เมื่อผู้ป่วยสมองเสื่อมมีอาการประสาทหลอน

เมื่อผู้ป่วยสมองเสื่อมมีอาการประสาทหลอน
อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยสมองเสื่อมนั่นก็คือ ประสาทหลอนรวมทั้งการเห็นภาพหลอน ผู้ป่วยอาจบอกว่ากลัวคนแปลกหน้าที่อยู่ในห้อง หรือพูดคุยคนเดียวราวกับมีผู้ร่วมสนทนาจริง   
สาเหตุประสาทหลอน อาการประสาทหลอนและการเห็นภาพหลอน เกิดจากการรับรู้ที่ผิดปกติเนื่องมาจากการทำงานของสมองที่แปรปรวนไปจากภาวะสมองเสื่อม ผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพหลอนของคนแปลกหน้า คนรู้จัก ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว มองเห็นสถานที่ อาจมีอาการประสาทหลอนทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รับรสชาติ หรือรู้สึกทางการสัมผัส โดยที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ได้ยินเสียงคนพูดคุยกัน ได้กลิ่นควัน รู้สึกมีรสโลหะอยู่ในปาก เห็นแมลงไต่บนแขนและรู้สึกคัน เป็นต้น  
9 เคล็ดลับรับมืออาการประสาทหลอน  

1. ผู้ดูแลประเมินดูว่าอาการนั้นเป็นปัญหาหรือเป็นอันตรายหรือไม่ ถ้าไม่ก็สามารถปล่อยไว้ ถ้าหากผู้ป่วยเกิดความกลัว วิตกกังวล เครียด หรือส่งผลเสีย อื่น ๆ เช่น เกาจากรู้สึกคันที่แมลงไต่ตัวจนกระทั่งเป็นแผล หรือที่ผู้ดูแลอยู่รู้สึกหวาดกลัวจากการที่ผู้ป่วยเห็นคนอื่นอยู่ในห้อง อาจพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ 
2. เช็คร่างกาย อาจพาไปตรวจการมองเห็นและการได้ยิน ตรวจดูผิวหนังผู้ป่วยอาจแห้งคันควรหาครีมหรือโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว 
3. ปลอบโยน รับฟังและแสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจในตัวผู้ป่วย พูดปลอบโยนให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าจะได้รับการปกป้องจากผู้ดูแล จับมือ ลูบตัว หรือโอบกอด
4. สื่อสารอย่างเหมาะสม พูดกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ใช้ถ้อยคำสุภาพ พูดช้า ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เลี่ยงการโต้เถียงหรือพยายามบอกว่าสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นหรือรับรู้ไม่ใช่ความจริง  
5. ค้นหาสาเหตุ อาการประสาทหลอนของผู้ป่วยอาจเกิดจากการเห็นเงาของสิ่งของบางอย่าง ลองเช็คแสงไฟที่ทำให้เกิดเงาน่ากลัว ปิดม่านจากแสงไฟรถยนต์ที่แล่นผ่านตอนกลางคืน ปิดเสียงโทรทัศน์ หมอนหรือผ้าห่มกองบนเตียงอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นคนหรือสัตว์แล้วเกิดความกลัว หาผ้าคลุมหรือเก็บกระจกสะท้อนออกจากห้อง หาผ้าม่านปิดหน้าต่างกระจก เป็นต้น
6. เบี่ยงเบนความสนใจ อาจชวนผู้ป่วยไปห้องอื่น ชวนพูดคุย ดูภาพ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยชอบ
7. จัดบ้านให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย ดูแลตกแต่งห้องให้ไม่รกรุงรัง จัดพื้นที่เป็นระเบียบ ตกแต่งน้อย ๆ เท่าที่จำเป็น มีแสงสว่างพอเพียงไม่ให้มีส่วนมืดหรือเห็นเป็นเงาทำให้ผู้ป่วยกลัว  
8. สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย  เตรียมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยชอบและสร้างความรู้สึกสงบ เช่น ฟังเพลงช้า ๆ จัดดอกไม้ อ่านหนังสือ สำหรับทำระหว่างวัน หรือชวนทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เลี่ยงบรรยากาศอึกทึกหรือพบกับผู้คนมาก ๆ 
9. ดูแลให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนและนอนหลับอย่างพอเพียง จัดห้องนอนให้เงียบสงบผ่อนคลาย ตรวจเช็คอุณหภูมิห้องไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป 

ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และท่าทีที่พร้อมจะปกป้องดูแลผู้ป่วยมีความสำคัญในการช่วยลดปัญหาการเห็นภาพหลอนหรือประสาทหลอนสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เมื่อทราบว่าคนในบ้านมีภาวะสมองเสื่อม เรา
เมื่อคนในครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อม ...
สมองเสื่อมที่ป้องกันได้
ภาวะสมองเสื่อมป้องกันได้หรือไม่ มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร
ภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยสมองเสื่อม
ในสมองของผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
ห่างไกลสมองเสื่อม
เริ่มวันนี้ ลดเสี่ยงสมองเสื่อมได้ถึง 30%
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.