โรคของแม่สอนให้ลูกเป็นคนดีขึ้น

โรคของแม่สอนให้ลูกเป็นคนดีขึ้น
record_voice_over อ่านให้ฟัง
เรื่องเล่าจากหนังสือ วันวาน ณ ปัจจุบัน โดย แม่ทัพ
คุณแม่ของผมเป็นคนเก่ง เป็นผู้หญิงที่ทำงานทั้งนอกบ้าน และบริหารจัดการเรื่องภายในบ้าน ท่านเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ขายตั๋วเครื่องบินทำบริษัททัวร์ ตอนผมเด็ก ๆ แม่ยังทำงานให้กับบริษัทอื่น ต่อมาท่านจึงเปิดบริษัทของตนเอง

คุณแม่มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ด้วยความที่เป็นพี่คนโต จึงดูแลช่วยเหลือน้อง ๆ ทุกคน รวมทั้งดูแลลูก ๆ 2 คน คือ ผมกับพี่สาว ด้วยตั้งแต่เล็กจนโต ท่านจะติดต่อหาโรงเรียน รับส่งเมื่อลูกทำกิจกรรมพิเศษ เรียนพิเศษ ใครไปเมืองนอก คุณแม่จะเป็นจัดหาเตรียมทุกอย่างให้ คนที่รู้จักท่านจะรู้ว่าแม่เป็นคนใจดีมาก ไม่เคยปฏิเสธใครเลย มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือก็จะช่วยทุกเรื่อง
เมื่อคุณแม่อายุ 58 ปี ท่านเริ่มมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน เมื่อประมาณ 8 – 9 ปีที่แล้ว คุณหมออธิบายให้ฟังว่าคุณแม่ เริ่มมีอาการก่อนหน้านี้มานานแล้ว แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นความผิดปกติ อาการของคุณแม่ เริ่มแสดงให้เห็น ในตอนที่ท่านยังดูแลบริษัทสุดท้าย ขณะนั้นผมยังเรียนปริญญาโท งานของท่าน  ทั้งหนักและยุ่งมาก ต้องบริหารจัดการอย่างดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ตารางการทำงานต้องเที่ยงตรง เพราะเกี่ยวกับตั๋วเครื่องบิน ซึ่งจะพลาดไม่ได้เลย
ลูกน้องในบริษัทของคุณแม่รู้สึกว่า ท่านเริ่มทำงานไม่ค่อยไหว แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นอาการของสมองเสื่อม เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องธรรมดา ของอายุที่สูงขึ้น จึงไม่ค่อยเฉียบคม หรือมีความคิดอ่านฉับไวเหมือนสมัยอายุยังไม่มาก 
ช่วงเวลานั้นผมเรียนจบพอดี จึงบอกกับคุณแม่ว่าควรจะปิดบริษัทได้แล้ว ไม่จำเป็นที่คุณแม่ต้องทำงานหนักอีก เพราะคุณพ่อก็เกษียณแล้ว เมื่อปิดบริษัทก็จะได้อยู่บ้านกับคุณพ่อ ได้พักจากภาระหนักที่ทำมาตลอด

เครียด เพราะเราเถียงกัน

ก่อนหน้านี้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันไม่มาก ต่างคนต่างมีภาระหน้าที่นอกบ้าน คุณแม่ทำงาน ลูก ๆ ก็เรียนและทำงาน เมื่อมีเวลาอยู่ใกล้ชิดกัน จึงเห็นอาการของท่านชัดขึ้น เช่น กินแล้วลืม ท่านกินข้าวเช้าเสร็จแล้ว แต่พอเห็นลูกตื่นมานั่งที่ โต๊ะอาหาร ก็จะบอกว่ายังไม่ได้กินอะไร ต้องเถียงกันอยู่นาน เพื่ออธิบายให้ท่านเข้าใจ ช่วงแรก ๆ เรามีปัญหาโต้เถียงกันบ่อยมาก เพราะผมและทุกคนในบ้าน ไม่ทราบว่านี่คือ อาการป่วยของท่าน ตัวคุณแม่เองก็ไม่ทราบ แต่เราพอจะสังเกตเห็นว่าความสามารถของสมองท่านลดลงไป จากเคยใช้ได้ 100 เหลือแค่ 85 อย่างเช่น คิดเรื่องอะไรอยู่ในใจ แต่นึกไม่ออกว่ามันคืออะไร

ท่านจะเครียดกับปัญหาความจำมาก เครียดแล้วก็มาโต้เถียง และทะเลาะกับคนในบ้าน กว่าคนในครอบครัวจะเข้าใจคุณแม่ได้ ก็นานพอสมควร ระหว่างนั้นบรรยากาศภายในบ้าน ตึงเครียดมาก เพราะดูเผิน ๆ แล้วท่านเหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่มีพฤติกรรมบางอย่างไม่ปกติ เช่น กินอาหารบ่อย ทำของหาย วุ่นวายกับการหาของ และอาบน้ำบ่อยมาก คุณแม่เป็นคนรักสวยรักงาม มีเครื่องแต่งตัว เช่น แหวน สร้อย ก็ยังจำได้ว่าของอยู่ที่ไหน เมื่อทราบว่าคุณแม่เริ่มหลง ๆ ลืม ๆ เปิดรหัสตู้เซฟไม่ได้ ผมก็จะเป็นคนเปิดให้ เป็นเวลาร่วมปีที่ก่อนไปทำงาน ผมต้องเปิดตู้เซฟ นำของออกมากองให้แม่ดูจนพอใจ เพราะท่านจะรบเร้า ให้เปิดดูว่าของอยู่ครบ ความที่สมองส่วนนี้ยังจำได้ ก็จะรู้ว่ามีอะไรบ้างอยู่ที่ไหน

การเปิดตู้เซฟ จึงกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ก่อนผมจะไปทำงาน ท่านเคยดูแลบริหาร จัดการบ้านเก่ง เป็นคนจ่ายเงินเดือน และค่ากับข้าวให้แม่บ้าน เมื่อท่านทำไม่ได้ ผมก็ดูแลแทน คุณแม่จึงเกิดความรู้สึกว่า ท่านไม่ได้ถือเงินไว้กับตัว ก่อนผมจะออกจากบ้าน คุณแม่มักจะบอกผมว่า แม่ไม่มีเงินแล้ว น้อยอกน้อยใจบ่นตลอดเวลา เดี๋ยวนี้เห็นฉันไม่มีความหมาย

เรื่องเงินทำให้เราทะเลาะกันอยู่เป็นปี เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่น ๆ ผมก็ได้แต่ปลอบใจท่านไป ตอนหลังผมหากระเป๋า ให้แม่หนึ่งใบสำหรับเก็บเงิน ท่านก็สบายใจเราใส่เงินให้ แล้วค่อยแอบมาหยิบออกเพราะกลัวเงินหาย พอวันรุ่งขึ้นก็ใส่ให้ใหม่ ช่วงแรก ๆ ท่านยังพอรู้ว่าเป็นธนบัตรอะไร ให้ใบเล็กก็โกรธ ต้องให้ใบใหญ่ แต่พอให้ไปแล้วถามว่ามีเงินเท่าไหร ก็จะนับไม่ได้ ในช่วงอาการระยะแรก คุณแม่ยังใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ จะมีแต่เรื่องทะเลาะกับคนในบ้านบ่อย ๆ

ทุกคนพยายามหลบเลี่ยง เพื่อไม่ต้องทะเลาะกับท่าน แต่ผมยังไม่เข้าใจ เมื่อเห็นท่านไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้   ก็จะพยายามผลักดันให้เข้าใจ บอกท่านตลอดเวลาว่า “พยายามหน่อยนะแม่” เลยกลายเป็นอีกเรื่อง ที่ต้องทะเลาะกัน ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมแค่นี้ไม่รู้เรื่อง จึงเครียดที่แม่เป็นอย่างนี้
จากบทบาทที่แม่เคยดูแลเรามาตลอด เป็นคนเก่งรู้เรื่องทุกอย่างดีที่สุด วันนี้แม่ทำไม่ได้แล้ว เราต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง เป็นคนดูแลแม่ แต่เราเองก็ยังไม่พร้อม ใจยังไม่ยอมรับ มีแต่ความรู้สึกหงุดหงิดและโกรธ
คุณหมอบอกว่า คุณแม่เป็นโรคสมองเสื่อม ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ถ้าถามว่าอะไร น่าจะเป็นสาเหตุในชีวิตของท่าน ผมคิดว่าคงจะเป็นด้วยความเครียด ที่ท่านต้องดูแลครอบครัว ดูแลธุรกิจ เป็นพี่คนโตของน้อง ๆ หรืออาจจะเป็นเพราะ ใช้โทรศัพท์มือถือ ติดต่องานตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ทำไมคนอื่นที่ใช้ชีวิตเหมือนแม่เรา ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จะบอกได้ว่า นี่คือสาเหตุ ผมกับคุณหมอคิดคล้ายกันว่า มันอาจจะเป็นเรื่องของกรรม

ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ อย่างเบิกบาน

ผมพยายามอย่างหนัก เพื่อให้อาการของแม่ไม่ทรุดลงเร็วนัก พยายามให้ได้เปลี่ยนบรรยากาศ วันเสาร์อาทิตย์ จะพาท่านไปเที่ยวหลายแห่ง สวนสาธารณะ ศูนย์ศิลปาชีพ วัด บ้านญาติ พาเดินเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ท่านจะได้ไม่เบื่อ และได้เพลินกับบรรยากาศ แปลกใหม่บ้าง คุณแม่เป็นคนช่างแต่งตัวมาตั้งแต่สาว อุปนิสัยนี้ยังติดตัวท่านมาตลอด ถึงแม้สมองจะสื่อมถอยลงไป  ถ้าแต่งตัวไม่เรียบร้อยหรือไม่สวย ท่านจะหงุดหงิด ต้องเปลี่ยนชุดจนกว่าจะพอใจ คุณแม่เป็นนักช้อปปิ้ง ท่านรักการเดินซื้อของ ตอนที่ยังออกไปนอกบ้านด้วยกันได้ ผมจะพาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า ถ้าชอบเสื้อผ้าชิ้นไหน คุณแม่จะหยุดดู จับต้องด้วยความพอใจ เห็นตัวไหนก็สวยหมดทุกตัว อยากซื้อทุกตัว แต่ถ้าชี้เสื้อ 3 ตัว ผมก็อาจจะซื้อให้สักตัว บางครั้งต้องพาเดินหลบจากแผนกเสื้อผ้าบ้าง เพราะเสื้อผ้าของท่านมากพอแล้ว

ผมเริ่มรู้ว่าแม่มีความสุขเวลาได้เสื้อใหม่ ถ้าจะซื้อเสื้อเพื่อให้แม่ดีใจ ก็จะพาเดินตรงไปแผนกเสื้อผ้าเลย แต่ที่แย่สำหรับความรู้สึกของเรา ก็คือ เมื่อกลับมาขึ้นรถ ผมถามท่านว่าเป็นยังไงบ้าง ได้ของมาเยอะแยะเลย แม่ตอบว่า “อะไร... ไม่มี”
ทั้งที่หมดเงินไปหลายสตางค์ พอผมหยิบถุงมาให้ดู แม่จึงจะนึกออกว่าได้อะไรมาบ้าง

เรามีเวลาว่างในวันหยุด มากกว่าวันทำงาน ก็จะพาคุณแม่ไปเดินซื้อของ จนกระทั่งอาการถึงขั้นหนึ่ง คุณแม่จะคล้าย ๆ เด็ก เดินผ่านของเล่นจะชอบมาก และอยากได้ ผมเคยเสียดายสตางค์ เวลายอมตามใจแม่ ให้ซื้อของที่ท่านอยากได้ แต่มาคิดตกในภายหลังว่า เราซื้อเถอะถ้าแม่อยากได้ ซื้อแล้วลืม ก็ซื้อไป เราได้เห็นแม่ ในนาทีที่เขาดีใจเวลาได้เสื้อ ถึงแม้ว่าหลังจากนั้น แม่จะลืมหมด ผมก็ไม่กังวล เพียงได้เห็นแม่ยิ้มอย่างมีความสุข ถึงแม้ว่าจะไม่กี่นาที ผมก็พอใจแล้ว
ตลอดชีวิต คุณแม่เคยเข้าร้านทำผม ไม่รู้ว่ากี่ชั่วโมง เพราะเป็นคนรักสวยรักงาม ในระยะแรกหลังจากทราบว่าเป็นสมองเสื่อม เรายังพาท่านไปร้านเจ้าประจำที่คุณแม่ทำผมมาแต่ไหนแต่ไร โชคดีคุณแม่เป็นคนใจดี คนที่ร้านชอบคุณแม่ และเข้าใจท่าน เวลาพาไปทำผม มักจะบอกว่าไม่ต้องห่วงเดี๋ยวพี่ดูแลให้ ส่วนเราก็นั่งรอท่านไป การใช้ห้องน้ำนอกบ้าน ก็ยังไม่เป็นปัญหา ท่านเข้าห้องน้ำเอง และทำธุระส่วนตัวได้เรียบร้อย ระยะหลังท่านมีอาการ ทนนั่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ กระวนกระวาย ตัดผมยังไม่เสร็จ ก็จะลุกเดินไปห้องน้ำ แล้วเดินกลับมาไม่ถูก ต้องพาท่านไปถึงหน้าห้องน้ำ ตอนหลังต้องพาแม่บ้านไปด้วย เพื่อช่วยดูแล เพราะท่านดูแลตัวเอง ตอนเข้าห้องน้ำไม่ได้แล้ว

หลังจากนั้นก็ไม่สามารถไปทำผมที่ร้านได้อีก จึงต้องซื้อสีย้อมผมแบบทำได้เอง มาย้อมให้ท่านที่บ้าน อาการช่วงหนึ่งของคุณแม่ คือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้าน เวลาเห็นคนทำงาน หรือเห็นคนยกข้าวของ ท่านคงจะรู้สึกวุ่นวายใจ มักบ่นว่าทำไมมาวางตรงนี้ ทำไมเสื้อต้องมาแขวนตรงนี้ ท่านไม่เข้าใจว่าอะไรต้องอยู่ตรงไหน ไม่เข้าใจว่าคนที่เดินไปเดินมา หรือทำงานบ้านนั้น กำลังทำอะไรอยู่ พอเห็นมาก ๆ ก็จะเครียด และบางครั้งเริ่มมีอาการก้าวร้าว

ผมอยากให้แม่ได้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด เพื่อคลายความเครียด แต่การพาไปเที่ยวต่างจังหวัดค่อนข้างยุ่งยาก ตอนหลังผมจึงต้องไปด้วย พอมืดลง แม่จะเกิดความกลัว และจะวิตกกังวล แต่ถ้าผมอยู่ด้วยก็จะไม่เป็นไร ครั้งหลังสุดที่พาไปเที่ยวต่างจังหวัด คือ ไปพัทยา ผมกับแม่บ้านไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เราต้องผลัดกันคนละ 3 ชั่วโมง เพื่อดูแลท่าน

แม่ไม่นอน แต่จะผุดลุกผุดนั่งทั้งคืนจนน่าสงสาร เรารู้ว่าท่านเหนื่อย หน้าเศร้า ท่าทางหวาดกลัว ที่แปลกมาก คือ ไม่ชอบพื้นทรายแล้ว ปกตินาน ๆ ได้ไปทะเลสักที ถ้าได้เดินบนทรายเรามักจะรู้สึกสดชื่น แต่กลายเป็นว่า ทรายเป็นของระคายเท้าสำหรับคุณแม่ ท่านไม่ชอบสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่ผิดแปลกไปจากความคุ้นเคยภายในบ้าน
เวลาเดินชายหาดจะเดินกะย่องกะแย่ง เรียกหาแต่รองเท้า เราจึงเริ่มเข้าใจว่า พาท่านไปเที่ยวในที่ แปลกไปจากความคุ้นเคยไมได้เสียแล้ว ต้องเป็นสถานที่ ที่ใกล้เคียงกับความเคยชินของท่าน
เมื่อมีอายุช่วงต้น 60 คุณแม่ยังพอรู้เรื่อง และในความไม่รู้เรื่องของแม่ ถ้าลูกอยากกินอะไร แม่จะเรียกคนทั้งบ้านให้ไปซื้อ แม่เป็นคนน่ารัก จิตใจดีอย่างนี้มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าสมองจะเสื่อมไป แต่ความเป็นคนดีมีเมตตาของท่าน ยังคงอยู่เป็นคนเดิมที่รู้เรื่องน้อยลงเท่านั้นเอง เมื่อ 2 – 3 ปีก่อน แม้คุณแม่จะเข้าใจเรื่องต่าง ๆ น้อยลงแล้ว ระยะนั้นผมเผชิญกับงานหนักมาก เมื่อเข้าไปหาท่าน บอกแม่ว่าผมเหนื่อย แม่ก็จะลูบหัวผม ในวันนี้พูดอะไรกับท่าน ก็ไม่ค่อยจะเข้าใจแล้ว แต่ผมก็ยังรู้สึกสบายใจ เวลาได้นอนหนุนตักท่านบ้าง ผมทราบมาว่า ผู้ป่วยสมองเสื่อมบางคนก้าวร้าว และใช้กำลัง คุณแม่ผมเป็นคนจิตใจดีอารมณ์ดี ผมจึงรู้สึกว่าโชคดี ที่คุณแม่ยังใจดีมีเมตตาเหมือนเดิม ผมสังเกตว่าถ้าเวลาท่านอารมณ์เสีย แล้วเราปล่อยเลยตามเลยไม่ใส่ใจ หรือไปขัดใจ อารมณ์ของท่านจะกลับดีได้ยาก เรื่องอะไรก็หงุดหงิดไปหมด เห็นใครก็จะเรียก แต่เรียกมาแล้ว ไม่รู้จะให้เขาทำอะไรก็จะหงุดหงิด กระวนกระวาย แต่ถ้าเราประคองอารมณ์ท่านให้เปลี่ยนแปลงน้อย ๆ ไม่หงุดหงิด ไม่เครียดเกินไป ทุกอย่างจะดีขึ้น หรือเราชวนให้ท่านลืม เรื่องที่ทำให้อารมณ์เสีย เช่น บอกท่านว่า มาดูนี่สิ สวยมั้ย มาดูกระจก ดูซิเสื้อตัวนี้ใครซื้อให้ ชวนให้ออกไปนอกเรื่อง หาเรื่องที่คุยแล้วอารมณ์ดี ถามถึงญาติเก่า ๆ ที่ยังจำได้ แม่จะเล่าได้ยาว เราพยายามประคองอารมณ์ท่านอยู่ตลอด ไม่ละเลยความรู้สึก ท่านก็จะอารมณ์ดีขึ้นได้ง่าย และไม่อารมณ์เสียบ่อยนัก

เปลี่ยนแปลง สู่ความถดถอย

ตั้งแต่ 3 ปีก่อน คุณแม่เริ่มพูดไม่ได้ ตามที่ผมเข้าใจ คือ สมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ การพูดเสียไป แม่รู้ว่าจะพูดอะไร แต่สื่อออกมาติด ๆ ขัด ๆ ติดอ่าง และลิ้นพันกัน อาการ ค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนกระทั่งทุกวันนี้  ไม่มีใครฟังท่านรู้เรื่อง แต่ถ้าเคยอยู่ใกล้ชิด ก็จะรู้ว่าแม่ต้องการอะไร การพูดไม่ได้  ไม่เป็นปัญหาสำหรับท่านเลยแม้แต่น้อย เพราะท่านเองไม่รู้ตัว ความสามารถในการอ่าน และเขียนของท่าน สูญเสียไปตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน ผมเห็นอาการของท่านค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย เห็นแล้วสงสารแม่มาก เริ่มจากบัญชีธนาคาร ผมเคยเป็นคนพาไปเซ็น ต่อมาใช้พิมพ์ลานนิ้วมือแทน อาการหลังสุดมานี้เขียนชื่อตัวเองไม่ได้แล้ว จึงต้องเปลี่ยนเป็นบัญชีร่วมกับลูก
บ้านของผม มีกระจกหลายบาน หลายปีมาแล้วคุณแม่ไม่รู้ว่าเงาของท่านอยู่ในกระจก แรก ๆ จะกลัว บอกเราว่ามีคนอยู่ในบ้าน นึกไปว่าท่านเห็นผี จึงต้องเก็บกระจกออกไปหมด เมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว อาการก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง
ถ้าท่านเห็น กระจกบานเล็ก ๆ จะจับหน้า จับตา ตัวเอง ถ้าเป็นบานใหญ่ ท่านจะคิดว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และจะพยายามเดินเข้าไปทักทาย ถ้าเป็นกระจกบานใหญ่มาก แม่ก็จะคิดว่าเป็นอีกห้องหนึ่ง หลังจากนั้นมาอีก 5 – 6 ปี อาการกลัวกระจกไม่เป็นปัญหาแล้ว เราก็นำกระจกกลับมาติดตามเดิมได้
ความจำของคุณแม่เลือนรางลงไปอีก ยังพอเหลืออยู่เป็นบางส่วนเวลาแม่เห็นผม ท่านจะทักทายแต่จำผมไม่ได้ ในสมองของแม่อาจจะเข้าใจว่า ผมเป็นคนที่ท่านรักและใกล้ชิด เป็นคนที่ท่านสามารถขอสิ่งที่ต้องการได้ ผมเชื่อว่าในความทรงจำส่วนลึก ท่านยังรู้ว่าผมเป็นลูก แต่ถ้าบอกท่านว่าผมเป็นลูก ก็คิดว่าท่านคงไม่เข้าใจ พี่น้องบางคนหรือคนรู้จัก คุณแม่ก็จำไม่ได้ คนที่แม่รู้จักและจำได้คือพ่อ ซึ่งแม่เกรงใจและเคารพมาก

คุณแม่โชคดี ที่เป็นคนสุขภาพดี ไม่มีโรคอื่น ๆ พาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ ผลตรวจเลือดก็ออกมาดี เวลานี้รู้เรื่องน้อยลงไปอีกระดับหนึ่ง เหมือนเด็กที่ไม่กลัว เพราะไม่รู้เรื่องพอที่จะกลัว อาการในระยะท้าย ๆ จึงเหมือนจะดูแลง่าย แต่จะไม่ง่ายเลยสำหรับจิตใจของเรา และยังอาจเริ่มมีโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการติดเชื้อ ที่เริ่มจะรุมเร้า เราไม่อยากให้สุขภาพของท่าน ถดถอยลงไปเร็ว อยากให้ถึงวันนั้นช้าที่สุด เรื่องสุขภาพของฟันก็ละเลยไม่ได้  เวลาพาท่านไปหาหมอฟันเมื่อก่อนผมจะเข้าไปนั่งด้วย หมอคนนี้เป็นญาติกัน จึงพูดคุยกันค่อนข้างง่าย พอหมอบอกว่าค่อย ๆ อ้าปากนะ คุณแม่ก็หันหน้ามาหาผม เหมือนฟ้องว่าหมอบังคับท่าน ผมจะคอยคุยกับแม่ ว่าเป็นอย่างไรบ้างไหวมั้ย คุณแม่เห็นหมอแล้วจะกลัว คอยหันมาฟ้องด้วยสายตา ตอนหลังผมต้องใส่ถุงมือช่วยหมอ เพื่อให้ท่านอุ่นใจ ต้องเป็นผู้ช่วยหมออย่างนี้มาเกือบปี แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้แล้ว ไม่ว่าบอกให้ท่านอ้าปาก หรือให้ทำอะไร ท่านก็จะไม่เข้าใจ ผมเคยปรึกษาหมอว่า ถ้าทำให้ท่านหลับ หมอจะทำฟันให้ได้ไหม  หมอบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะไม่ดีต่อสมอง ผมสงสารว่าแม่ฟันผุจะกินข้าวไม่ได้ จะใส่ฟันปลอมก็ใส่ไม่ได้ เราไม่สามารถช่วยได้จริง ๆ ผมอยากให้แม่มีความเบิกบานในชีวิต ไม่ทรมานกาย แต่ ณ ชั่วโมงนี้ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ จึงได้แต่พยายามดูแลฟันของท่านให้ดีที่สุด คอยแปรงฟันให้สะอาด ทำได้เท่านี้จริง ๆ

ขณะนี้อาการของคุณแม่มักจะคล้าย ๆ กันทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงหลังอาหารเที่ยง จะอารมณ์ดี บ่าย 2 – 3 โมงเป็นต้นไป จะเริ่มหงุดหงิด ระยะหลังมานี้ท่านไปไหนไม่ได้แล้ว เพราะขาไร้เรี่ยวแรงจะเดิน เมื่อก่อนยังพอจะพาไปเดินห้างสรรพสินค้า ดูของให้เพลิดเพลินได้ แต่ระยะนี้ท่านไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบเห็นคนมาก ๆ ทุกวันนี้ท่านไม่เรียกร้องแล้ว ว่าจะไปไหน หรือต้องการทำอะไร แต่ถ้าได้ใส่เสื้อสีสวย ๆ ก็จะพอใจ และสิ่งที่ยังเป็นความสุขของท่าน จนถึงวันนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปอีกนานเท่าไร คือการนั่งรถเล่นตอนเย็น วันหยุด หรือ วันเสาร์อาทิตย์ ผมจะขับรถพาท่านนั่งเล่นขับไปช้า ๆ สัก 1 ชั่วโมง ให้ท่านได้ดูคน ชมนกชมไม้ ผมคิดว่าท่านอยู่บ้านทั้งวัน ก็น่าเห็นใจ เราที่มีสมองปกติยังอาจรู้สึกแย่ ถ้าแม่ได้ออกนอกบ้าน ก็จะได้เพลินคลายเครียดบ้าง คุณแม่เป็นคนอารมณ์สุนทรีย์ ชอบฟังเพลง ชอบร้องเพลง ในวันที่แม่พูดไมได้แล้ว บางทีก็จะยังฮัมเพลงอยู่ มีเพลงไทยโบราณเพลงหนึ่งที่ท่านชอบ ท่านหยุดฮัมเพลงนี้ไปเกือบ 2 ปีแล้ว ผมอดเศร้าไม่ได้ เพราะช่วงก่อนนั้น แม่จะคล้ายกับเด็กเล็ก ๆ เวลาเราให้ทำอะไร ท่านก็จะทำถ้าเป็นเรื่องสนุก บอกให้ร้องเพลงหน่อย ก็จะฮัมเพลงขึ้นมา เสียดายว่าเพลงนั้น หลุดออกไปจากความทรงจำของแม่แล้ว ตอนนี้ถ้าวันไหนอารมณ์ดีจริง ๆ จะเหลือแค่ฮัมเพลงเบา ๆ แต่ไม่เป็นเพลงเหมือนเมื่อก่อน

มีความรัก แล้วต้อง มีเมตตา

ทุกคนในบ้านมีภารกิจค่อนข้างมาก คุณพ่ออายุมากกว่าคุณแม่ 10 ปี สมองดีแต่ก็ต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่สามารถช่วยดูแล คุณแม่ได้มากนัก จึงมีผมกับแม่บ้านเป็นหลัก

ตัวผมเองไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ตลอดเวลา และยังต้องทำงานหนัก ไม่มีวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์  ทุกวันตอนเช้าเมื่อตื่นขึ้นมาผมก็จะอยู่กับท่านก่อน ผมเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ต้องไปถึงที่ทำงานเช้ามาก วันธรรมดาผมจะทำงานทุกวัน ตอนเย็นจึงกลับไปดูแลไม่ทัน มีเฉพาะวันพุธที่ผมหยุดงาน กลับไปกินข้าวเย็นกับท่าน เสาร์อาทิตย์ผมจะอยู่บ้านจนเย็น แล้วค่อยออกไปทำงาน หน้าที่ผมอย่างหนึ่งในวันเสาร์อาทิตย์ คือ การตะไบเล็บให้แม่ และกำชับคนที่บ้านให้คอยดูแลแผลให้เพราะท่านมักแกะผิวหนังจนเป็นแผล วันเสาร์อาทิตย์ผมจะอยู่กับแม่ เพื่อให้แม่บ้านที่ดูแลคุณแม่ได้พักด้วย 
สุขภาพจิตของผู้ดูแลสำคัญมาก ถึงแม้ว่าผมเหนื่อยขนาดไหนก็ตาม แต่หน้าที่หนึ่งที่ต้องทำให้ได้ คือ ให้คนที่ดูแลแม่ผมได้พักพอสมควร มิฉะนั้นเขาจะสู้ไม่ไหว ถ้าเขาเหนื่อยเกินไปก็จะส่งผลถึงคุณแม่ เพราะเขาอาจหงุดหงิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เสาร์อาทิตย์ผมจึงให้เขาได้พักอย่างเต็มที่
แม่บ้านที่ดูแลคุณแม่อยู่ทุกวันนี้ อยู่กับแม่มา 30 ปี เขารักแม่ผม และแม่ก็รักเขามาก ผมเข้าใจดีว่า ลูกอาจสนิทกับพ่อแม่มากน้อยต่างกัน บางคนดูแลใกล้ชิดไม่เป็น เพราะไม่สนิทพอ ผมโชคดีที่ได้อยู่กับแม่มาก แม้หน้าที่การงานจะไม่เอื้อมากนัก และผมยังโชคดี ที่มีแม่บ้านคอยช่วยอีกแรง  แต่การปล่อยให้เขา รับหน้าที่หนักอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เขาจะเหนื่อยหนักเกินไป คนที่อยู่ใกล้ชิดคนเป็นสมองเสื่อม จะถูกบั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าเราให้เขาได้พักสักชั่วโมง แล้วให้คนอื่นอยู่แทนเวลาแม่บ้านไปพัก ใจเขาก็ยังพะวงห่วงใย ว่าคุณแม่จะได้กินหรือยัง คนอื่นจะดูแลได้ดีไหม แต่ถ้าเราเองเข้าไปรับผิดชอบ แล้วให้เขาไปพักเลยหลายชั่วโมง เขาจะไปทำอะไรก็ได้ นอนพัก ไปเที่ยว ไปหาของอร่อยกินบ้าง สักครึ่งวันหรือเต็มวัน ให้เขาสบายใจ ก็จะดีกับเขามากกว่า

ผมยอมรับว่าถึงผมจะเป็นลูกแท้ ๆ และผมรักแม่มาก แต่ก็มีอารมณ์เหนื่อย หงุดหงิด อยากพัก อยากดูแลให้เสร็จเร็ว ๆ แต่เวลานั่งป้อนข้าว ถึงจะนานเป็นชั่วโมงผมก็ต้องทำ เพราะน้ำหนักแม่น้อย ผอมลงเรื่อย ๆ มีผมคนเดียวที่ป้อนข้าวได้มาก และป้อนได้โดยที่แม่ไม่หงุดหงิด เมื่ออาการคุณแม่มากขึ้นเริ่มเข้าสู่ระยะกลาง ผมจ้างพยาบาล ให้มาอยู่เป็นเพื่อนท่านตอนกลางวัน ไม่ได้ให้มาดูแล เพราะท่านยังดูแลตัวเองได้ แต่มาเพื่อรักษาสภาพจิตใจ แม่อยู่กับคนในบ้านทั้งวันจนหงุดหงิด จึงพาคนนอกบ้านเข้ามา เพื่อชวนพูดคุย ชวนเล่นเกม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เพราะคุณแม่เป็นคนแอคทีฟ ชอบสังคมมาก

พยาบาลผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาได้สักระยะก็เลิกไป เพราะเขาต้องเดินทางไกลบ้าง มีงานอื่นบ้าง ผมพยายามจ้าง ผู้ช่วยจากศูนย์บริการผู้ดูแล แต่ก็ต้องยอมแพ้ เพราะเรายังไม่พบคนที่มีเมตตา หรือมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ จุดอ่อนของธุรกิจผู้ดูแล คือ คนทำงานทิ้งงานไปดูแลผู้ป่วยบ้านไหนแล้วทำไม่ไหว ก็ขอเปลี่ยน กว่าจะเรียนรู้ถึงจิตใจที่มีเมตตา ความเอาใจใส่อย่างแท้จริงนั้น ต้องใช้เวลานานมาก ผมคิดว่าคนที่ดูแลคนไข้สมองเสื่อมนั้น หากมีความรัก ความเมตตาอยู่แล้ว ปัญหาก็จะน้อยลง เพราะถ้ารักแล้วก็จะทำอะไรให้ได้ทุกอย่าง

แต่ถ้าเป็นคนอื่นดูแล ก็ต้องเป็นคนที่มีเมตตาสูง และเห็นว่าผู้ป่วย เป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ คนที่เป็นสมองเสื่อมนั้น ถ้าปล่อยไว้ตามยถากรรม สุดท้าย คือตายอย่างเดียว เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย
ผู้ดูแลต้องมีเมตตาสูง จึงจะดูแลได้โดยไม่เครียด ถ้าทำเพราะเป็นหน้าที่อย่างเดียว จะไม่มีวันทำให้ดีได้ แม้ตัวผมเองก็ผ่านมา จนได้เรียนรู้แล้วว่าถึงเขาเป็นแม่ เราก็ต้องเมตตา
ความเมตตาไม่ใช่เพียง ผู้อยู่สูงกว่าเมตตาผู้ที่ต่ำกว่าเท่านั้น เราต้องเมตตา ผู้ที่ไม่มีความสามารถด้วย การดูแลคุณแม่ช่วงที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ช่วงที่ยังทะเลาะถกเถียงกัน ต้องทำความเข้าใจว่าวิธีการคิด และมุมมองท่านไม่ปกติแล้ว เช่น ถ้าท่านอยากกินผลไม้ก่อนข้าว ก็ต้องยอมให้ทำ จะไปขัดให้เสียใจทำไม เพราะนั่นเป็นวิธีคิดของเขา แม่ไม่เข้าใจหรอกว่า กินสิ่งนี้ก่อนสิ่งนี้ไม่ได้ และที่จริงแล้วสิ่งที่แม่อยากทำ ก็ไม่มีอันตราย และไม่แตกต่างกัน หรือการที่แม่นอนกลางวัน แล้วเรากลัวว่าท่านจะไม่นอนกลางคืน ก็ต้องเลิกกลัว เพราะแม่มีเวลาใหม่ของท่านแล้ว

เราต่างหากที่ต้องปรับตาม ช่วงหนึ่งที่คุณแม่ยังรู้เรื่อง ก็พยายามให้ท่านนอนตามเวลาปกติ เพื่อที่คนดูแลจะได้ไม่เหนื่อยมาก แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมบอกให้ปล่อยตามใจท่าน อยากนอนกลางวันก็ให้นอนไป ทุกวันนี้คุณแม่กินข้าวเช้า เสร็จแล้วท่านก็จะไปนอน แล้วจะนอนไปเรื่อย ๆ หลับบ้างตื่นบ้าง จนเที่ยงจะตื่นมากินข้าว กลางคืนหลังจากนั่งรถเล่นแล้ว เข้ามาบ้านกินข้าวเย็น ประมาณทุ่มเศษ ๆ ก็เข้านอนจนถึงเที่ยงคืน หลังจากนั้นลุกนั่งบ้างเดินบ้าง แต่แม่ก็น่ารัก ถ้าเห็นคนเฝ้านอนอยู่ แม่จะพยายามเงียบเสียง ถ้าเห็นเขาตื่นแม่จึงจะลุกเดิน

ก้าวพ้นความโกรธ เมื่อใจไม่เหนื่อย

ผมก้าวผ่านพ้นความโกรธมาได้ เพราะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าการทะเลาะกันไม่มีประโยชน์ ทะเลาะแล้วเราก็ต้องกลุ้มใจ เมื่อทำใจได้และเข้าใจแม่มากขึ้น เราก็มีวิธีจัดการ กับความโกรธของเราเอง ช่วงแรกผมเดินหนี ให้คนอื่นมาดูแม่ไว้ก่อน ผมไปสงบสติอารมณ์ แล้วจึงกลับมา ทุกวันนี้อารมณ์โกรธของผมน้อยลงมาก จนแทบเป็นศูนย์ เมื่อก่อนเวลาแม่ตักข้าวหก เลอะเทอะโดยไม่ตั้งใจแล้วผมดุท่าน สักพักแม่จะชวนคุยว่า ข้าวอร่อยกินมั้ย เราค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจว่า แม่ไม่ได้ตั้งใจทำหก แต่ร่างกายท่านควบคุมไม่ได้ต่างหาก เราจะดุแม่ได้อย่างไร และต่อมาเราก็ป้อนข้าวเก่งขึ้นด้วย หน้าที่ของเรา คือ ต้องดูให้ออกว่าท่านเป็นอย่างไร แล้วดูแลไปตามนั้น คุณแม่เคยตกเตียงแล้วนิ้วร้าว ต้องรักษาอยู่นานมาก ท่านไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เพราะถ้าไม่จับก็ไม่เจ็บ พอไปถูกนิ้วที่ร้าวถึงจะร้อง แม่พยายามจะถอดเฝือกออกทุกวัน ต้องจับมาดามใหม่ นิ้วเปื่อยเป็นแผล เพราะพันไว้หนามาก เพื่อประคบประหงมกระดูก เรายังพันนิ้วไว้แล้วโรยแป้งช่วยก็หาย แม่ไม่ได้เป็นทุกข์กับความเจ็บเลย ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ฉะนั้นถึงจะเจ็บตัว แต่ท่านก็ไม่เครียด ทุกครั้งที่ผมพบหน้าแม่ ผมจะยิ้มให้ท่าน แม่ก็ยิ้มตาม ผมพยายามอย่างที่สุด ที่จะไม่ให้แม่เครียด 

ท่านจะเหมือนเด็กเล็ก ๆ ไม่มีอะไรเครียดในชีวิต สิ่งที่เป็นความเครียดของแม่ คือ ร้อน หนาว หิว อิ่มเกินไป ปวดท้อง คัน เกาจนเป็นแผล บางครั้งมีการตกเตียงบ้าง เราก็พยายามแก้ไข หาไม้กั้นข้างเตียงบ้าง แม่กลับไปลงอีกทาง ยิ่งหนักกว่าเดิมอีก จนวันหนึ่งผมคิดออก จึงเปลี่ยนฟูก ฟูกที่คุณแม่นอนอยู่นั้นสูงมาก พอเปลี่ยนเป็นฟูกบางลงแล้ว ปัญหาตกเตียงก็เบาบางไป เวลานี้ใจผมไม่เหนื่อยแล้ว เหลืออย่างเดียว คือ เหนื่อยกาย แต่พอเอาเหนื่อยใจออกไป ก็รู้สึกโล่งขึ้นมาก

เมื่อคนที่เรารักเป็นสมองเสื่อม ผมคิดว่าไม่เหมาะที่จะให้คนอื่นมาดูแล ควรเป็นญาติ เป็นลูกเป็นหลานกัน หรือเป็นคนเก่าคนแก่ที่อยู่กันมานาน ผมโชคดีมาก ที่มีแม่บ้านเก่าของคุณแม่ เขาเป็นหลักในการดูแล และมีผมเข้าไปแทนได้ ในทุกสถานการณ์ แม่บ้านเข้าใจแม่อย่างที่ผมเข้าใจ ต่อมาผมหาคนช่วยทำงานบ้าน เขาเพียงแต่ช่วยควบคุมงานหลัก คือ ดูแลแม่ผม อาจเป็นกรรมร่วมที่เราเคยทำมาด้วยกันก็เป็นได้

ทุกวันนี้ผมคิดว่า ผมยังดูแลแม่ไม่ได้เศษเสี้ยวที่แม่เคยทำให้

เราทำได้เพียงดูแลให้ท่านอยู่ดีกินดี แต่สิ่งที่แม่ทำให้เรา สูงค่ากว่านั้นมาก ผมตั้งใจดูแลคุณแม่ มาตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าแม่ป่วย ระยะแรกคนอื่นไม่ค่อยเห็นด้วย ว่าทำไมเราต้องทำเองถึงขนาดนี้ ทำไมไม่จ้างคนดูแลจากศูนย์บริการ เพราะแม่ไม่รู้เรื่องแล้ว เขาพยายามอธิบาย ให้ผมเข้าใจว่า ถึงระยะหนึ่ง แม่ก็ต้องไปอยู่ในสถานดูแล ผมบอกว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน
ถึงแม่ไม่รู้เรื่องแต่ท่านยังรู้สึกได้ ท่านรู้เรื่องในความเป็นตัวท่าน ถึงเวลานี้ท่านจะไม่รู้จักเราอีกต่อไปแล้ว แต่ท่านก็รู้ว่านี่คือสิ่งดี ๆ ที่ท่านได้รับ ท่านสมควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และคนที่จะทำให้ท่านได้คือเรา
เมื่อแรกทีแม่ป่วย ผมยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าผมก็เหมือนกับคนทั่วไป มีความรักตัวเองสูง ยังเห็นแก่ตัว ผมเคยรู้สึกว่าจากที่เราเคยเป็นภาระเขา แล้วเขากลับมาเป็นภาระเรานั้น เราไม่อยากทำ อยากไปกับเพื่อน อยากไปเที่ยว อยากสบาย อยากปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของคนอื่น ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับผมในตอนต้น ต้องยอมรับว่าผมทำใจยาก เพราะตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยลำบาก แม่เป็นผู้ดูแลเรามาตั้งแต่เด็กจนโต ไปเรียนเมืองนอก ท่านก็ไปติดต่อหาที่เรียนส่งเราถึงโรงเรียน คุณแม่ผมทำงานเก่งขนาดนั้น แม่ดูแลครอบครัวมาตลอด เมื่อบทบาทของเรากลับกัน ผมเป็นผู้ดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำแม่ เป็นการพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิต การมีโอกาสดูแลท่านใกล้ชิด ทำให้ผมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ผมเองก็ไม่รู้ตัว
ความเจ็บป่วยของแม่สอนให้ผมเป็นคนดีขึ้นกว่าเดิม
เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
กว่าเราจะเข้าใจกัน
แม่ยังคงมีความรักเปี่ยมล้นให้เสมอ แต่โรคอัลไซเมอร์ ทำให้เวลาของเราที่จะรักและจำกัน ได้สั้นลงทุกที ...
ปรับใจยอมรับ อัลไซเมอร์ ของแม่
คุณแม่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มา 8 ปีแล้ว เมื่อแรกเริ่มมีอาการทางบ้านไม่ทราบความผิดปกติเลย ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ผู้สูงอายุมีสิทธิอะไรบ้างตาม พรบ. ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546
สิทธิผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ...
โกหกไม่ดี แต่...
เราได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี ...
แนวทางการป้องกันภาวะสมองเสื่อม
จะดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อม ปรับเปลี่ยนการกิน ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.