ด้วยรักของลูก

ด้วยรักของลูก
record_voice_over อ่านให้ฟัง
เรื่องเล่าจากหนังสือ วันวาน ณ ปัจจุบัน โดย จันทนา
แม่มีลูก 3 คน พี่ชายคนโตแยกครอบครัวออกไป อยู่ไม่ไกลกับลูกผู้หญิงอีก 2 คน แม่เคยเป็นผู้หญิงเก่ง ทำอาชีพค้าขายดูแลร้านค้า คนเดียวมาตลอด คิดคำนวณตัวเลขคล่องแคล่ว เมื่อเป็นโรคสมองเสื่อม แม่ไม่สามารถค้าขายได้อีกต่อไป

ดิฉันดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมา 13 ปี ท่านเริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อมมาตั้งแต่อายุ 69 ปี ปัจจุบันแม่อายุ 82 ปีแล้ว พี่สาวและดิฉันลาออกจากงานมาเพื่อดูแลแม่ไปพร้อมๆ กับดูแลกิจการแทนแม่ ลูกทุกคนค่อยๆ ปรับตัว ปรับใจทีละน้อย ถึงแม้ในระยะแรกเราจะไม่เข้าใจแม่เลยก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าเราจะเผชิญกับปัญหาของอาการโรคสมองเสื่อมอย่างไรก็ตาม เราก็พยายามคิดหาวิธีดูแลแม่ หาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยความมุ่งหวังของลูก ๆ ที่ปรารถนาให้แม่รับรู้ว่า ชีวิตของแม่อยู่ในช่วงที่มีความสุข

ลูกหลานเรียนจบมีหน้าที่การงาน อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ไม่มีโรคทางกาย ลูกๆ อยากให้แม่จำตัวเองและลูกหลานได้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราต้องการปฏิบัติดูแลแม่ ให้รับรู้เข้าใจกันได้โดยไม่ขัดแย้ง และมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ด้วยความกัตญญูรู้คุณ และอยากตอบแทนพระคุณแม่ ที่ได้เลี้ยงดูเรามาตลอด ช่วงเวลาของชีวิตท่าน ทำให้เรามีความพยายามอย่างไม่ย่อท้อ และสามารถลดความขัดแย้ง ความสับสนในใจของดิฉันและทุกคนในครอบครัว เมื่อเราเข้าใจก็ยิ่งมีความเห็นอกเห็นใจในความป่วยไข้ของแม่ยิ่งขึ้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าเราจะเผชิญกับปัญหา ของอาการโรคสมองเสื่อมอย่างไรก็ตาม เราก็พยายามคิดหาวิธีดูแลแม่ หาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไม่ย่อท้อ

ลืม...อาการป่วยเริ่มแรกของแม่

หลายปีก่อน แม่เริ่มหลงลืมซึ่งเป็นอาการช่วงแรกของโรคสมองเสื่อม เวลาไปตลาดแม่จะลืมซื้อของบางอย่าง ต้องเดินย้อนกลับไปกลับมา อยู่หลายครั้ง ต่อมาแม่ลืมตะกร้า และของในตะกร้าทั้งหมด นึกไม่ออกว่าไปวางทิ้งไว้ที่ไหน

จนกระทั่งถึงระยะที่แม่ลืมกลับบ้าน

ในช่วงปีที่ 1 – 3 มีปัญหาอื่นตามมาเรื่อยๆ แม่เริ่มมีอารมณ์เครียด กังวล หงุดหงิด ไม่สบายใจ ทั้งๆ ที่ในเวลานี้แม่น่าจะมีความสุข ไม่มีภาระหรือเรื่องต้องกังวลใจอีก ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ อีกหลายคน แม่มีพร้อมทุกอย่าง ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ลูกเต้าเรียนจบ มีการงานดี ลูกหลานดีทุกคน ทุกคนช่วยกันดูแลแม่ได้ ดิฉันรู้สึกเสียใจว่าทำไมแม่ต้องมาเศร้าหมอง แม่ควรจะมีความสุขแต่กลับไม่รับรู้ความสุข แม่จดจำได้แต่เรื่องที่เจ็บปวด

จากคนเคยอารมณ์ดี แม่กลายเป็นคนหน้าตาเครียด หงุดหงิด ฉุนเฉียว ความจำสับสน แม่มักถามเราซ้ำๆ ด้วยคำถามเดิมประมาณ 20 – 30 ครั้งใน 1 ชั่วโมง จบเรื่องนี้ แม่ก็จะมีเรื่องใหม่มาถามทุกวัน แต่แม่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นบางช่วงที่แม่จะเริ่มถามแล้วถามอีก บอกไม่ได้ว่ามีสาเหตุอะไรมาสะกิดใจ ดูเหมือนว่าแล้วแต่สมองของแม่จะคิดอะไรขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่จะถามถึงเรื่องในอดีต บางทีก็เป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาเอง ไม่เป็นความจริงต้องอธิบายเหตุผลกันเป็นชั่วโมง บางครั้งแม่ก็ยอมรับฟังดี บางครั้งอธิบายไปเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ผล พอไม่เข้าใจกันก็เริ่มคุยกันไม่รู้เรื่อง เรามักจะขัดแย้งโต้เถียงกับแม่ เมื่อต้องตอบคำถามของแม่ซ้ำๆ หลายรอบเข้า คนตอบก็เริ่มอารมณ์ไม่ดี แล้วต่างฝ่ายต่างก็รู้สึกต่อต้านกันมากขึ้นเป็นลำดับ
อาการเริ่มแรกของแม่ในช่วงต้นนี้ เป็นปัญหาสำหรับเราทุกคนมาก เพราะเราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ลูก ๆ มีความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ สับสน วุ่นวายใจ โกรธ
เมื่อควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ และพูดจาไม่ดีกับแม่ เราก็จะรู้สึกผิด รู้สึกว่าเราทำสิ่งเลวร้ายมาก ในขณะที่เราตั้งใจว่าจะดูแลแม่อย่างดีที่สุดเพราะแม่มีพระคุณเหลือล้น เลี้ยงดูเรามาด้วยความเหนื่อยยาก เราทุกคนต่างก็รู้ดี แล้วทำไมเราจึงมีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง โกรธหรือทนไม่ได้ เพียงแค่การต้องอดทนตอบคำถามแม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก คำถามที่ไม่มีเหตุผล คำถามที่วนไปวนมาอยู่กับอดีต หรือเรื่องเหลวไหลไม่เป็นความจริง

เราทะเลาะถกเถียงกับแม่มาสักระยะหนึ่ง ในที่สุดก็เริ่มเห็นว่าน่าจะมีอะไรผิดปกติอย่างแน่นอน เมื่อพาแม่ไปหาหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลในจังหวัด คุณหมอบอกว่าแม่เป็นโรคสมองเสื่อม เราจึงเข้าใจว่าปัญหาทั้งหมดของแม่นั้นมาจากโรคสมองเสื่อม ซึ่งแม่เองก็คงไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นเลย

โลกที่ซ้อนเหลื่อมกัน

อาการป่วยระยะที่ 2 ของแม่ในช่วงปีที่ 2 – 4 เริ่มมีปัญหามากขึ้น ทั้งกลางวันและกลางคืน แม่ลืมเรื่องราวต่างๆ ไปมาก จำชื่อลูกหลานไม่ได้ แต่กลับจำคนเก่าๆ ในอดีตได้แม่นยำแม้กระทั่งคนที่เสียชีวิตไปแล้ว แม่มักถามว่ายายไปไหน พอบอกว่าตายแล้วก็ร้องไห้เสียอกเสียใจมาก ถามว่าทำไมเราไม่บอก ต้องเอารูปงานศพมาให้ดู แม่ก็จะทำท่าว่าเข้าใจแล้ว หลังจากอธิบายเสร็จสักพักเดียวแม่ก็ถามอีกแล้วว่า “ยายไปไหน”

ในชีวิตประจำวัน แม่เคยทำอะไรได้เอง แต่ตอนนี้แม่ทำไม่ได้แล้ว ของที่เคยใช้อยู่ประจำวันแม่ก็เรียกไม่ถูก ของใช้ในห้องน้ำ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน เครื่องทำน้ำอุ่น แม่ไม่รู้จัก แยกไม่ออกว่ามีไว้ทำอะไร ในระยะแรก ๆ เรายังให้แม่อาบน้ำด้วยตัวเอง โดยคอยพากย์บอกบทอยู่หน้าห้องน้ำ “แม่อาบน้ำนะ แปรงฟันรึยัง ฟอกสบู่รึยัง เปิดน้ำอุ่นด้วย” บางทีแม่เข้าห้องน้ำไปเป็นชั่วโมงแต่ไม่ได้อาบน้ำ แม่กลับออกมาในชุดเดิม

อาการอย่างหนึ่งของแม่ที่ทำให้ลูกๆ ไม่ได้หลับได้นอน ต้องแก้ปัญหากันกลางดึกบ่อยๆ ก็คือ ตอนตี 1 ตี 2 แม่มักจะลุกขึ้นมาเก็บเสื้อผ้า บอกว่าจะกลับบ้าน ทั้งๆ ที่แม่อยู่บ้านนี้มาหลายสิบปี พูดอธิบายกันเท่าไหรแม่ก็ไม่ฟัง จนถึงกับลูกเผลอตวาดออกไป แม่ก็ยังไม่ฟัง เหมือนแม่อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่รับรู้ว่าโลกความจริงเป็นอย่างไร ด้านหน้าของบ้านเราเปิดเป็นร้านขายของมีกระจกบานใหญ่อยู่ เราปล่อยแม่ใช้ชีวิตประจำตามปกติ ให้เดินไปคุยกับลูกค้าได้ พอแม่เห็นกระจกก็จะเดินเข้าไปหากระจกพูดคุยด้วย กวักมือเรียกพยายามเข้าไปในกระจก ถ้าเป็นเวลาที่ลูกค้ากำลังซื้อของอยู่เต็มร้าน ลูก ๆ ก็จะเครียดมาก เพราะกลัวว่าลูกค้าจะคิด จะรู้สึกอย่างไร แม่แยกไม่ออกว่าอย่างไหนเป็นความจริง อย่างไหนเป็นสิ่งที่แม่คิดขึ้นมาเอง
พอแม่เห็นกระจกก็จะเดินเข้าไปหากระจกพูดคุยด้วย กวักมือเรียกพยายามเข้าไปในกระจก แม่แยกไม่ออกว่าอย่างไหนเป็นความจริง อย่างไหนเป็นสิ่งที่แม่คิดขึ้นมาเอง
พอเข้าสู่ปีที่ 4 แม่เริ่มมีอาการมากขึ้น รื้อข้าวของในบ้าน ของบางอย่างจะเก็บซุกไว้หมด ถ้าแม่เห็นกุญแจวางไว้ก็จะเก็บไปซ่อน อาจเป็นเพราะแม่เป็นคนรับผิดชอบดูแลร้านมาตลอดชีวิต พอลูกถามหาแม่จะบอกว่าไม่รู้อยู่ไหน หรือ “แม่ไม่ได้เอาไป” แต่ละวันเราต้องหาของต่าง ๆ วันละหลายครั้ง ไม่ว่าอะไรอยู่ใกล้มือแม่เป็นหยิบซ่อนหมด

ครั้งหนึ่งแม่เข้าห้องน้ำแล้วล็อกประตู เกิดลื่นหกล้มลุกขึ้นมาไม่ได้ เรียกให้เปิดประตูออกมาเอง ก็เปิดให้เราไม่ได้ เราเองก็หากุญแจห้องน้ำไม่พบต้องหาคนมาช่วยพังประตูเข้าไป ใช้เวลาร่วมครึ่งชั่วโมง อีกครั้งแม่ติดอยู่ในห้องนอน เพราะเราเผลอออกจากห้อง แม่ล็อกกลอนประตูทันที เราต้องปีนหน้าต่างเข้าไปเปิดประตูออกมา เราเตรียมอาหารการกินให้แม่เหมือนๆ กับที่เรากินอยู่ แต่ในช่วงหลัง ๆ แม่กินยากมากขึ้น ถ้าให้กินเองก็จะใช้เวลานาน บางทีเป็นชั่วโมงพอเปลี่ยนเป็นป้อนให้ก็ช้า ระยะหลังแม่แทบไม่ยอมกินข้าว

การพาแม่ออกนอกบ้าน ยิ่งเป็นปัญหาไปเสียทุกเรื่อง เวลาพาแม่ขึ้นรถไปหาหมอ หรือไปบ้านพี่ชาย ซึ่งแม่เคยชอบไป แม่ก็มักจะต่อต้านทั้งขาไปและขากลับ เมื่อพาขึ้นรถ แม่จะไม่ยอมขึ้น ขากลับรถจอดถึงหน้าบ้าน แม่ไม่ยอมลงเอาดื้อ ๆ เป็นอย่างนี้แทบทุกครั้ง

ดิฉันเคยทำแม่หายไปครั้งหนึ่ง ตอนพาไปโรงพยาบาล

ระหว่างนั่งรอตรวจ บอกแม่ว่า “แม่อยู่ตรงนี้นะ อย่าไปไหน” แม่รับปากอย่างดีจึงวางใจ เราเดินไปรับยาอีกแผนกหนึ่งก่อนเพื่อจะได้ไม่เสียเวลา เดินกลับมาถึงใจหายวาบ

แม่หายไปแล้ว เพราะบังเอิญพบคนรู้จักมาหาหมอเหมือนกัน แม่จึงเดินตามเขาไป เราตามหาทั่วโรงพยาบาล จะถามยามได้อย่างไรว่า เห็นคนแก่นุ่งผ้าถุงไหม เดินไปทางไหน ยามก็ตอบไม่ได้ เพราะคนแก่นุ่งผ้าถุงก็มีหลายคน ในที่สุดแม่เดินกลับมาอยู่ที่เดิมจึงได้พบกัน ถ้าแม่หายไป เราจะไม่รู้ชะตากรรมเลยว่า แม่ไปลำบากที่ไหน ก่อนหน้านั้นเรายังไม่คาดคิดว่าจะมีปัญหานี้เกิดขึ้น เรายังไม่ทันได้เตรียมตัวรับปัญหา
การดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น ความเหน็ดเหนื่อยใจมีมากกว่าเหนื่อยกายหลายเท่า เราต้องรับมือกับพฤติกรรมแปลกๆ และอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย แม่ของเราเคยเป็นคนใจเย็น อารมณ์ดี เป็นคนเรียบร้อย พูดเพราะ ตั้งแต่เราเกิดมา
ไม่เคยได้ยินถ้อยคำหยาบคายจากปากแม่สักครั้งเดียว

เมื่ออาการสมองเสื่อมหนักขึ้น แม่ทำเอาลูก ๆ ปั่นป่วนไปหมด ทั้งบ้าน

แม่ถามซ้ำๆ วันละหลายครั้ง เราพยายามทำใจแล้วก็ยังอารมณ์เสียที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ถ้าดิฉันออกจากบ้านไปซื้อของ แม่ก็จะถามพี่สาวว่าดิฉันหายไปไหน ถามแล้วถามอีกเป็นสิบๆ ครั้ง ตอนแม่ยังเดินได้เป็นปกติก็จะเดินมาหน้าร้าน คอยถามพี่ว่าเราไปไหน พี่กำลังยุ่งกับการขายของก็จะเริ่มหงุดหงิด โมโห เริ่มเครียด กลัวลูกค้าไม่เข้าใจว่าแม่เป็นอะไร จะไล่แม่ไปหลังบ้านก็ไม่ดี พี่สาวจึงไม่อยากให้ดิฉันออกไปไหนนานๆ เพราะถ้าเราไม่อยู่ เขาจะเครียดมาก เราลองใช้วิธีเขียนคำตอบตัวโต ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ให้แม่อ่าน ใส่กระดาษเสียบติดกับปฏิทินตั้งโต๊ะอันเก่าไว้ เช่น “วันนี้ไปกรุงเทพฯ เดี๋ยวเย็นก็กลับ” พอแม่ถามก็ยื่นคำตอบให้ ถามอีกยื่นให้อ่านอีก การตอบด้วยวิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องใช้อารมณ์กับแม่ ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ยื่นให้ไม่เกิน 4 – 5 ครั้ง ก็จะหยุดถามไปเอง ช่วงที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจอาการของแม่ ลูกกับแม่มีเรื่องให้ต้องทะเลาะกันเป็นประจำ เวลามีปัญหาแม่ร้องจะกลับบ้านกลางดึก พวกเราต้องทนอดหลับอดนอนกันอยู่นาน เมื่อปรึกษาคุณหมอ ท่านแนะนำว่าเวลาแม่ทำอะไร ให้เราคล้อยตามไปทุกอย่างก่อน แล้วค่อยหาเรื่องเบี่ยงเบนเพื่อให้ลืม แม่ร้องขอกลับบ้านก็ให้บอกว่าไปด้วยกัน แล้วพาลงจากเตียง ชวนแวะไปห้องน้ำก่อนไป พอไปถึงห้อน้ำแม่ก็ลืมไปแล้วต้องการอะไร ถ้ายังไม่ลืมอาจให้ดื่มนมพอสบายใจ อิ่มท้อง แล้วก็จะยอมนอน หรือบางครั้งยังไม่ลืมเรา ก็จะนอนกอดแม่ไว้ แล้วแม่จะหลับไปเอง พอกเราเคยเครียดกันมาก เวลาแม่พูดคุยกับกระจกเงา ตอนลูกค้ากำลังซื้อของอยู่หน้าร้าน

ดิฉันจับทางได้ว่าตั้งแต่เริ่มป่วยแม่ชอบเข้าห้องน้ำมาก ได้เข้าห้องน้ำแล้วดูมีความสุขขึ้นมาก พอแม่จะมาคุยกับกระจก ก็ชวนแม่ไปเข้าห้องน้ำ พอพาเข้าได้เดี๋ยวเดียวแม่ก็ลืม เมื่อพาเดินกลับไปอยู่หลังบ้านก็ยอมไปอยู่ ไม่ออกมาเดินอีก

แม่มักจะถามถึงยายบ่อยๆ ทั้งที่ยายได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว

เมื่ออธิบายให้ฟัง นำรูปงานศพมาให้ดู พอแม่รับรู้ความจริงแล้วก็เสียใจอธิบายจบไปเดี๋ยวก็ถามอีก เมื่อต้องเริ่มต้นอธิบายกันใหม่ เราก็เริ่มเครียดแล้ว ต่อมาจึงไม่พยายามอธิบายความจริงให้ฟัง ไม่คำนึงว่าคำตอบเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ เพียงแต่ให้คำตอบแม่ก็พอใจเท่านั้น ถามมาก็ตอบว่ายายอยู่บ้านโน้น หรือไปตลาด แม่ก็ร้อง อ๋อ ยิ้มพอใจ หยุดถาม

ดิฉันไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า การรับข่าวสารอะไรก็ตามมีผลกับอารมณ์ของแม่ทั้งนั้น บางทีแม่ดูโทรทัศน์แล้วก็จะเก็บเอามาเครียด หรือเพียงได้ฟังเรื่องไม่ดี ไม่สบายใจ ก็จะเครียดได้ง่ายๆ แม่เห็นคนทะเลาะกันในละครโทรทัศน์ก็จับมาเป็นเรื่องของตัวเอง เล่าเป็นเรื่องเป็นราวด้วยท่าทางไม่สบายใจ เราจึงตกลงกันว่าไม่ให้ดูละครที่มีฉากทะเลาะกัน หรือฉากความรุนแรง และเรื่องทุกข์เรื่องเศร้า เช่น ใครตาย ใครป่วย เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้แม่ดู ไม่เล่าให้ฟัง หรือไม่คุยกันให้ได้ยินเลย เพื่อไม่ให้แม่เกิดความเครียด ความกังวลใจ เพราะการรับมาเป็นเรื่องของตัวเอง แม้ว่าเราจะรักแม่เพียงไร และพยายามจะควบคุมอารมณ์ของเราเองอย่างไร บางครั้งก็เกินความสามารถของเราที่จะรับได้ เราพยายามไม่ให้แม่รับรู้เรื่องเศร้าหมอง หรือเรื่องไม่ดี ไม่สบายใจทั้งหลาย แต่แม่ก็ยังคิดด้านลบอยู่เสมอๆ ไม่ว่ากลางวัน หรือกลางคืน ถ้าครั้งใดเราจัดการไม่ไหว อธิบายกันจนหมดแรง เกิดอารมณ์โมโห บางทีก็จะอาศัยพี่ชายที่อยู่อีกบ้านเป็นตัวช่วย ต่อโทรศัพท์ให้แม่คุยด้วย พอได้ยินเสียงพี่ชายแม่จะสงบลง ถ้ายังไม่หายจะพาแม่ขึ้นรถไปหาพี่ที่บ้าน ยังไม่ทันลงจากรถก็หาย เพราะแม่ลืมไปแล้ว ช่วงแรกๆ พี่ชาย จะเข้าใจว่าทุกอย่างปกติดี แม่ดูไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะเขาอยู่คนละบ้านไม่ได้รู้เห็นว่าบ้านเราปั่นป่วนกันขนาดไหน

เวลาแม่เริ่มหยิบโน่นจับนี่ เดินไปเดินมา พลุ่งพล่าน ดูหงุดหงิด วุ่นวายใจ หน้าตาเคร่งเครียด หรือร้องขอ จะทำอะไรแปลกๆ ถ้าพยายามอธิบายเหตุผล หรือไปโต้เถียง ก็เท่ากับการตอกย้ำความต้องการของเขา เรื่องจะลุกลามไปใหญ่โตนานเป็นชั่วโมงแต่ถ้าเราตั้งสติทำใจเย็นๆ แล้วพยายามทำให้เขาพอใจ หรือชวนให้เขาสนใจเรื่องอื่น เขาก็จะลืมความต้องการไปภายใน 5 นาที ปัญหาความวุ่นวาย และความเครียดทั้งสองฝ่ายก็จะคลี่คลายได้เร็วมาก เวลานี้ชีวิตแม่พรั่งพร้อมแม่ควรจะมีความสุข แต่ในสมองกลับมีแต่เรื่องให้กังวล ขุ่นข้องใจ จบเรื่องนั้นก็มีเรื่องนี้คิดต่อ หนักเข้าเราก็เริ่มเครียดตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา เพราะรู้แน่ว่าวันนี้จะต้องมีเรื่องเกิดขึ้นอีก ระหว่างดูแลต้องพยายามคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทุกฝ่าย ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องทะเลาะถกเถียงกับแม่ซึ่งเป็นผู้ป่วย ต้องพยายามดูแลกิจวัตรประจำวันให้ราบรื่น แล้วยังมีเรื่องน่าห่วง ทั้งความปลอดภัย และสุขภาพของแม่ ต้องพยายามดูแลรักษาสุขภาพร่างกายแม่ให้แข็งแรง ไม่มีโรคอื่นเพิ่มเข้ามา ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเราเลยที่จะดูแลจัดการทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เราลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ค้นพบวิธีแก้ไขไปเรื่อยๆ ระหว่างช่วงวันเวลาที่เราต้องผจญกับปัญหาเหล่านั้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเราเลย ที่จะดูแลจัดการทุกอย่าง ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เราลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็ค้นพบวิธีแก้ไขไปเรื่อย ๆ

ความปลอดภัย และอันตรายใกล้ตัว

ถ้าบุคคลอันเป็นที่รักของเราไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อม เราคงจะไม่มีวันเข้าใจได้ถ่องแท้ ว่าโรคนี้ทำร้ายทั้งตัวผู้ป่วย และทุกคนในครอบครัวมากเพียงใด โรคนี้ได้พรากแม่ไปจากเราตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม่ค่อย ๆ ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมแม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใคร และแม้ลูกจะรู้ว่าอาการของแม่นั้นเนื่องจากโรค แต่ลูกก็อดเสียใจไม่ได้เมื่อแม่ลืมลูกของแม่ที่อยู่ด้วยกันทุกวัน เราจึงเครียดเพราะความห่วงกังวลสารพัดเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของแม่ เพราะแม่ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าจะดูแลตัวเองอย่างให้ห่างไกลจากอันตรายใกล้ตัว ไม่ว่าเรื่องนั้นจะง่ายดายขนาดไหนก็ตาม

แม่เป็นคนทำทุกอย่างถี่ถ้วนเรียบร้อยมาแต่ไหน แต่ไร นิสัยนี้ติดตัวแม่มาโดยตลอด เมื่อแม่เริ่มป่วยแม้เราจะคอยบอกแม่เสมอว่าแม่เข้าห้องน้ำไม่ต้องล็อกประตู แม่ก็ยังเผลอล็อกแล้วติดอยู่ในห้องน้ำ เราพยายามคิดหาทางแก้ไขที่ไม่ต้องยุ่งยากมาก เช่น ลองใช้ฝาตลับครอบแล้วปิดสก๊อตเทปกันไว้ แม่ก็จะไม่มีความพยายามมากกว่านั้น หรือเวลาเข้าห้องนอนแม่มักจะใส่กลอน พี่สาวดิฉันใช้กระดาษอุดรูกลอนไว้ เท่านี้แม่ก็ใส่กลอนไม่ได้ เราจึงไม่ต้องอธิบายให้แม่ฟังซ้ำๆ อีกว่า “แม่ อย่าล็อกประตู” ของใช้ภายในบ้านปกติเราก็จะวางไว้ในที่ๆ ควรอยู่เพื่อให้หยิบใช้สะดวก แต่เมื่อแม่สมองเสื่อมเราต้องคิดใหม่เปลี่ยนใหม่ จะทำอย่างเดิมไม่ได้เลย ข้าวของเครื่องใช้อะไรก็ตามที่เป็นอันตราย หรือเคยวางไว้ใกล้บริเวณที่แม่หยิบถึง จะต้องเก็บให้หมด ไม่ว่าจะเป็นของมีคม หรือของที่แตกได้ก็ตาม ปลั๊กไฟก็หาตัวครอบของบางอย่างที่เราจำเป็นต้องใช้อยู่ประจำ เช่น กุญแจบ้านที่แม่ชอบเอาไปซ่อนก็ต้องเปลี่ยนที่เก็บ หรือของใช้ของแม่เองก็จะต้องเก็บไว้ เมื่อแม่จะใช้ค่อยหยิบมาให้ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่รู้ว่าแม่หยิบเอาไปซุกไว้ที่ไหน แม่เคยทำกับข้าวให้ลูกๆ กินมาตลอด เมื่อแม่ป่วยครัวกลับเป็นพื้นที่อันตราย ครั้งหนึ่งแม่ตั้งหม้อแกงไว้บนเตาแก๊สเปิดแก๊สไว้ด้วย เราอยู่หน้าบ้านไม่รู้เลยว่าหม้อไหม้อยู่หลังบ้าน เพราะแม่ไปเปิดแก๊สไว้โดยไม่มีใครรู้ การบอกว่า “แม่อย่าไปในครัว” “แม่อย่าเปิดแก๊ส” ไม่ได้ผล ยิ่งอธิบายก็ยิ่งเป็ฯการปะทะอารมณ์กัน เมื่อแม่ไม่ทำตามที่เราต้องการ จึงติดประตูล็อกกั้นระหว่างพื้นที่ในบ้านกับครัว

เมื่อแม่เห็นประตูล็อกกลอนก็เปลี่ยนใจ ไม่คิดเข้าไปทำอะไรในครัว เมื่อแม่ยังเดินขึ้นไปนอนชั้นบนได้ พอแม่เข้านอนเราจะกั้นช่องทางลงบันไดโดยใช้เตียงวางขวางทาง เผื่อเวลาเราเผลอหลับไป แม่ก็จะลากเตียงออกเองไม่ไหว ช่วยป้องกันไม่ให้แม่เดินลงมาข้างล่างเองโดยเราไม่รู้ เมื่อครั้งที่พาแม่ไปโรงพยาบาลแล้วแม่เดินหายไประหว่างที่ดิฉันไปรับยา เพราะเชื่อว่าแม่รับคำอย่างดี สัญญากันแล้วว่าจะไม่ไปไหนจะนั่งรออยู่ที่เดิม จากนั้นมาดิฉันไม่เชื่อคำสัญญาอีกเลย เพราะไม่ทันนึกถึงว่าแม่สมองเสื่อมลืมง่าย รับคำไปไม่กี่นาทีก็ลืมแล้ว เราต้องอยู่กับเขาตลอดอย่าให้คลาดสายตา เวลาออกไปนอกบ้านด้วยกัน ดิฉันใช้ป้ายห้อยคอ ถ่ายสำเนาบัตรประชาชน มีที่อยู่ รายละเอียดติดเอาไว้ เขียนบอกว่าแม่ชื่ออะไร อายุเท่าไร มีบ้านเลขที่พร้อมเบอร์โทรศัพท์ และบอกสั้นๆ ว่าแม่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม เผื่อว่ายังมีความจำเลือนรางอยู่บ้างไปพลัดหลงที่ไหนอาจบอก คนอื่นถูก หรือให้อ่านข้อความได้ ส่วนตัวเองก็จะพกรูปถ่ายแม่ที่ถ่ายไว้ไม่นานเผื่อแม่หายไปจะได้ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ทันการ
โรคนี้ได้พรากแม่ไปจากเราตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม่ค่อย ๆ ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมแม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใคร เราจึงเครียดเพราะความห่วงกังวลสารพัดเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของแม่

ดูแลทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อแม่

ในช่วงปีที่สาม คุณหมอแนะนำว่า ถ้าเราคอยกระตุ้น ให้แม่ทำในสิ่งที่เคยทำได้นานที่สุด ถึงแม้ว่าจะทำให้สมองกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้แล้วก็ตาม แต่ก็จะช่วยชะลอสมองของแม่ ให้เสื่อมลงอย่างช้าๆ แม่ไม่มีโรคประจำตัว เราจึงช่วยกันดูแลสุขภาพของแม่ไม่ให้มีโรคอื่นเข้ามาแทรก ให้แม่ทำกิจวัตรประจำวันได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลูกๆ คอยสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของแม่ทุกวัน อาการเจ็บป่วยของแม่จะแสดงออกทางสีหน้า เราจะรู้ว่าวันนี้ดูแม่สบายดี หรือถ้าสีหน้า ดูเคร่งเครียด ก็จะทบทวนว่า วันนี้ปัสสาวะขัดไหม ไม่ถ่ายมากี่วันแล้ว คุณหมอให้ยาควบคุมความดัน เราก็วัดทุกวันและจดไว้ เวลาไปหาหมอก็รายงานความคืบหน้าให้ฟัง คุณหมออธิบายว่าคนอายุมากจะมีความดันโลหิตสูง และอาจมีเบาหวานทั้งสองอย่างนี้มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง มาถึงช่วงนี้การกินเริ่มเป็นปัญหา แม่ไม่ยอมกินอาหาร เรารู้ว่าแม่ไม่ชอบกินอะไร ก็จะเปลี่ยนเป็นของที่แม่ชอบ พยายามให้เขากินให้ได้ เวลาป้อนให้แม้ว่าจะยากมาก ก็จะอดทนตักข้าวรอที่ปาก ช่วยกระตุ้น แม่จะยอมกิน ถ้าเราไม่อดทนแม่จะไม่ได้อาหารเลย และแม่บอกเราไม่ได้ว่า “หิวแล้ว” นอกจากปัญหาการกินข้าว มีช่วงที่แม่ ไม่ยอมดื่มน้ำไม่ยอมกลืน แต่เมื่อใช้น้ำหวานใส่น้ำแข็งเพียงนิดเดียว ให้มีสีสันกลิ่นหอมหน่อยๆ ก็จะยอมดื่ม และจะลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสังเกตรู้ว่าเขาชอบอะไร แต่ก็ไม่ให้กินน้ำหวานมากนักกลัว เป็นเบาหวาน ใส่พอมีรสชาติอย่างน้อยเมื่อแม่ยอมดื่ม ก็จะได้ไม่ขาดน้ำ

อาการแม่

เมื่อแม่มีปัญหาความจำ แม่ลืมลูกหลาน ลืมความสุขในปัจจุบัน ลืมแม้กระทั่งกิจวัตรประจำวัน แต่ลูกๆ อยากให้แม่รักษาความจำไว้นานที่สุด อยากฟื้นฟูให้แม่จำช่วงเวลาความสุขได้

ตอนแม่เริ่มมีอาการใหม่ๆ เราทำประวัติย่อของครอบครัวพร้อมกับรูปถ่ายไว้ เพราะแม่จะถามถึงญาติ พี่น้องอยู่เรื่อยๆ เราได้เรียนรู้จากน้าชายที่เป็นจิตแพทย์อยู่ต่างประเทศว่า เราจะต้องกระตุ้นเตือนความจำเขาบ่อยๆ เราจึงคิดทำอัลบั้มภาพครอบครัว มีรูปแม่กับลูกหลาน เขียนชื่อว่ามีใครบ้าง เวลาลูกหลานมาเยี่ยม บางทีแม่ก็จำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร บางทีก็ไม่รู้จักว่าลูกหลานชื่ออะไรกันบ้าง นอกจากนั้นยังทำสมุดภาพ ตั้งชื่อว่าชุด ความสำเร็จและ ความภูมิใจ รูปรับปริญญาของลูกๆ รูปหลานๆ รับปริญญา ช่วงที่แม่อารมณ์ดีพอจะคุยกันรู้เรื่อง จะให้ดูรูปพวกนี้เป็นการฟื้นความจำในเรื่องดีๆ เพื่อให้จำคนใกล้ตัว และตัวเองได้ด้วยในช่วงที่แม่ยังช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ เวลาดิฉันไปไหนมาไหน ไปบ้านญาติหรือไปเที่ยวก็จะพาแม่ไปด้วยกัน อยากให้แม่จำญาติพี่น้องได้และญาติพี่น้องได้รับรู้ด้วยว่าอาการของแม่เป็นอย่างไรบ้าง

เราพยายามให้แม่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เขาคุ้นเคยที่สุด ก่อนหน้านี้เราเคยซ่อมบ้านครั้งใหญ่ จึงต้องย้ายไปอยู่อีกบ้านหนึ่งชั่วคราว แม่รู้สึกแปลกที่แปลกทางกับบ้านหลังนี้มาก ร้องจะกลับบ้านเสมอ และแม้จะอยู่ในบ้านถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไร แม่จะสับสนรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ในบ้านของตัวเอง และมักจะร้องกลับบ้าน เมื่อเรารู้สาเหตุของปัญหา เราก็ไม่เปลี่ยนที่วางของใช้ประจำวันประจำตัว เคยใช้อะไรก็ต้องใช้อย่างนั้น ทั้งแก้วน้ำ จาน ชาม เสื้อผ้า เพื่อให้แม่รู้สึกคุ้นเคยที่สุดและทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยความสบายใจ
ถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไร แม่จะสับสนรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ในบ้านของตัวเอง เราก็ไม่เปลี่ยนที่วางของใช้ประจำวันประจำตัว เพื่อให้แม่รู้สึกคุ้นเคยที่สุดและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยความสบายใจ

ช่วงปลายของความ “สามารถ”

ความวุ่นวายและปัญหาต่าง ๆ ลดลงไปเมื่อเข้าปีที่ 8 – 9 ความต้องการแปลกๆ หรือความนึกคิดวุ่นวายมีน้อยลง แต่แม่ก็เริ่มเงียบเสียง พูดน้อย อาการของแม้ก้าวไปอีกขั้นแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงทุกๆ ด้าน ทั้งการนั่ง ยืน เดิน การกิน และการขับถ่าย ต้องดูแลทำให้ทุกเรื่อง ในที่สุดก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไป เคี้ยวอาหารเองไม่ได้ ลุกนั่งเองไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้องนอนอยู่บนเตียง แต่เวลาลูกคุยด้วยสายตาแม่จะแสดงการรับรู้ หรือเวลาคุยกับคนข้างๆ แม่ก็จะมองและรับรู้ว่าเราพูดคุยกับคนอื่นอยู่ ลูกๆ พยายามช่วยกระตุ้นให้แม่รับรู้ คอยพูดคุยกับแม่ ถึงแม้จะเป็นการพูดคนเดียว แม่จะพูดออกมาได้เป็นคำๆ แต่หลายเดือนต่อมาแม่ไม่พูดแล้ว ขาก็เริ่มไม่ก้าวเดิน ไม่ยอมอ้าปาก ไม่ยอมดื่มน้ำ กว่าจะดูแลให้กินข้าวแต่ละมื้อเป็นเวลานานร่วมชั่วโมง จนต้องเปลี่ยนเป็นการป้อนให้ แม่มักจะอมข้าว ไม่กลืน เราก็ยังพยายามให้แม่กินเองให้มากที่สุด และมาถึงขั้นต้องปั่นอาหารให้ อาหารของแม่ในระยะนั้นจะเป็นอาหารเหลวปั่น นักโภชนาการ จะเป็นคนช่วยกำหนดให้ว่า คนวัยแปดสิบเศษที่สุขภาพร่างกายไม่มีโรคอื่นแทรก ควรให้อาหารแบบไหนจึงจะเหมาะ ทุกๆ มื้อจะเริ่มจากใช้ช้อนตักอาหารป้อนก่อน ถ้ากินไม่ได้ค่อยใช้หลอดเข็มฉีดยาดูดอาหารแล้วป้อน บางครั้งต้องช่วยบีบข้างแก้มเพื่อให้กลืน เราพยายามป้อนอาหารทางปากให้ก่อน เพราะถ้าป้อนแล้ว อ้าปากกลืนได้แสดงว่า แม่ยังใช้ความสามารถด้านนี้ได้อยู่ ถ้าไม่กลืนหรือไม่อ้าปาก แสดงว่าส่วนนี้ไม่ทำงานแล้ว เราต้องการกระตุ้นให้ร่างกายของแม่ ทำงานได้นานที่สุด ช่วงหนึ่งแม่ไม่ยอมกินอาหารเลย นานเป็นเดือน ใช้หลอดป้อนก็ไม่กิน คุณหมอจึงถามว่าจะเจาะหน้าท้องให้อาหารทางสายยางไหม ถ้ากินไม่ได้จริงๆ จะได้ให้อาหารทางสายหน้าท้อง ที่ผ่าตัดใส่ไว้ เมื่อตัดสินใจเจาะเสร็จเรียบร้อยกลับมาบ้าน น้าบอกให้ลองป้อนทางปากดูก่อน พอป้อนก็อ้าปากกลืนได้ หลังจากนั้นจึงให้อาหารเหลวป้อนทางปากตลอด สายยางตรงหน้าท้องก็เก็บไว้ เพราะคาดว่าสักวัน แม่อาจไม่กลืน หรืออาจสำลักก็จะได้ใช้ เราต้องดูแลทำความสะอาดให้ทุกวัน

การเจาะท้องเพื่อใส่สายอาหารทางหน้าท้อง สำหรับคนปกติก็เพียงดูแลทำความสะอาด แต่สำหรับแม่ซึ่งสมองเสื่อม ยุ่งยากกว่าเพราะแม่พยายามดึงสายยางออก ตั้งแต่อยู่โรงพยาบาลจึงต้องคิดว่า ทำอย่างไรไม่ให้แม่ดึงสายยาง ตอนกลางคืนก่อนกลับบ้านดิฉันหาลูกบอลให้แม่กำไว้ แล้วใส่ถุงมือหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ใช้สกอตเทปแปะนิ้วทุกนิ้ว ติดกับบอลไม่ให้นิ้วเคลื่อนไหวได้ และใช้ผ้าพันตัวไว้ ไม่ให้เคลื่อนไหวมากจนเกิดอันตราย วิธีนี้จะไม่ทรมานแม่เวลานอน เมื่อกลับมาบ้าน พร้อมสายยางที่หน้าท้องแล้ว แม่ก็ยังพยายามแกะดึงสายออกมา ถึงคอยบอกคอยห้ามเขาก็จะไม่เข้าใจจะเฝ้าระวังกันตลอดเวลาก็คงจะเป็นไปไม่ได้ จะให้ผูกแขนแม่ตรึงไว้กับเตียง เราก็ทนไม่ได้เมื่อเห็นแม่ดิ้นรน
ดิฉันต้องพยายามคิด และในที่สุดก็คิดอุปกรณ์ช่วย เป็นชุดเสื้อให้แม่ใส่ ตั้งชื่อว่าชุดมนุษย์อวกาศ
แม่จะใส่ชุดมนุษย์อวกาศหลังจากใส่เสื้อเรียบร้อยแล้ว เริ่มด้วยการใช้ถ้วยขนมที่ทำจากโฟมเจาะรูระบายอากาศใส่ลงไปในถุงผ้ามุ้งยาวที่เย็บเป็นหลอดไว้ครอบปิดสายยางหน้าท้อง แล้วใช้ถุงผ้ามุ้งยาวนี้พันรอบเอว เวลานอนทับแล้วแม่จะดึงไม่ได้ จากนั้นค่อยใส่เสื้อผ้ามุ้งที่เย็บเองทับไปอีกชั้น เสื้อนี้จะมีเนื้อผ้าเฉพาะด้านหน้าจากอกถึงช่วงเลยสะโพกลงไป ด้านหนังเปิดโล่งมีเชือกผูกเพื่อจะได้ไม่ร้อน ผูกเชือกแล้วค่อยใส่กางเกงขาก๊วยกลับด้านที่มีเชือกผู้ข้างหน้าแล้วอ้อนมาผูกปมด้านหลัง แม่จะไม่สามารถกล้วงดึงได้ เราจึงได้นอนหลับสบายตลอดคืน ไม่ต้องผวาตื่นคอยดูว่าแม่จะดึงสายยางออกเมื่อไร

ดิฉันเชื่อว่าการแก้ปัญหาอะไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยการลงทุนมากหรือคิดหาวิธีที่ยุ่งยาก แต่ควรหาจากของที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้แก้ปัญหาเราเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากสิ่งที่เขาทำแล้วใช้วิธีพื้นบ้านง่าย ๆ ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและไม่ต้องเสียเงินซื้อหาอุปกรณ์ที่เราเองก็ไม่ค่อยรู้จัก วิธีใช้หรือไม่ตรงกับปัญหาจริง ๆ ที่มีอยู่

เมื่อครอบครัวช่วยกันดูแลถึงแม้ว่าพี่สาวกับดิฉันจะเป็นคนดูแลแม่เป็นหลัก แต่เราก็อยากให้ทุกคนในครอบครัวรับรู้แลมีส่วนร่วมในการดูแลแม่ในส่วนที่เขาทำได้ บ้านเราไม่มีบริเวณช่วงที่แม่ยังเดินไปไหนมาไหนได้ ดิฉันจึงมักพาแม่ไปบ้านพี่ชายให้แม่เดินเล่นสนามหญ้าหน้าบ้าน ดิฉันอยากให้หลานๆ ลูกของพี่ชายได้ซึมซับการอยู่ร่วมกับย่า เผื่อเวลาที่ดิฉันและพี่สาวมีความจำเป็นต้องไปธุระนอกบ้านด้วยกัน คนในครอบครัวพี่ชายก็จะรู้วิธีดูแลแม่ และเราสามารถฝากแม่ไว้ที่บ้านพี่ชายได้โดยไม่ต้องเป็นห่วงกังวลมากนัก
พ่อแม่มีลูกหลายคน และต้องการพึ่งพาลูกทุกคน การขอความร่วมมือ เมื่อเป็นไปแบบธรรมชาติ ค่อย ๆ ซึมซับทุกคนก็จะไม่อึดอัด และยินดีให้ความร่วมมือ
แม้ลูกหลานบ้านอื่นจะไม่สามารถมาหาได้บ่อยๆ เราก็พาแม่ไปหาได้ เวลาสบายดีก็พาไป เวลาที่แม่ป่วยแล้วเราก็ยังพาไป ให้เขาคุ้นเคยกับอาการสมองเสื่อมของแม่ เข้าใจอาการของแม่ เราจะไม่เรียกให้คนในครอบครัวมาช่วยเฉพาะเวลาที่มีปัญหา แต่จะขอความร่วมมือด้วยความรู้สึกที่ดี ข้อสำคัญ คือ เมื่อใดที่เราต้องการความร่วมมือ พี่น้องก็จะช่วยทำได้ ไม่รู้สึกเครียดว่าจะต้องเผชิญปัญหา ดิฉันคิดว่านี่ คือ วิธีการขอความร่วมมือ เราพยายามให้หลานๆ มีส่วนดูแลย่าด้วย หากถึงเวลาที่เราทำเองไม่ได้ เขาจะได้ช่วยเหลือแม่ได้ เวลาพาแม่ไปโรงพยาบาล จึงขอให้หลานเป็นคนมาขับรถพาไป ระหว่างอยู่ในรถก็จะคุยกันว่า ย่าเป็นอย่างนี้แล้วเราแก้ยังไง เขาก็จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เวลาพาแม่ไปฝากไว้บ้านพี่ชาย ก็นำภาพชุดครอบครัวไปด้วย ถ้าเขาจะต้องพบปัญหาเดียวกับเรา เขาจะได้นำไปใช้ได้เหมือนที่เราเคยใช้ แม้แต่หลานตัวเล็กๆ เพิ่งเข้าอนุบาลสองก็เรียนรู้ได้ ปกติเมื่อแม่ไปบ้านพี่ชาย พี่ก็จะให้แม่กินของอร่อยที่แม่ชอบ บางทีอยู่ได้ 2 ชั่วโมง แม่ร้องจะกลับบ้าน พี่ชายยังไม่อยากให้กลับ ก็หลอกล่อด้วยเรื่องต่างๆ วันหนึ่งหลานตัวเล็ก ขอให้อาทำอะไรให้สักอย่าง อาบอกว่าไม่ได้เพราะทวดจะกลับบ้าน แล้วต้องพาไปส่ง หลานก็วิ่งไปที่ตู้เย็นหยิบขนมมาให้ทวด ทวดก็เพลินกับขนม ลืมร้องกลับบ้าน แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ซึมซับวิธีการดูแลแม่ของเราได้

มีธรรมะเกื้อหนุน

ดิฉันโชคดีที่มีโอกาสเข้าวัด หาที่พึ่งทางใจจากธรรมะ เมื่อแรกที่ยังไม่เข้าใจแม่ ยังไม่รู้ว่าเป็นอาการป่วย เราจะพูดจาไม่เพราะ เวลาดูแลก็มีความรู้สึกว่าเราเหนื่อยแล้ว ทำไมแม่ถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมพูดด้วย แม่ไม่เข้าใจ แต่เมื่อพูดหรือทำอะไรที่ไม่ดีกับแม่แล้ว เราจะรู้สึกผิดมากเสียใจมากว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น แม่ดูแลเรามาตั้งแต่เกิดเราจะดูแลแม่อย่างไร ดิฉันไปวัดเพื่อหาทางออกด้วยธรรมะ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่ล่วงเกินแม่ เราไม่อยากทำผิดต่อแม่อีกแล้ว เมื่อเข้าวัดได้เรียนรู้ธรรมะ จิตใจก็ค่อยคลายความโกรธ ความเครียดลงไป สามารถปฏิบัติกับแม่ดีขึ้น แม่เองมีพื้นฐานไหว้พระสวดมนต์เข้าวัดเข้าวาทำบุญมาก่อน เราจึงเปิดเทปเสียงสวดมนต์ให้แม่ฟัง สังเกตดูว่า ถ้านอนอยู่แม่ก็จะพนมมือขึ้นมา ถึงแม่จำลูกไม่ได้แต่แม่ไม่ลืมพระ เราดีใจมากที่แม่ยังมีสิ่งที่ดี ให้ยึดถือเป็นจุดมุ่งหมาย ทุกเช้าแม่ลืมตาก็ไหว้พระ จำเรื่องนี้ได้ไม่ลืม ก่อนนอนทุกคืนเราจะสวดมนต์บอกแม่ว่า “พรุ่งนี้พบกันใหม่นะ นอนนะ แม่หลับนะ” เราบอกแม่ให้ท่องพุทโธในใจ แล้วแม่ก็จะนอนหลับไป แต่บางเวลาเรายังระงับความโกรธไม่ได้ เพราะเราดูแลเขา 24 ชั่วโมง บางทีอาบน้ำเสร็จ แม่ฉี่เปียกอีกแล้ว ยังไม่ได้พาไปนอนเลย เราเหนื่อยมาก ต้องเตือนตัวเองว่า ถ้าแม่รู้ตัวจะไม่ทำอย่างนั้นแน่ เวลาแม่ไม่ยอมกินข้าวจะบอกแม่ว่า “ทำไมไม่กินล่ะ ทำไมไม่อ้าปาก คนอื่นเขายังไม่มีกิน หามาให้แม่กินอย่างดีเลย ทำไมไม่กิน” เมื่อได้เรียนรู้แล้วว่า เพราะเขาป่วย ถ้าเขาดี ๆ เขาจะไม่ทำอย่างนั้น สังเกตจากช่วงแรกเมื่อเราพูดจารุนแรงกับแม่ แม่ก็จะพูดรุนแรงกลับมา ทั้ง ๆ ที่แม่เคยเป็นคนเรียบร้อย อ่อนโยนมาก เราจึงต้องใช้ถ้อยคำนี้เตือนตัวเองเสมอ เมื่อเรามีจิตใจดีขึ้น สงบลงด้วยธรรมะ เราก็จะดูแลเขาด้วยความสบายใจ เข้าใจการปรับตัวกับเขา ไม่ขัดแย้ง แต่ยอมตามใจ แล้วค่อยหาวิธีเบี่ยงแบนแก้ไขปัญหา เราก็อารมณ์ดี

เขาก็ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น เราได้คิดว่าในเมื่อเราต้องการทำให้เขาอยู่แล้ว ทำไมไม่ทำให้อย่างดี ทำให้ด้วยความรักความอบอุ่น ทำแล้วมีความภูมิใจว่าแม่มีความสุข พี่ ๆ น้อง ๆ จึงช่วยกันจัดการกับปัญหาทุกอย่าง เมื่อเวลาผ่านไปเราปรับตัวได้ การใช้ถ้อยคำหรืออารมณ์รุนแรงมีน้อยลง แม้จะยังมีบ้าง เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ เราก็ไม่เหลืออารมณ์โกรธหรือใช้คำพูดรุนแรงกับแม่อีกเลย ทุกวันนี้ลูกๆ จะพูดกับแม่เพราะๆ เรียกแม่จ๋า หอมแก้มแม่ระหว่างดูแลป้อนข้าว เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ หรือจะทำอะไรให้ก็ตาม เราจะพูดคุยกับเขาเพราะๆ เสมอ ดิฉันสัมผัสได้ว่า ถ้าเราเข้าใจแม่ ว่าแม่ คือ ผู้ป่วย และเราได้ พึ่งธรรมะเพื่อช่วยกล่อมเกลาจิตใจ เราก็จะไม่ขัดแย้งกับแม่ แม่ก็จะอารมณ์ดีเพราะเขารับอารมณ์ที่ดีจากเราไป แม่จะไม่มีอารมณ์รุนแรงอีกเลย
ทุกคนต้องการความรัก ความเอาใจใส่ การแสดงออกที่อบอุ่น คำพูดอ่อนโยน ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม และเราคิดว่าเขาไม่รู้เรื่องแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่ เช่นเดียวกับเราทุกคน

เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
สมองเสื่อม...ปัญหาของครอบครัว
เมื่อพ่อป่วย ทำให้ได้รู้ถึงปัญหา ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องพบ ฉันและทุกคนในครอบครัวต้องปรับตัวมาก ...
เยียวยาสมองเสื่อมด้วยหัวใจ
การดูแลพ่อสมองเสื่อมในขณะที่ลูกป่วยด้วยโรคเอสแอลอี เป็นเรื่องหนักหนา แต่เมื่อยอมรับและปรับเปลี่ยน ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ตัวอย่างกิจวัตร/กิจกรรมประจำวัน
เตรียมร่างกายสู่วัยสูงอายุคุณภาพ
การเตรียมพร้อมทางร่างกาย ...
แนวทางในการสื่อสารกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมอย่างเหมาะสม
การดูแลผู้สูงวัยด้วยทัศนคติที่มองมนุษย์เป็นมนุษย์ ...
ปัญหาและแนวทางการรับมือด้านพฤติกรรม อารมณ์ และการรู้คิด
พยายามมองที่คุณค่าในตัวผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เคยเป็น ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.