสำลัก
ลักษณะอาหารที่เหมาะสม คำนึงถึงความสามารถในการเคี้ยวและกลืน 

ปรับคุณสมบัติทางกายภาพของอาหาร ได้แก่ 
ขนาดของชิ้นอาหาร (size) ความแข็ง (hardness) ความหนืด (viscosity) ความเหนียว (stickiness) ความยึดติด (cohesiveness) และความเกาะติด (adhesiveness)

อาหารฝึกกลืนนั้นมีทั้งหมด 8 ระดับ การจําแนกตามเกณฑ์มาตรฐานอาหาร IDDSI (International Dysphagia Diet Standardisation Initiative) แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เครื่องดื่มและอาหาร

เครื่องดื่ม จําแนกตั้งแต่ความหนืดน้อยที่สุดไปมากที่สุดได้แก่ 
     ระดับ 0 เหลว/ไม่หนืด (Thin) เช่น น้ำเปล่า 
     ระดับ 1 หนืดเล็กน้อย (Slightly thick) เช่น น้ำผลไม้
     ระดับ 2 หนืดน้อย (Mildly thick) เช่น นมเปรี้ยว นมขาดมันเนย
     ระดับ 3 หนืดปานกลาง (Moderately thick) เช่น น้ำผลไม้เข้มข้น โยเกิร์ตชนิดดื่ม
     ระดับ 4 หนืดมาก (Extremely thick) เช่น โยเกิร์ต พุดดิ้ง เต้าฮวย
อาหาร จําแนกตั้งแต่เนื้อสัมผัสละเอียดที่สุดไปจนถึงเนื้อสัมผัสปกติ ได้แก่ 
     ระดับ 3 เหลวข้น Liquidised (เทียบเท่ากับ Moderately thick ในส่วนของเครื่องดื่ม) เช่น ซีเรียลอาหารเด็ก ผลไม้บดละเอียด ซอส/น้ำเกรวี่
     ระดับ 4 บดละเอียด Pureed (เทียบเท่ากับ Extremely thick ในส่วนของเครื่องดื่ม) เช่น เนื้อสัตว์บด โจ๊กปั่น มันบด กล้วยบด
     ระดับ 5 สับละเอียดชุ่มน้ำ (Minced & Moist) เช่น เนื้อสัตว์สับละเอียด ผักผลไม้สับละเอียด
     ระดับ 6 อ่อนและชิ้นเล็ก (Soft & Bite-sized) เช่น เนื้อปลาสุก ผักต้มสุกจนนิ่ม ผลไม้เนื้อนิ่มไม่มีเม็ด
     ระดับ 7 อาหารเคี้ยวง่าย - ธรรมดา ( Easy to chew ถึง Regular) เช่น อาหารทั่วไป
อาหารฝึกกลืนระดับ 4 เป็นระดับเริ่มต้นสำหรับผู้ที่มีปัญหาการกลืน แพทย์ผู้ดูแลและนักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ประเมินเพื่อปรับระดับตามความสามารถในการเคี้ยวกลืนของผู้ที่มีปัญหาการกลืน โดยไล่ระดับจากระดับที่ 4 ออกไปบริเวณฐานพีระมิดตามภาพ คือ ระดับ 3, 2, 1 และ 0 สำหรับเครื่องดื่ม และระดับ 5, 6 และ 7 สำหรับอาหาร ตามลำดับ
อาหารแบบไหนนำมาปั่นได้บ้าง
ข้าว-แป้ง ธัญพืช เช่น มันฝรั่ง โจ๊ก แครกเกอร์ ข้าวญี่ปุ่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวต้ม มันม่วง เผือก แป้งอเนกประสงค์ แป้งข้าวโพด แป้งมัน แป้งข้าวเจ้า แป้งถั่วเขียว ขนมปัง ถั่วลูกไก่ มอลโตเด็กซ์ตริน แปะก๊วย ข้าวโพด
ผัก เช่น แคร์รอต ถั่วแขก กระเทียม ข่าอ่อน ตะไคร้ ใบมะกรูด เห็ด มะเขือเทศ ขิง พริกหวาน มะเขือเทศ ผักโขม หอมใหญ่ หอมแดง ผักชี ใบกะเพราะ ต้นหอม ฟักทอง
ผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี
เนื้อสัตว์ โปรตีนจากพืช โปรตีนผง เช่น ปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ กุ้ง เวย์โปรตีน เต้าหู้อ่อน
นมและผลิตภัณฑ์ เช่น นมจืด นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต
อาหารกลุ่มไขมัน เช่น เนย กะทิ น้ำมันพืช อะโวคาโด งาขาว มายองเนส ถั่วลิสง
เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว/ดำ ซอสหอยนางรม จิ๊กโฉว่า เกลือ น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู น้ำตาล พริกแกง

สามารถดูเมนูอาหารฝึกกลืน ส่วนประกอบ วิธีทำและวิธีทดสอบอาหารแต่ละระดับได้ในหนังสือ 46 เมนู อาหารฝึกกลืน ตามมาตรฐาน IDDSI โดยสแกน QR Code ดังนี้
ดูแลด้านโภชนาการให้ครบถ้วนได้อย่างไร

ประเมินความต้องการพลังงานและสารอาหาร โดยคำนึงถึงเพศ อายุ กิจกรรมทางกายและภาวะความเจ็บป่วย เพื่อให้เข้าใจง่ายในการนำไปปฏิบัติ ตามคำแนะนำธงโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำปริมาณอาหารที่ผู้สูงอายุควรได้รับโดยจำแนกตามกิจกรรมทางกาย 
**แต่ในกรณีที่มีภาวะการเจ็บป่วยเฉียบพลันหรืออยู่ระหว่างการเจ็บป่วยที่ร่างกายมีความต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้น ควรปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อคำนวณพลังงานและสารอาหารที่เหมาะสมในภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้


- ปรับเนื้อสัมผัสอาหารให้สอดคล้องกับความสามารถในการเคี้ยวและกลืนของผู้สูงอายุ
- ในกรณีที่กินได้น้อย ควรเพิ่มความถี่ของมื้ออาหารในแต่ละวันขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ผู้สูงอายุกินได้ 4-6 มื้อต่อวัน
- ในกรณีที่ไม่สามารถกินอาหารทางปากได้อย่างเพียงพอแม้จะปรับเนื้อสัมผัสแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อพิจารณาอาหารทางสายให้อาหาร (Enteral tube feeding)
ผู้เขียน ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา วิชาชีพนักกำหนดอาหาร สังกัดงานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ่านเพิ่มเติม : จะเลือกอาหารทางแพทย์สำหรับผู้สูงอายุอย่างไรดี?
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเกิดความเครียด
วัยสูงอายุ เป็นวัยของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและใจ ...
เรื่องเล่าจากพี่ปิ่นเพชร
เมื่อเราเป็นผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม สิ่งที่เราคิดอยู่ในใจเสมอ ...
รถเข็นวีลแชร์
รถเข็นวีลแชร์เป็นอุปกรณ์ช่วยผู้ที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ...
ผู้ดูแลอยากจะกรี๊ด
การดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม ถึงแม้จะดูแลด้วยความรักความเอาใจใส่ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.