เคล็ดลับลดปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ

เคล็ดลับลดปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมักมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลงตามเวลา รวมทั้งสาเหตุโดยทั่วไปอย่างการใช้งานหนักและการไม่ค่อยใช้งานก็เป็นสาเหตุของการปวดเมื่อยได้เช่นกัน อาการปวดเมื่อยเกิดได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ หลัง เอว สะโพก แขน มือ  ขา และเท้า 
สูงวัยทำไมต้องปวดเมื่อย

อาการปวดเมื่อยของผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายสาเหตุ

1. กล้ามเนื้อ : บริเวณที่ทำงานหนักมาเป็นเวลานาน อาจอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เช่น นั่งหลังงอ ท่านอนไม่เหมาะสมเนื่องจากที่นอนนิ่มหรือใช้หมอนสูงเกินไป หรือใช้แรงกล้ามเนื้อส่วนนั้นเป็นประจำอย่างการยกของหนัก

2. เส้นเอ็น :  มักจะปวดหรือติดขัดบริเวณข้อต่อที่ใช้งานหนัก เช่น ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย

3. เส้นประสาทถูกกดทับ  : จะมีอาการปวดแสบ และร้าวตามแนวเส้นประสาท บริเวณที่เป็นบ่อย เช่น คอ หลัง เอว ขา เกิดบริเวณคอ เกิดจากกระดูกเสื่อม พอมีแคลเซียมมาเกาะจึงกดทับเส้นประสาท ปวดบริเวณหลังและเอวส่วนใหญ่เกิดจากยกของหนักหรือยกในท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ถ้าถูกกดทับบริเวณขาอาจทำให้เดินไม่สะดวก 

4. กระดูกและข้อเสื่อม
ข้อเข่า - พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือแบกของหนักเป็นประจำ หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อย การนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ จะมีปัญหาข้อเสื่อมบริเวณหัวเข่า 
นิ้วมือ - มีอาการปวดหรือบวม เกิดจากการใช้งานหนัก ทำงานบ้าน เช่น ซัก บิดผ้า  หิ้วของหนัก เช่น ใช้มือหิ้วของหนักตอนไปจ่ายตลาด  
                     
5. โรค : เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเก๊าต์ โรครูมาตอยด์ และติดเชื้อในข้อ เป็นต้น  

6. หลอดเลือด : จากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหรือดำ ถ้าตีบแคบจะทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเมื่อมีการใช้งาน ต้องหยุดพักให้อาการดีขึ้นก่อน หากหลอดเลือดดำบริเวณขาโป่งพองจากลิ้นกั้นผิดปกติ อาจปวดมากในเวลานอนทำให้นอนไม่หลับ พบบ่อยในผู้หญิงที่ตั้งครรร์หลายครั้ง 
เคล็ดลับลดปวดเมื่อย

1. ใช้อย่างเหมาะสม เลี่ยงท่านั่งที่เป็นสาเหตุของอาการปวด เช่น นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ   เลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน เลี่ยงการวิ่งหรือกระโดดเพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ควบคุมน้ำหนักตัวอย่าปล่อยให้อ้วน พิงพนักเมื่อต้องนั่งนาน ย่อตัวก่อนยกของแทนการก้ม ไม่ยกของหนักเกินกำลัง 

2. เพิ่มกล้ามเนื้อ ลดการใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวใช้แรงพอเหมาะกับกำลังของตัวเอง บริหารร่างกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อในส่วนที่มักพบปัญหา เช่น  เช่น กล้ามเนื้อคอ ไหล่ แขน หลัง บริหารหน้าท้องเพื่อช่วยพยุงส่วนหลัง  การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยให้ข้อต่อไม่ต้องทำงานหนักเกินไป  
 
3. เลือกอาหาร รับประทานอาหารประโยชน์ให้ครบทุกหมวดหมู่ ปริมาณพอเหมาะ เลี่ยงการรับประทานแป้งและไขมันในปริมาณสูง เลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณมาก เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ผู้ป่วยโรคเก๊าต์ควรเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก และยอดอ่อนของผัก เป็นต้น
นวดแก้ปวดดีหรือไม่

สำหรับผู้สูงอายุแล้วการนวดและการทำกายภาพบำบัดมีข้อควรระวังอย่างยิ่ง ตั้งแต่การเลือกผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง เลือกสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ 
การนวดไม่ควรนวดในลักษณะที่หนักหรือรุนแรงเช่น การดัดร่างกาย เพราะอาจทำให้บาดเจ็บกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูกได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากภาวะร่างกายหรือมีบางโรคอาจไม่เหมาะกับการนวด 

 ข้อห้ามในการนวด
- มีไข้ 
- มีแผลเปิด
- ขณะปวดกล้ามเนื้อเฉียบพลัน เช่น ปวดมาก บวม แดงร้อน 
- อาการโรคติดเชื้อเฉียบพลัน 
- ผู้ที่ข้อหลวมหรือเคลื่อน 
- บริเวณกระดูกหักที่ยังประสานไม่สนิท 
- บริเวณที่ใส่ข้อเทียม
- เป็นโรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน โรคติดต่อทางผิวหนัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ เป็นต้น
- มีภาวะผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด 

หากผู้สูงอายุมีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดที่เป็นอยู่เพิ่มมากขึ้น หรือปวดเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
EP05 ทุกข์ ของผู้เป็นที่รัก
ด้วยความที่พ่อมีพื้นนิสัยเป็นคนพูดน้อย และเป็นสุภาพบุรุษ ...
สูงวัยหลับยากตื่นง่าย
ผู้สูงอายุมักมีปัญหานอนไม่หลับ ...
เรื่องเล่าจากพี่ปิ่นเพชร
เมื่อเราเป็นผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม สิ่งที่เราคิดอยู่ในใจเสมอ ...
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ
สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมีผลต่อสุขภาพร่างกาย ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.