จะเลือกอาหารทางแพทย์สำหรับผู้สูงอายุอย่างไรดี?

อาหารทางการแพทย์ คือ อาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือแบบผง ซึ่งผลิตโดยกระบวนการทางอุตสาหกรรม มีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยจำแนกเป็นสูตรมาตรฐานชนิดที่สารอาหารหลักอยู่ในรูปที่ยังไม่ผ่านกระบวนการย่อย (Standard polymeric formula) สูตรที่มีการย่อยสารอาหารหลักบางส่วน (Semi-elemental formula) และสูตรเฉพาะโรค (Disease specific formula) สามารถใช้เป็นอาหารมื้อหลักหรือเสริมร่วมกับอาหารมื้อปกติได้ รวมทั้งสามารถดื่มทางปากหรือให้ผ่านสายให้อาหารได้ (Tube feeding) โดยใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือนักกำหนดอาหาร
อาหารทางการแพทย์ที่ให้ผู้สูงอายุมีหลากหลายแบบ หลายยี่ห้อ มีวิธีเลือกอย่างไรบ้าง

เนื่องจากอาหารทางการแพทย์ทุกชนิดและทุกยี่ห้อที่มีวางขายจะเป็นสูตรไม่มีน้ำตาลแลคโตส ที่ผู้สูงอายุอาจจะมีปัญหาการพร่องเอนไซม์แลคเตส ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลนมหรือน้ำตาลแลคโตส ดังนั้นปัญหาการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้จึงไม่ใช่ปัจจัยในการพิจารณาเลือกอาหารทางการแพทย์ 

แนวทางการเลือกอาหารทางการแพทย์มีประเด็นสำคัญดังนี้
1. ปริมาณโปรตีนสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุและภาวะการเจ็บป่วย : หากต้องการโปรตีนสูงควรเลือกสูตรที่มีการกระจายตัวของสารอาหารหลักกลุ่มโปรตีนมากกว่าร้อยละ 15 ของพลังงาน
2. ช่องทางการให้อาหาร : หากรับประทานอาหารทางการแพทย์ทางปาก ควรพิจารณาความพึงพอใจและการยอมรับในรสชาติ
3. มีปัญหาไม่สามารถใช้สูตรมาตรฐานได้ ได้แก่ มีอาการปวดท้องหรือแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว อาจพิจารณา สามารถเลือกสูตรที่มีการย่อยสารอาหารบางส่วน (Semi-elemental formula)
เมื่อไรควรใช้อาหารทางการแพทย์ในกรณีที่ยังสามารถกินอาหารทางปากได้ 

1. ผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ (ได้รับสารอาหารในปริมาณและสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม) สามารถคัดกรองภาวะโภชนาการอย่างง่ายตาม 4 ข้อของสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย (SPENT Nutrition Screening Tool) ดังในภาพนี้ 
2. ผู้สูงอายุที่กินอาหารปกติได้พลังงานน้อยกว่าร้อยละ 60 ของความต้องการของร่างกาย หรือเทียบจากปริมาณอาหารที่เคยกิน แต่ปัจจุบันกินได้น้อยกว่าครึ่งของที่เคยกินสามารถประเมินแต่ละมื้อได้ เช่นอาหาร 1 จาน หรือข้าวต้ม 1 ถ้วย หรือก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม แล้วกินได้น้อยกว่าครึ่ง 
ถ้ายังกินอาหารได้ปกติควรกินหรือไม่ : ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้นไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาหารทางการแพทย์
อาหารทางการแพทย์มีหลากหลายสูตร มีอะไรบ้าง 

อาหารทางการแพทย์สูตรมาตรฐานทั่วไป (standard polymeric formula) คือ อาหารทางการแพทย์ที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุที่จําเป็นต่อร่างกาย โดยสารอาหารหลัก (macronutrient) อยู่ในรูปที่ยังไม่ผ่านกระบวนการย่อย และมีใยอาหาร โดยทั่วไปจะมีความเข้มข้น 1-2 กิโลแคลอรี/มล. เช่น Blendera, Boost optimum, Ensure, Isocal สำหรับสูตรมาตรฐานที่มีใยอาหารสูง เช่น Boost fiber, Jevity

อาหารทางการแพทย์สูตรที่มีการย่อยสารอาหารบางส่วน (Semi-elemental formula) คือ สูตรอาหารทางการแพทย์ที่มีองค์ประกอบของสารอาหารหลักที่ง่ายต่อการย่อย เนื่องจากโปรตีนจะถูกย่อยให้เป็นเปปไทด์สายสั้น และไขมันเป็นกรดไขมันสายปานกลาง (MCT) เป็นหลัก รวมทั้งไม่มีองค์ประกอบของใยอาหาร เลือกใช้ในกรณีที่ใช้สูตรมาตรฐานแล้วแต่มีปัญหาการเคลื่อนที่และการดูดซึมของทางเดินอาหารผิดปกติ (Feeding intolerance) เช่น Peptamen, Pan enteral

อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค (Disease specific formula) คือ อาหารทางการแพทย์ที่มีปรับสูตรให้เหมาะสมกับความจำเพาะของแต่ละโรค ซึ่งในประเทศไทยมีอาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรคจำนวน 4 โรค ได้แก่ โรคไต (สูตรโปรตีนต่ำสำหรับระยะก่อนล้างไตและสูตรโปรตีนสูงสำหรับระยะล้างไต) โรคตับ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง โดยแต่ะละโรคจะมีลักษณะจำเพาะดังนี้
คุณสมบัติเฉพาะในอาหาร

โรคไต
- ระยะก่อนล้างไต (Pre-dialysis) : โปรตีนต่ำ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียมต่ำ เช่น Nepro LP, Once Renal
- ระยะล้างไต (Dialysis) : โปรตีนสูง โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียมต่ำ เช่น Nepro HP, Once Dialyze

โรคตับ
High BCAA (Branched-amino acids) โปรตีนสูง และ โซเดียมต่ำ เช่น Aminoleban

โรคเบาหวาน
ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index)  และใยอาหารที่ละลายน้ำสูง (high soluble fiber) เช่น Gen-DM, Once Pro, Glucerna, Boost Care, Nutren Balance

โรคมะเร็ง
โปรตีนสูง อาร์จินีน กลูตามีน กรดไขมันโอเมก้า 3 นิวคลีโอไทด์ สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Neomune, Prosure, Oral impact
5. กินอย่างไร ปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะ

- หากกินอาหารทางการแพทย์เป็นอาหารเสริมทางปาก (Oral Nutrition Supplement; ONS) ร่วมกับอาหารปกติ  ควรเสริมอย่างน้อย 400 กิโลแคลอรี/วัน โปรตีนตั้งแต่ 30 กรัม/วัน 
- หากให้ทางสายให้อาหารทั้งหมด (Enteral tube feeding) คำนวณให้ได้รับพลังงานและสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการ โดยพิจารณาจากภาวะโภชนาการและความเจ็บป่วยร่วมด้วย 
- พลังงานสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป 30 กิโลแคลอรี/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน
- โปรตีนสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป  อย่างน้อย 1 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน สำหรับผู้สูงอายุที่มีการเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือเรื้อรังควรได้รับ 1.2 – 1.5 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน หากเจ็บป่วยรุนแรงได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือมีภาวะทุพโภชนาการ สามารถเพิ่มเป็น 2 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน ทั้งนี้ต้องพิจารณาการทำงานของไตร่วมด้วยในการกำหนดโปรตีน
- ความเข้มข้นของอาหารทางสายให้อาหารต่อ 1 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดปริมาณน้ำที่ควรได้รับของผู้สูงอายุ รวมทั้งปริมาตรของอาหารที่ผู้สูงอายุจะรับได้ ซึ่ความเข้มข้นสามารถปรับได้ 1 – 2 กิโลแคลอรี/มิลลิลิตร 
เปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยระหว่างการกินอาหารปกติกับอาหารทางการแพทย์


ข้อดี                         

อาหารปกติ                                                        
1. มีความหลากหลายของลักษณะอาหาร ทั้งวัตถุดิบ เนื้อสัมผัส กลิ่น สี และรสชาติ
2. สามารถปรับองค์ประกอบสารอาหารหลักได้ตามความต้องการของร่างกายผู้สูงอายุ
3. ราคามีความยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่เลือก
4. อาหารปกติ เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ เพราะผู้สูงอายุจะยังคงมีความรู้สึกว่าท่านยังสามรถทำกิจกรรมได้ไม่แตกต่างจากคนในวัยอื่นๆ กินอาหารร่วมกับผู้อื่นด้วยลักษณะอาหารที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันได้
อาหารทางการแพทย์
1. สะดวกและง่ายในการรับประทาน
2. หากได้รับตั้งแต่ 1,500 kcal/day ผู้สูงอายุจะได้รับสารอาหารหลักและสารอาหารรอง (วิตามินและแร่ธาตุ) เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
3. ตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีปัญหาฟันในการบดเคี้ยวอาหาร


ข้อด้อย

อาหารปกติ
1. จะต้องปรับเนื้อสัมผัสให้เหมาะกับความสามารถในการเคี้ยวและกลืนของผู้สูงอายุ
2. หากไม่ปรับเนื้อสัมผัสอาหาร ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน รวมทั้งใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบอาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากผู้สูงอายุไม่สามารถเคี้ยวอาหารเหนียวๆได้
3. หากผู้สูงอายุเบื่ออาหารกินได้น้อย การกินอาหารปกติเพียงอย่างเดียว ผู้สูงอายุอาจขาดพลังงานและสารอาหารได้
อาหารทางการแพทย์
1. ไม่สามารถปรับองค์ประกอบของสารอาหารได้ ดังนั้นการเลือกชนิดของอาหารทางการแพทย์ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้น
2. แตกต่างจากการกินอาหารปกติ อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากลักษณะอาหารแตกต่างจากสมาชิกในครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าความสามารถในการทำกิจกรรมปกติของตนเองแย่ลง ไม่สามารถกินได้เหมือนคนอื่นๆทั่วไป
3. อาจทำให้เบื่อ เพราะลักษณะอาหารซ้ำซาก จำเจ
4. ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือผู้เลี้ยงดูสนับสนุนค่าอาหาร ไม่สามารถจะจัดซื้อมาได้ เนื่องจากมีราคาค่อนข้างแพงกว่าอาหารปกติ
ผู้เขียน ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา วิชาชีพนักกำหนดอาหาร สังกัดงานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ปัญหาการกินและการขับถ่ายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
เมื่อถึงวัยสูงอายุ ประสิทธิภาพการทำงานภายในร่างกายลดลง รวมทั้งระบบทางเดินอาหาร ...
หกล้มอันตรายกว่าที่คิด
อายุ 65 ปี+ เสี่ยงหกล้ม 28-35% อายุ 70 ปี+ เสี่ยงหกล้ม 32-42% อัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงเป็นอันดับ 2 ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ห่างไกลสมองเสื่อม
เริ่มวันนี้ ลดเสี่ยงสมองเสื่อมได้ถึง 30%
โกหกไม่ดี แต่...
เราได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี ...
ด้วยรักและเข้าใจ
พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง หรือสามีภรรยา ...
EP10 ครอบครัว คือยารักษาใจ
คุณแม่ของผมเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2492 ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.