เคล็ดไม่ลับกับการดูแล

เคล็ดไม่ลับกับการดูแล

เมื่ออาการมันน่าจะใช่...แล้วจะเริ่มพาไปรักษาอย่างไรดีล่ะ

โดย พิชยนันท์ วัฒนวิทูกูร
บทความนี้เรียบเรียงจากการแบ่งปันประสบการณ์ของ สมาชิกเฟซบุ๊กเพจ “สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม” ในหัวข้อการเริ่มต้นพาคนที่บ้านของเราไปพบแพทย์ เพื่อตรวจว่ามีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ หลังตระหนักว่า สมาคมฯ ของเรา รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตร พยายามรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักสัญญาณสมองเสื่อม เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ แต่การชวนพ่อแม่ไปหาหมอนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แค่ไปตรวจสุขภาพประจำปี ยังไม่ค่อยจะยอม ไหนจะกลัวเสียเงิน กลัวตรวจเจอโรค บางท่านถึงกับบอกว่า “ถ้าไม่ตรวจก็ไม่เจอ” แล้วนี่จะให้ไปตรวจปัญหาสมอง มีหรือจะยอม ยิ่งรู้ว่าต้องไปพบจิตแพทย์ นอกจากจะไม่ยอมไปแล้ว คนชวนยังอาจจะโดนสวนกลับมาด้วยประโยคคลาสสิกว่า “ไม่ได้บ้า จะไปหาจิตแพทย์ทำไม” อีกก็เป็นได้ แน่นอนว่าผู้ที่จะให้ความรู้เรื่องแบบนี้ คงไม่พ้นผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เริ่มพาคนที่บ้านไปตรวจสมองเสื่อมกันมาแล้วนั่นเอง ต้องขอขอบพระคุณเจ้าของประสบการณ์ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้

ก่อนจะพาไปพบแพทย์ เราคงต้องมาดูกันก่อนว่าแพทย์สาขาไหนบ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม

1. แพทย์ประสาทวิทยา หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “หมอสมอง”2. จิตแพทย์ หลายท่านอาจจะงง แต่จิตแพทย์ก็ดูแลเรื่องการทำงานของสมองเช่นกัน เพราะสมองเป็นผู้ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของเรานั่นเอง
3. แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ก็ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีความเสี่ยงสมองเสื่อมมากที่สุดนี่นา
4. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางทั้ง 3 สาขาข้างต้น มีไม่เพียงพอ ยิ่งท่านที่สนใจเรื่องสมองเสื่อม ยิ่งน้อยลงไปอีก หมอครอบครัวที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพคนทั้งบ้าน จึงต้องเข้ามาช่วยด้วย สำหรับครอบครัวที่คนที่บ้านยินยอมไปพบแพทย์แต่โดยดี สามารถเลือกพบแพทย์ตามสาขาข้างต้นในโรงพยาบาลที่ท่านสะดวก คือ สามารถรักษาต่อเนื่องได้ยาว ๆ โดยไม่กระทบทั้งเรื่องการเดินทางและการเงิน โดยเลือกโรงพยาบาลที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้สิทธิการรักษาของตนได้ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ เป็นต้น แต่หากว่าไม่ ลองเลือกใช้วิธีจากประสบการณ์ของเพื่อน ๆ สมาชิกเฟซบุ๊กของเราซึ่งพอจะแบ่งตามบุคลิกของคนของเราได้ดังนี้

ผู้ชอบความ “สุดคุ้ม”

อาจจะเหมาะผู้มีความช่ำชองด้านบัญชีการเงินมาก่อน ลูก ๆ ควรมาพร้อมกับแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ของขวัญวันพ่อ วันแม่ หรือเทศกาลอะไรก็ได้ อาจจะบอกว่าแถมมาในประกันสุขภาพ และสินค้าบริการที่ท่านใช้ประจำ บอกท่านว่า จ่ายเงินไปแล้ว เดี๋ยวจะเสียสิทธิ์ไปฟรี ๆ นะ เสียดายแย่ แล้วเราค่อยไปกระซิบคุณพยาบาล คุณหมอที่โรงพยาบาลว่าสงสัยเรื่องสมองเสื่อมให้ช่วยส่งต่อไปตรวจเรื่องนี้ด้วย

ผู้ใหญ่แพ้ใจหลานรัก

ผู้ใหญ่ในบ้านเรา มักจะมีใครสักคนในครอบครัว เช่น ลูกคนโปรด หลานรัก เพื่อนสนิท ที่มีอิทธิพลต่อท่าน พูดอะไรก็ฟังยอมตาม ให้คนคนนั้นเข้าไปคุยแบบจริงใจ จริงจัง กึ่งออดอ้อนว่า รักนะ ห่วงนะ อยากให้ไปตรวจ มีอะไรจะได้รีบรักษา ถ้าไม่มีเราก็จะได้สบายใจทุกคน ข้อควรระวัง คือ อย่าเลือกตัวแทนเจรจาผิด คนที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด อาจจะเป็นไม้เบื่อไม้เมา กลายเป็นตั้งแง่ไม่ยอมไปตรวจก็เป็นได้

หัวหน้าครอบครัวผู้ปกป้อง

คุณพ่อคุณแม่หัวหน้าครอบครัว ผู้ดูแลผู้อื่นมาทั้งชีวิต หลาย ๆ ท่านคงรับไม่ได้ ถ้าจะต้องเป็นผู้ป่วยเอง ให้ขอให้ท่านไปเป็นเพื่อนเราหน่อย บอกว่าตัวเราคือคนที่มีปัญหาอยากพบจิตแพทย์ เจ้าของประสบการณ์นี้ได้พาคุณแม่ไปเริ่มพบจิตแพทย์ ตรวจเรื่องสมองเสื่อม โดยโทรไปนัดแนะกับทางโรงพยาบาลไว้ก่อน ว่าจะพาคุณแม่มาตรวจ แต่คุณแม่คิดว่ามาเป็นเพื่อนลูก ทางโรงพยาบาลก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่และคุณหมอในคลินิกจิตเวชทุกที่เข้าใจจุดนี้ ว่าผู้ใหญ่บ้านเรายังกลัวการถูกพามาตรวจที่จิตเวชอยู่และยินดีให้ความร่วมมือค่ะ

เกรงใจคุณหมอ

ผู้สูงอายุมักจะต้องมีการพบแพทย์เป็นประจำด้วยโรคยอดฮิต เช่น เบาหวาน ความดัน เข่าเสื่อมอยู่แล้ว แต่ละครอบครัวก็มักจะมีคุณหมอที่รู้จัก นับถือกันอยู่ ญาติอาจขอความช่วยเหลือจากคุณหมอท่านนี้ ช่วยเจรจาหรือส่งต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมไปตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมด้วยความเกรงใจ ส่วนมากผู้ใหญ่ของเราก็จะปฎิเสธไม่ได้ จะยอมเชื่อฟังและไปตรวจโดยดี สุดท้ายเป็นเคล็ดลับที่ทั้งอาจารย์ ทีมงานและผู้ดูแลหลายท่านเห็นตรงกัน คือ หากพบว่าคนของเรามีภาวะสมองเสื่อมจริง ให้เลือกรักษากับแพทย์ที่ครอบครัวสามารถพูดคุยและเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างสบายใจ เพราะการดูแลรักษาโรคนี้ต้องอาศัยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลาระหว่างญาติและทีมผู้ให้การรักษา เพื่อให้คนของเราได้รับการดูแลที่เหมาะสมที่สุด
โอบรักให้อุ่นใจ
โรคอัลไซเมอร์ไม่เพียงส่งผลกระทบกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
เรื่องเล่าจากพี่ปิ่นเพชร
เมื่อเราเป็นผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม สิ่งที่เราคิดอยู่ในใจเสมอ ก็คือ เราจะส่งผู้ป่วยไปก่อน ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
แหล่งซื้ออุปกรณ์การดูแลผู้ป่วย
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
แบบประเมินความสามารถในการดูแลกิจวัตรประจำวัน
เพื่อให้รู้ว่าคน ๆ หนึ่งคนมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ ...
เตียง
เตียงสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อม ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.