การเตรียมพบแพทย์
การพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดมีความสำคัญ แพทย์จะได้ตรวจร่างกาย ประเมินอาการ ให้คำแนะนำ แต่การไปพบแพทย์แต่ละครั้งอาจไม่ง่ายนัก มีโอกาสเกิดความปั่นป่วนได้ ผู้ดูแลควรเตรียมพร้อมรับมือ
พบแพทย์ประจำตามนัด
1. บอกผู้มีภาวะสมองเสื่อมในวันนัดก่อนเดินทางเล็กน้อย ถ้าบอกล่วงหน้าเป็นวัน อาจกังวล ถามซ้ำ ๆ ตลอดเวลา2. ถ้าเลือกได้ ขอพบแพทย์คนเดิมที่คุ้นเคย ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะยอมไปโรงพยาบาลง่ายขึ้น
พาไปรักษาโรค
1. สอบถามโรงพยาบาลว่ามีเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมระหว่างการตรวจหรือไม่2. แจ้งให้โรงพยาบาลทราบอาการผู้มีภาวะสมองเสื่อม ถ้าต้องตรวจพิเศษ เช่น เอ็กซเรย์ ญาติต้องอยู่เป็นเพื่อน
3. ถ้าโรงพยาบาลเสียงดังและพลุกพล่าน ขอนัดในเวลาที่คนน้อย
4. ปรึกษาแพทย์ว่าคุยทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลแทนได้หรือไม่
5. มีสมุดจดบันทึกอาการ ความเปลี่ยนแปลง ข้อสงสัย เพื่อปรึกษาแพทย์ในวันนัด
6. วันนัดเผื่อเวลาล่วงหน้า เพื่อให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมทำกิจวัตรต่าง ๆ โดยไม่ต้องเร่งรีบ
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมมักรอนานไม่ได้ กระวนกระวาย ควรเตรียม
1. อาหารเครื่องดื่มให้พร้อมเผื่อหิว2. สิ่งเบนความสนใจ เช่น ภาพถ่าย เกม สมุดระบายสี หรือกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน
3. ของใช้จำเป็น เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ กระดาษทิชชู่ เสื้อผ้า 1 ชุด ถุงพลาสติก ฯลฯ
4. จดชื่อ-ที่อยู่-เบอร์โทรติดต่อใส่กระเป๋า ทำสร้อยหรือกำไลข้อมือ เพื่อช่วยการตามหาหากพลัดหลง
5. เลือกเสื้อผ้าสวมใส่ง่าย อาจใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
6. หากผู้ดูแลต้องไปห้องน้ำ ฝากเจ้าหน้าที่ให้ดูแลใกล้ชิด แจ้งว่าผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจเดินหายไปได้
7. หากญาติคนเดียวดูแลลำบาก ควรชวนเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาด้วย เพื่อคนหนึ่งดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม และอีกคนสอบถามปรึกษากับแพทย์
ในช่วงโควิดระบาดอาจปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลแทน
เมื่อต้องไปนอนโรงพยาบาล
เจ็บป่วยฉุกเฉิน
– เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม แจ้งพยาบาลว่าเป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อม อาจมีอาการกลัว พลุ่งพล่าน วุ่นวาย ต่อต้าน– ในกรณีที่ทำได้ ขออยู่เป็นเพื่อนผู้มีภาวะสมองเสื่อมเพื่อสร้างความอุ่นใจ
นัดผ่าตัดต่าง ๆ
– ก่อนผ่าตัดแจ้งให้แพทย์ทราบว่าผู้มีภาวะสมองเสื่อมกินยา วิตามิน อาหารเสริม อะไรบ้าง– เตรียมร่างกายผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้แข็งแรงที่สุด กินอาหารครบ 5 หมู่ ปริมาณพอเพียง ออกกำลังกายเหมาะสม นอนหลับพอเพียง ขับถ่ายเป็นปกติ
– หากผู้มีภาวะสมองเสื่อมยังเข้าใจเรื่องราวได้ บอกคร่าว ๆ ล่วงหน้าเล็กน้อยเพื่อให้เตรียมใจก่อน
– แจ้งพยาบาลว่าเป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อม บอกเทคนิคการดูแล เช่น กิจวัตร การกินอาหาร กินยา
– ซักซ้อมสร้างความเคยชิน เช่น ผ่าตัดตา ชวนเล่นผ้าก๊อซปิดตาด้วยกัน จะได้ไม่ดึงออก
– เมื่อฟื้นจากผ่าตัด บอกผู้มีภาวะสมองเสื่อมว่าตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล เพิ่งผ่าตัดมา มีคนอยู่เป็นเพื่อน ปลอบโยนให้คลายกังวลใจ
– ป้องกันการแกะแผลหลังผ่าตัด อาจใส่นวม ถุงมือ หรือชวนทำกิจกรรมเบนความสนใจ
– คอยสังเกตอาการเจ็บปวดจากสีหน้าท่าทาง และสภาพจิตใจ
– หลังผ่าตัดอาจมีอาการสับสน กระสับกระส่าย เพ้อ
ปลอบใจ
– บอกผู้มีภาวะสมองเสื่อมว่า วันนี้วันอะไร ตอนนี้อยู่ที่ไหน มาทำอะไร อยู่โรงพยาบาลนานแค่ไหน อาจต้องบอกบ่อย ๆ– เบนความสนใจจากแผลและการเจ็บแผล ให้ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ชวนทำกิจกรรมเพลิดเพลิน
– แจ้งพยาบาลให้แนะนำตัวทุกครั้งที่เข้ามาในห้อง
– ถามวิธีการดูแลเมื่อกลับถึงบ้าน อาการที่อาจเกิดขึ้น สังเกตผลข้างเคียงจากยาที่ได้รับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
สุขภาพกาย-ใจ
การสร้างภูมิต้านทานโรค
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมมักจะอยู่ในวัยสูงอายุ ร่างกายอ่อนแอกว่าวัยหนุ่มสาว เสี่ยงรับเชื้อโรคสูงตามวัย ...