สูงอายุแล้วเช็คร่างกายด้วยตัวเองกันหน่อย

สูงอายุแล้วเช็คร่างกายด้วยตัวเองกันหน่อย
การตรวจสุขภาพประจำปีกับทางโรงพยาบาล มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ส่วนการตรวจสุขภาพแบบพื้นฐานด้วยตนเองก็มีส่วนช่วยในการระวังป้องกันด้านสุขภาพอีกทางหนึ่งเช่นกัน

ถึงแม้ว่าจะทดแทนการตรวจที่โรงพยาบาลไม่ได้ แต่การตรวจเช็กร่างกายในขั้นต้นจากการสังเกตและทดสอบด้วยวิธีง่าย ๆ  จะมีประโยชน์ยิ่งขึ้น หากพบความผิดปกติเร็ว ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้ตั้งแต่มีอาการในระยะเริ่มต้น ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจแก้ไขได้ด้วยการปรับการกินอยู่
ควรเช็คร่างกายส่วนไหนอย่างไรบ้าง

สายตาและการมองเห็น 
- หากพบว่าอ่านหนังสือไม่ชัดในระยะ 1 ฟุต  อาจมีปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว ควรไปตรวจวัดสายตา
- มองเห็นจุดดำลอยไปมา มองเห็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพซ้อน ควรปรึกษาแพทย์

การได้ยิน
หูอื้อ หูไม่ได้ยินข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ขี้หูอุดตัน มีน้ำหรือหนองไหลออกมาจากหู  ควรปรึกษาแพทย์

ผิวหนัง
- มีผื่น  บาดแผล หรือรอยฟกช้ำตามร่างกาย หรือเมื่อมีการอักเสบติดเชื้อหายยาก ควรพบแพทย์ อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน
- ผิวแห้ง เล็บเปราะ เบื่ออาหาร อาจเกิดจากการขาดสารอาหาร

การขับถ่าย
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีมดตอม อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน ควรพบแพทย์  
- ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นฉุน หรือมีเลือดปน หลังปัสสาวะสุดมีอาการเสียวปลายท่อปัสสาวะ อาจเกิดจากการติดเชื้อ ควรพบแพทย์ 
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้  อาจเกิดจากมดลูกหย่อน ควรพบแพทย์
- ปัสสาวะสีเข้ม (ปัสสาวะปกติควรมีสีเหลืองอ่อน) เริ่มจากดูปริมาณการดื่มน้ำ และแก้ไขโดยดื่มน้ำให้พอเพียงก่อน หากยังพบปัญหาควรปรึกษาแพทย์ 
- การขับถ่าย หากมีท้องผูก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง กินอาหารกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย  เป็นริดสีดวงทวาร กินยาบางประเภท เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดบางชนิด หรือแคลเซียม 

น้ำหนักตัว
ชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำ ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากน้ำหนักตัวลดหรือผอมลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์ 
หากน้ำหนักลดลงร้อยละ 5 ภายใน 6 เดือน หรือ ลดลงร้อยละ 10 ภายใน 1 ปี อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่โดยเฉพาะกลุ่มโรคมะเร็ง 
 เต้านม 

ผู้หญิงควรตรวจอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง  7-10 วันหลังจากมีประจำเดือนวันแรก ถ้า   หมดประจำเดือนแล้ว กำหนดวันที่จำง่ายให้ตรงกันทุกเดือน

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง 
https://www.rama.mahidol.ac.th/radiology/th/division/breast_diagnostic_center/breast_self_exam-th 

ควรปรึกษาแพทย์ถ้า
1. มีก้อนหรือรู้สึกว่าเต้านมบางแห่งหนากว่าปกติ
2. ผิวหนังแดง ผิวย่น ผิวบุ๋มลงไปเฉพาะจุด หรือเป็นทั่วคล้ายผิวส้ม มีอาการปวดบวมแดงร้อน
3. หัวนมบุ๋มที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่เป็นตั้งแต่ยังสาว มีเลือด น้ำปนเลือด น้ำใส  น้ำสีเหลืองไหลจากหัวนม
4. รู้สึกเจ็บหรือปวด

      การนอนหลับ
- นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หลับแล้วตื่นขึ้นมาบ่อย หรือตื่นขึ้นมาและนอนหลับต่อยาก ควรปรึกษาแพทย์
- ตื่นเช้าแล้วไม่สดชื่น ปากแห้ง คอแห้ง ควรพบแพทย์ อาจมีปัญหานอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

      กล้ามเนื้อ 
ทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อขา
อุปกรณ์ : เก้าอี้ 1 ตัวสำหรับทดสอบลุก-นั่ง
เริ่ม
1. แบมือ ยกแขนทั้งสองข้างวางไขว้กันที่หน้าอก 
2. ยืนหน้าเก้าอี้กะระยะให้นั่งลงพอดี 
3. เริ่มจับเวลา 30 วินาที ลุกขึ้น-นั่งลง นับว่าทำได้กี่ครั้ง 
(ลุกขึ้นนั่งและลง นับ 1 ครั้ง) 

หากทำได้น้อยกว่า 8 ครั้ง หมายถึงกล้ามเนื้อขาไม่แข็งแรง มีโอกาสหกล้มง่าย ควรออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อขา 

ทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อแขน
อุปกรณ์ : ขวดน้ำหรือดัมเบล 2 อัน ผู้หญิงน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ผู้ชายน้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัม
เริ่ม
1. งอข้อศอกขึ้นลง 2-3 ครั้งก่อนเริ่ม เพื่อช่วยการยืดหยุ่นป้องกันการบาดเจ็บ
2. มือทั้ง 2 ข้างถือดัมเบลแนบลำตัว
3. เริ่มจับเวลา 30 วินาที งอข้อศอกขึ้นยกดัมเบลมาเข้าหาลำตัวด้านหน้า

หากทำได้น้อยกว่า 11 ครั้ง หมายถึงกล้ามเนื้อแขนไม่แข็งแรง เสี่ยงบาดเจ็บหากยกของหนัก ทำงานบ้าน ไม่มีกำลังแขนพยุงตัวเมื่อหกล้ม ควรออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อแขน 

      การทรงตัว
อุปกรณ์ : โต๊ะสำหรับยืดจับป้องกันการหกล้ม
1. ปล่อยมือจากโต๊ะ ยืนตรง ก้าวขาขวาไปข้างหน้า ส้นเท้าวางชิด  ปลายเท้าซ้าย (หรือสลับข้างก็ได้)
2. ยืนนิ่ง 10 วินาที
หากเซหรือยืนได้น้อยกว่า 10 วินาที หมายถึงการทรงตัวไม่ดี ควรออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อขา แขน และฝึกการทรงตัว  
(กรณีแข็งแรงดี สามารถจับเวลาได้เอง แต่ถ้ามีความเสี่ยงต่อการหกล้มหรือเสียสมดุลของร่างกายควรมีคนอยู่ด้วยและช่วยจับเวลาให้)

       สมอง 
หากมีอาการเหล่านี้ หลงลืมบ่อย ลืมเรื่องใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมสิ่งที่ไม่น่าลืม หลงทางในที่ไปประจำ ไม่ดูแลตัวเอง คิดและทำอะไรแปลก ๆ ไม่ถูกกาละเทศะ สมาธิสั้น เรืยกชื่อสิ่งของที่คุ้นเคยไม่ถูก ทำงานที่เคยทำไม่ได้ ดูภาพไม่เข้าใจ อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อม ควรพบแพทย์

       อารมณ์ 
หากซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ กินไม่ลง นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนไม่อยากพบใคร น้อยใจ หลงลืม ขาดสมาธิ  ทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย  ถ้าอาการเหล่านี้คงอยู่เป็นเวลานานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ อาจมีภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์

บทความโดย  : พยาบาลวิชาชีพ ทิพเนตร งามกาละ โรงพยาบาลรามาธิบดี
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
โรคฟัน
โรคฟัน ที่สำคัญได้แก่ โรคฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ ทั้ง 2 โรค ...
การเตรียมพบแพทย์
การพาผู้มีภาวะสมองเสื่อมไปพบแพทย์ตามนัดมีความสำคัญ ...
อาการของภาวะสมองเสื่อม
เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวอาจสมองเสื่อม ควรพบแพทย์รักษาตั้งแต่เนิ่น ...
อาการข้างเคียงของยารักษาสมองเสื่อม
ถ้าการรักษาอาการด้านพฤติกรรม ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.