สมุนไพรช่วยบำบัดอาการสมองเสื่อมได้หรือไม่

สมุนไพรช่วยบำบัดอาการสมองเสื่อมได้หรือไม่
มีการกล่าวถึงพืชและสมุนไพรบางชนิดว่าช่วยรักษาอาการสมองเสื่อมได้ แต่ในความเป็นจริง คุณสมบัติในการบำบัดรักษายังไม่มีผลการทดลองที่สมบูรณ์ สมุนไพรบางชนิดมีผลทำลายสมองโดยตรง บางชนิดเสริมฤทธิ์กับยาที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมใช้อยู่ จึงส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นควรระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
พืชและสมุนไพรที่มักจะมีการกล่าวถึงมีดังนี้

บัวบก

พืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.) Urb.) มีสารออกฤทธิ์สำคัญป็นสารกลุ่มไตรเทอร์พีน (triterpenes) ได้แก่ madecassic acid, asiatic acid, asiaticoside และ madecassoside เป็นต้น

คุณสมบัติ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ปกป้องเซลล์ประสาท เพิ่มประสิทธิภาพการคิดและการรับรู้และต้านความจำเสื่อม
งานวิจัยในปัจจุบัน มีการทดลองให้อาสาสมัครอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะบกพร่องทางการรับรู้เล็กน้อย (ยังไม่ใช่สมองเสื่อม) รับประทานสารสกัดบัวบกตามขนาดที่กำหนด พบว่าช่วยฟื้นฟูกระบวนการคิดและการรับรู้ ช่วยลดความเครียด ลดความดันโลหิต และช่วยให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
*ยังไม่มีการทดลองกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
ข้อควรระวัง สารในบัวบกมีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด จึงควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด และยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้


พรมมิ

พรมมิหรือ ผักมิ เป็นผักพื้นบ้านของไทย ใช้เป็นผักลวกหรือจิ้มน้ำพริก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Bacopa monnieri (L.) Pennell) สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทเป็นสารกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacosides

คุณสมบัติ เป็นยาบำรุงสมองและความจำ บำรุงประสาท บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ยาขับโลหิต แก้ไข้ขับพิษร้อน และขับเสมหะ
งานวิจัยในปัจจุบัน มีการศึกษาการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิตามขนาดและเวลาที่กำหนด พบว่าการรับประทานพรมมิช่วยให้มีทักษะในการเรียนรู้และความจำดีขึ้น
*อาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้
องค์การเภสัชกรรมผลิตพรมมิในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อใช้บำรุงสมองและความจำ เนื่องจากการวิจัยส่วนใหญ่ให้ผลเชิงบวก และค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ฟื้นฟูภาวะความจำเสื่อม

อัญชัน

อัญชันเป็นไม้ล้มลุกที่พบเห็นได้ทั่วไป มีดอกสีน้ำเงินเข้ม น้ำเงินอมม่วง หรือขาว เป็นพืชตระกูลถั่วฝักเมล็ดกลม เช่นเดียวกับถั่วลันเตาและถั่วพู (ชื่อวิทยาศาสตร์ Butterfly pea (Clitoria ternatea L.))

คุณสมบัติ ใช้ในการดูแลความงาม ใช้เป็นผักสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก ผลิตสีผสมอาหารและเครื่องดื่ม ใช้รักษาและบำรุงดวงตา ผสมยาสีฟันแก้ปวดฟัน ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้ฟกช้ำบวม พิษแมลงกัดต่อย สระผมแก้ผมร่วง บำรุงสมองและความจำ
งานวิจัยในปัจจุบัน งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และความจำ ช่วยคลายความเครียด และวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ ลดน้ำตาลในเลือด แก้ไข้ แก้ปวด และต้านการอักเสบ
*งานวิจัยจำนวนมากทั้งหมดเป็นการศึกษาในระดับสัตว์ทดลอง ยังไม่มีรายงานการวิจัยในคน จึงยังไม่สามารถระบุขนาดและวิธีใช้ที่เหมาะสมได้
ข้อควรระวัง การใช้อัญชันผสมในขนม อาหาร หรือใช้ดอกแห้งชงเครื่องดื่ม ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และ warfarin เป็นต้น อาจมีผลเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายต่อร่างกาย หากต้มน้ำดื่มหรือชาชง ไม่ควรเข้มข้นมาก ไม่ควรดื่มแทนน้ำ ผู้ที่แพ้ดอกไม้หากมีอาการระคายเคืองควรหยุดใช้ทันที


กระทงลาย

กระทงลายหรือกระทุงลาย เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ พบได้ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Celastrus paniculatus Willd)
คุณสมบัติ กระตุ้นประสาท เพิ่มประสิทธิภาพความจำ บำรุงโลหิต รักษาวัณโรค แก้ไข้มาลาเรีย ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ท้องเดิน
งานวิจัยในปัจจุบัน พบว่าป้องกันการถดถอยและเพิ่มความสามารถด้านการเรียนรู้และจดจำในหนูที่มีภาวะสมองเสื่อมได้ มีฤทธิ์คลายเครียดและวิตกกังวล มีแนวโน้มที่ดีในการนำมาพัฒนาเพื่อใช้บรรเทาอาการของโรคสมองเสื่อม
*เป็นเพียงการทดสอบในสัตว์ทดลองเท่านั้นยังไม่ได้ทดลองในคน และยังพบว่าเกิดพิษต่อตับและไตในสัตว์ทดลอง จึงไม่แนะนำให้ใช้

ว่านน้ำ

ว่านน้ำเป็นไม้ขึ้นริมหนองน้ำ คูคลอง หรือบริเวณน้ำขัง ใบยาวเรียวแหลม มีเหง้า เนื้อในเหง้ามีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อนฉุนและขม (ชื่อวิทยาศาสตร์ Acorus calamus L.)

คุณสมบัติ บำรุงธาตุ เป็นยาหอม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงประสาท แก้ปวดศีรษะ แก้อาการวิงเวียน เป็นต้น
งานวิจัยในปัจจุบัน การทดลองในสัตว์ทดลองสามารถเพิ่มการเรียนรู้และป้องกันการสูญเสียความจำ ลดความเครียด เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
*เป็นเพียงการศึกษาเฉพาะในสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่แนะนำให้ใช้เพื่อรักษาสมองเสื่อม


สมอไทย

เป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียใต้ ผลสีเขียวอมเหลืองหรือแดง เมื่อแห้งเป็นสีดำ เป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ทำเป็นยาไทยได้หลายส่วน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula Retz.)

คุณสมบัติ กำจัดสารพิษ รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง ชำระล้างลำไส้ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ
งานวิจัยในปัจจุบัน พบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้และจดจำของสัตว์ทดลองได้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
*เป็นเพียงการศึกษาเฉพาะในสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่แนะนำให้ใช้เพื่อรักษาสมองเสื่อม

โสนน้อยหรือกระเฉดบก

เป็นวัชพืชล้มลุกสูง 1 เมตร มีใบประกอบแบบเดียวกับกระเฉด ดอกสีเหลืองสด ขึ้นทั่วไปในเขตร้อน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chamaecrista mimosoides (L.) Greene)

คุณสมบัติ แก้บิด แก้ปวดท้อง ใบและต้นมีพิษ ใช้เบื่อปลา
งานวิจัยในปัจจุบัน การศึกษาฤทธิ์ของโสนน้อยต่อภาวะสมองเสื่อมและความจำยังมีน้อย และเป็นเพียงการทดสอบในหลอดทดลองเท่านั้น


บอระเพ็ด

เป็นไม้เลื้อยที่พบตามป่าดิบแล้ง เป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้เป็นส่วนผสมของยาไทยมานาน มีรสชาติขมจัด (ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora crispa (L.) Hook.f. & Thomson)

คุณสมบัติ มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอวัย ช่วยให้ผมดกหนา ลดผมหงอกผมร่วง แก้คันหนังศีรษะและรังแค แก้กระหายน้ำ บำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดความอ้วน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดอาการเลือดคั่งในสมอง แก้อาการเกร็ง
งานวิจัยในปัจจุบัน การศึกษาฤทธิ์ของบอระเพ็ดต่อภาวะสมองเสื่อมและความจำยังมีน้อย และเป็นเพียงการทดสอบในหลอดทดลองเท่านั้น

พืชทำร้ายทำลายสมอง

พืชที่มีผลต่ออาการสมองเสื่อม หรือเป็นพิษต่อระบบประสาทและสมอง มีดังนี้
1. ใบทุเรียนเทศ
2. ฝิ่น
3. กัญชา
4. ยาสูบ จึงควรเลี่ยงการใช้พืชดังกล่าวกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
การจัดยา
การจัดยาในแต่ละวันใส่กล่อง จะลดการที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อม กินยาผิดหรือกินยาเกินขนาดได้ ...
ยาที่มีฤทธิ์ต้านยาสมองเสื่อม
ข้อควรระวังในการใช้ยารักษาภาวะสมองเสื่อมร่วมกับยากลุ่มอื่น
บทความอื่นที่น่าสนใจ
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม
ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมต้องอุ่นร่างกาย และ cool down อย่างเพียงพอ ...
การดูดเสมหะในปาก
การดูดเสมหะเป็นการขจัดน้ำลายหรือเสมหะซึ่งกีดขวางทางเดินหายใจของผู้ที่มีเสมหะมากและไอเอาออกมาเองได้ไม่ดีนัก
การกลืน
การกลืนลำบากเกิดขึ้นกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมในระยะอาการใดก็ได้ ...
การดูแลสิ่งแวดล้อมและการปูเตียง
การดูแลสิ่งแวดล้อมรอบเตียง และการดูแลผ้าปูเตียงให้สะอาด ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.