กิจกรรมดี ๆ ช่วยผู้ป่วยสมองเสื่อมได้นะ

กิจกรรมดี ๆ ช่วยผู้ป่วยสมองเสื่อมได้นะ
สมองเสื่อมไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการนั่ง ๆ นอน ๆ การชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่เหมาะกับตัวผู้ป่วยมีประโยชน์หลายด้าน ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง คงความสามารถในการดูแลตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ช่วยเรื่องความจำ อารมณ์แจ่มใส ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และยังลดปัญหาในการดูแล 
บางกิจกรรมผู้ดูแลสามารถเพลิดเพลินไปพร้อมกับผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่อันหนักหน่วงอยู่ตลอดเวลา 
7 กิจกรรมสำหรับผู้ป่วยผู้ดูแลอาจนึกไม่ออกว่าจะหากิจกรรมอะไรให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมทำได้บ้าง ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นกิจวัตรประจำวันที่เป็นประโยขน์ในด้านต่าง ๆ  เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ดูแลคิดกิจกรรมได้หลากหลายขึ้น โดยเลือกที่เหมาะกับความชอบ ความถนัด และภาวะร่างกายของผู้ป่วย

1. ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ  เช่น เดิน เต้นรำ ทำสวน โยคะ ไทชิ ว่ายน้ำ ฯลฯ

2. เสริมสมองและอารมณ์ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นเกมบัตรคำ จิ๊กซอว์ ทายปัญหา เกมคิดเลข ฯลฯ 

3. สร้างสรรค์ เช่น วาดภาพ ทำงานประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย เล่นดนตรี  ฯลฯ 

4. เข้าสังคม ให้ผู้ป่วยพบปะเพื่อนฝูงหรือญาติ เล่นกีฬา รวมกลุ่มออกกำลังกายกับเพื่อนบ้านหรือชุมชน ฯลฯ

5. เตือนความทรงจำดี ๆ เช่น ชวนดูภาพเก่า ภาพครอบครัว ของสะสมหรือของแทนความทรงจำ อ่านหนังสือหรือร้องเพลงเก่าในอดีตที่ชอบ ฯลฯ

6. กระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น ฟังเพลง เดินเล่นในสวนดูและดมกลิ่นดอกไม้ ชิม อาหาร  เล่นปิดตาทายสิ่งของที่จับ  ฯลฯ 

7. ช่วยผ่อนคลายสบายตัว เช่น บีบนวดเบา ๆ เพื่อการผ่อนคลาย ทาครีมบำรุงผิวลดผิวแห้ง หวีผม ฯลฯ 
เลือกกิจกรรมอย่างไรจึงจะเหมาะกับผู้ป่วยสมองเสื่อม

ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการของภาวะสมองเสื่อม ระยะของอาการแตกต่างกัน รวมทั้งความชอบ ความเคยชินเฉพาะตน  กิจกรรมบางอย่างอาจเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนต่างกันไป 

มีข้อแนะนำในการเลือกกิจกรรมดังนี้ 
เลือกกิจกรรมที่ผู้ป่วยถนัดหรือชอบทำ บางท่านอาจชอบร้องเพลง ทำอาหาร ทำสวน หรือทำงานศิลปะ ฯลฯ  โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ป่วยในช่วงเวลานั้น 

1. สังเกตว่าผู้ป่วยทำกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำเป็นกิจวัตร หรือเริ่มทำเองโดยไม่ต้องชวน เช่น ชอบพับผ้า ชอบดูภาพดอกไม้ กวาดบ้าน หรือวาดรูป ฯลฯ ผู้ดูแลสามารถนำกิจกรรมง่าย ๆ ใกล้ตัวเหล่านี้มาเป็นกิจกรรมประจำวันให้ผู้ป่วยทำเพื่อความเพลิดเพลิน 

2. เหมาะกับสุขภาพร่างกายผู้ป่วย เช่น ควรเลือกกิจกรรมเบา ๆ สำหรับผู้ป่วยที่เหนื่อยง่าย หากมีปัญหาการมองเห็นควรเลือกกิจกรรมที่ไม่ต้องเน้นการใช้สายตามากนัก หรือเลือกวัตถุที่มีสีสันตัดกันเพื่อให้เห็นชัดขึ้น เลือกกีฬาหรือการออกกำลังที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีปัญหาการเคลื่อนไหวแขนขา เป็นต้น 

3. เน้นความเพลิดเพลินของผู้ป่วยเป็นหลัก อาจเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้ทักษะที่เคยทำได้ เช่น วาดรูป เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ฯลฯ

4. ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกิจวัตรประจำวัน เช่น ช่วยจัดโต๊ะอาหาร ช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ 

5. เลือกกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับงานที่ผู้ป่วยเคยทำ เช่น จัดระเบียบสิ่งของ นับจำนวนสิ่งของ เขียนหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ ซ่อมแซมของใช้ เป็นตัน

6. เลือกช่วงเวลาเหมาะสม สังเกตผู้ป่วยว่าชอบทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันแต่ละอย่างในช่วงเวลาไหนมากกว่ากัน เมื่อทราบแล้วพยายามกำหนดให้เป็นเวลา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอารมณ์ดี ง่ายต่อการดูแล 

7. ปรับกิจกรรมตามระยะอาการ เมื่ออาการมากขึ้นความจำและความสามารถของผู้ป่วยจะถดถอยลงไป  ปรับกิจกรรมให้ง่ายสำหรับผู้ป่วย 
เคล็ดลับผู้ดูแล


1. หากผู้ป่วยปฏิเสธ ควรยอมตาม ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนกิจกรรม
2. ควรหยุดหรือเปลี่ยนกิจกรรมเมื่อผู้ป่วยรู้สึกเบื่อหรืออารมณ์เสีย
3. ผู้ดูแลเป็นผู้นำชวนทำกิจกรรม เป็นการใช้เวลาร่วมกันแทนการบังคับหรือสั่งให้ทำ  
4. กระตุ้นให้ทำกิจกรรมโดยการเชิญชวน ให้กำลังใจแต่ไม่กดดัน ไม่เน้นว่าจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีเลิศ
5. เลือกกิจกรรมที่มีขั้นตอนง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน 
6. ขั้นตอนบางอย่างอาจยากสำหรับผู้ป่วย ผู้ดูแลช่วยแนะนำ หรือช่วยได้
7. ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองมีค่า ได้รับความภาคภูมิใจ โดยอาจขอความช่วยเหลือในส่ิงที่ผู้ป่วยทำได้ 
8. เลี่ยงการตำหนิผู้ป่วย 
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
อุปกรณ์การดูแลแผลกดทับ
การดูแลแผลกดทับ ใช้อุปกรณ์ที่ต่างกันตามระดับแผลกดทับ ...
ตัวอย่างตารางการใช้ชีวิตประจำวันและการออกกำลังกาย
แนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุในแต่ละสัปดาห์
โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ ...
การกอดช่วยผู้มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจสูญเสียความจำและความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.