ปัญหาการกินและการขับถ่ายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ปัญหาการกินและการขับถ่ายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
เมื่อถึงวัยสูงอายุ ประสิทธิภาพการทำงานภายในร่างกายลดลง รวมทั้งระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่การรับรู้รสชาติ ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว การย่อยอาหาร และการขับถ่าย ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับการกินอาหารรวมทั้งการขับถ่ายมีดังนี้ 
1. กินเค็มมากขึ้น 
ต่อมรับรสของผู้สูงอายุทำงานน้อยลง กินเท่าไรไม่เค็มสักทีต้องเติมน้ำปลาหรือซอสเพิ่ม การกินเค็มทำให้เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคไต ควรเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรส รวมทั้งเลี่ยงของหมักดอง แช่อิ่ม อาหารทะเล เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีโซเดียมสูง 
     ข้อแนะนำ อาจให้รับประทานแกงมะระรสขมก่อน เพื่อให้การรับรสชาติดึขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุกินเค็มรวมทั้งหวานน้อยลง 

2. สำลัก
กระบวนการอัตโนมัติของร่างกายทำงานช้าลงจึงสำลักได้ง่าย เสี่ยงปอดอักเสบติดเชื้อ มีโอกาสเป็นอันตรายถึงชีวิต 
     ข้อแนะนำ ขณะรับประทานอาหาร ควรตั้งสติรับรู้สิ่งที่กำลังทำ เคี้ยวอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด ค่อยๆ กลืน  อย่ารีบกินถ้าเป็นอาหารเหลว เช่น น้ำแกง ซุป ไม่คุยไปกินไป ไม่ทำอย่างอื่นขณะรับประทานอาหาร 

3. ท้องอืด แน่นท้อง 
ระบบการย่อยอาหารทำงานน้อยลง ลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง การที่มีลมในท้องมาก เริ่มตั้งแต่การเคี้ยว ฟันไม่ดีหรือฟันเหลือน้อยจะเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารที่ลงไปถึงกระเพาะอาหารจะมีชิ้นใหญ่ย่อยยาก น้ำดีทำงานน้อยลง การย่อยอาหารมันๆ ทำได้ยากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง           ข้อแนะนำ ดูแลรักษาฟันให้แข็งแรง เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เคลื่อนไหวร่างกาย เลี่ยงการนั่งๆ นอนๆ มากเกินไป

4. ท้องผูก 
ผู้สูงอายุแต่ละคนมีรอบการขับถ่ายต่างกัน บางคนถ่ายทุกวัน บางคนอาจ 2 วันครั้ง หากคนที่ถ่าย 2 วันครั้งถ่ายสะดวก ถือว่าการขับถ่ายนั้นเป็นปกติ ในขณะที่อีกคนหนึ่งถ่ายทุกวันแต่ต้องเบ่งมาก หรืออุจจาระเป็นก้อนกระสุน แสดงว่ามีปัญหาท้องผูก ท้องผูกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลงในวัยสูงอายุ กินอาหารกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือกินยาที่ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวน้อยลง เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดบางชนิด หรือแคลเซียม  เป็นริดสีดวงทวารทำให้ไม่อยากเบ่ง 
     ข้อแนะนำ ลดปัญหาท้องผูกได้โดยการกินมะระจีน มะระขี้นก ผักบุ้ง แอปเปิ้ล ถั่วลันเตา ข้าวโพดอ่อน มะขามเปียก ฯลฯ ดื่มน้ำให้พอเพียงในแต่ละวัน หรือตื่นเช้ามาปัสสาวะให้เรียบร้อยแล้ว ดื่มน้ำแก้วโตหน่อย กินขมิ้นชัน 1-2 แคปซูล แล้วนวดท้อง การใช้ลูกพรุนหรือน้ำลูกพรุนอาจไม่ค่อยได้ผลในผู้สูงอายุบางคน แต่จะได้น้ำตาลเพิ่มโดยไม่จำเป็นจึงควรเลือกกินผักผลไม้อื่นแทน การดูแลด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้โดยไม่ต้องพึ่งพายาระบาย ช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาจนกระทั่งต้องเข้ารับการผ่าตัด
ทำความรู้จักกับยาระบายสักนิด 
การใช้ยาระบายควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น หากใช้โดยไม่ถูกวิธีหรือใช้นานเกินไป อาจส่งผลเสียทำให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายเองได้ในที่สุด
1. กลุ่มเพิ่มกากใย เช่น Mucillin คือส่วนนอกสีขาวๆ ของเม็ดแมงลัก นำมาทำเป็นผง กินเพื่อเพิ่มกากอาหาร แต่มีข้อควรระวังคือ ต้องดื่มน้ำมากพอสมควร อย่าขาดน้ำ มิฉะนั้นจะแห้งแข็งติดอยู่ภายในลำไส้  
2. เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ เช่น  MoM (Milk of Magnesia) Lactulose ทำงานโดยดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก ข้อควรระวังคือ ถ้าดื่มน้ำน้อย ผู้สูงอายุจะขาดน้ำ และมีโอกาสความดันโลหิตสูงตามมาได้ 
3. Bisacodyl มะขามแขก ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัว 
ข้อมูลโดย ผศ.พญ.สิรินทร  ฉันศิริกาญจน
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
การสร้างเสน่ห์ และคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ
เมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ ควรปรับเปลี่ยนความคิด ทำความเข้าใจลูกหลาน ...
จะเลือกอาหารทางแพทย์สำหรับผู้สูงอายุอย่างไรดี?
บทความอื่นที่น่าสนใจ
คอเลสเตอรอลในเลือดสูง..ลดได้..ง่ายจริงๆ
รู้แล้วว่าพืช ผัก ผลไม้ ไม่มีคอเลสเตอรอล ...
การดูแลแผลกดทับ
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมนอนติดเตียง มักจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ...
สิ่งอันตรายในบ้านที่อาจนึกไม่ถึง
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ...
โรคฟัน
โรคฟัน ที่สำคัญได้แก่ โรคฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ ทั้ง 2 โรค ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.