ครอบครัว คือยารักษาใจ

ครอบครัว คือยารักษาใจ
record_voice_over อ่านให้ฟัง

เรื่องเล่าจาก หนังสือวันวาน ณ ปัจจุบัน โดย สุวัฒน์

     คุณแม่ของผมเกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2492 ท่านเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถสูงคนหนึ่ง ท่านกับคุณพ่อเริ่มธุรกิจจากโรงงานเย็บเสื้อผ้า ทำเสื้อผ้าส่งออกจากนั้นปรับตัวมาขายในประเทศ ท่านตั้งธุรกิจของตัวเอง เมื่อปี 2520 กิจการเติบโตก้าวหน้ามาโดยตลอด
     คุณแม่เป็นเสาหลักทั้งของกิจการและครอบครัว เป็นผู้หญิงเก่งที่คนในวงการพูดถึงกัน หลายครอบครัวอาจจะมีปัญหา ลูกไม่ดี สามีไม่ดี หรือภรรยาไม่ดี หรือพี่น้องทะเลาะกัน ครอบครัวผมนับว่าเพียบพร้อม เรามีแต่ความรักความอบอุ่น
และแล้วความทุกข์ก็มาเยือน

     กิจการครอบครัวเจริญเติบโตเรื่อยมา จน ปี พ.ศ. 2540 ผมเข้ามหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับเด็กปี 1 ทั่วไป คือ เรียนหนังสือและทำกิจกรรมมากแต่ไม่เป็นภาระให้คุณพ่อคุณแม่หนักใจ ถัดมาอีก 3 ปี น้องชายก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เวลานั้นผมยังไม่มีส่วนช่วยกิจการทางบ้าน มีส่วนช่วยบ้างก็เล็กน้อย เช่น ช่วยคำนวณเงินเดือนให้ เดือนละครั้งเพราะท่านไม่ถนัดงานด้านนี้
     จนกระทั่งผมขึ้นปี 2 คุณแม่อายุประมาณ 49 ปี ทุกคนในครอบครัวสังเกตว่าคุณแม่มีอาการผิดปกติ แต่ไม่เข้าใจว่าคุณแม่เป็นอะไร คิดกันแต่ว่าคุณแม่นิสัยเปลี่ยนไป คุณแม่เป็นคนใจกว้างมาก คุณพ่อเป็นลูกคนโต มีพี่น้อง 11 คน คุณพ่อก็ให้ความช่วยเหลือน้องๆ เสมอในการประกอบอาชีพ คุณพ่อเริ่มตั้งต้นธุรกิจให้น้อง ส่วนน้องคนเล็กๆ ก็ส่งให้เรียนสูงขึ้น ซึ่งคุณแม่ต้องใจกว้างพอให้ความช่วยเหลือด้วย ช่วงหลังเรารู้สึกกันว่าคุณแม่ไม่ใจกว้างเหมือนก่อน พูดจาแปลกไป คุณแม่ชอบคนไหนก็จะแสดงออกว่าชอบมาก คนที่ไม่ชอบก็จะแสดงให้เห็นชัดว่าไม่ชอบมาก เมื่อก่อนคุณแม่ไม่เคยแสดงออกชัดเจนอย่างนี้ แต่เพราะคุณแม่ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ทุกคนจึงเข้าใจว่าเพราะอายุมาก หรืออาจเป็นปัญหาฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในวัยทอง
    คุณพ่อจึงพาไปหาสูตินรีแพทย์ รักษาอยู่ประมาณ 1 ปี รู้สึกว่าไม่ดีขึ้น เมื่อปรึกษาคุณหมอด้านศัลยกรรมประสาทท่านวินิจฉัยว่าอาจเป็นอาการซึมเศร้า ให้ไปปรึกษาทางด้านจิตเวช แต่เมื่อไปปรึกษาแล้วก็ไม่ใช่ปัญหาซึมเศร้าน่าจะมีอะไรผิดปกติสักอย่างเกี่ยวกับสมอง คุณหมอแนะนำว่าน่าจะผ่าตัดสมองแต่เมื่อผ่าตัดแล้วอาจสูญเสียเซลล์ประสาทที่ควบคุมบางอย่าง จึงตัดสินใจไม่ผ่าตัด และปรึกษาขอความเห็นของคุณหมออายุรกรรมประสาทอีกหลายต่อหลายคน
เวลานั้นปัญหาสมองเสื่อมไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของเราเลย ย้อนไปสิบกว่าปีที่แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก
     ผมได้ยินชื่ออัลไซเมอร์เป็นครั้งแรก เมื่อตอนมีข่าวว่าประธานาธิบดีเรแกนเป็นโรคอัลไซเมอร์
     ผมศึกษาหาข้อมูลเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับโรคของคุณแม่ จึงเป็นตัวหลักในการพาคุณแม่ไปหาหมอ อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ คุณพ่อจะสะเทือนใจมาก เมื่อต้องเอ่ยถึงอาการของคุณแม่ เราพาคุณแม่ไปพบคุณหมอหลายคน กว่าจะพบว่าท่านเป็นสมองเสื่อมรักษากับคุณหมอคนนี้หลายเดือนไม่ดีขึ้น ก็ไปหาคุณหมอคนใหม่ บางท่านบอกให้ทำใจ บางท่านบอกมีโอกาสดีขึ้น บางท่านมีคนไข้มากไม่มีเวลาให้ จึงต้องเปลี่ยนหมออีก เพราะเราต้องการขอคำแนะนำให้ดูแลคุณแม่และปรับตัวของเราด้วย คุณแม่เองนั้นไม่สามารถจะให้ความร่วมมือได้เลย ปฏิเสธการกินยา ปฎิเสธการไปหาหมอ บอกกับเราว่าท่านปกติ พวกเราต่างหากไม่ปกติ อาการระยะแรกเริ่มของอัลไซเมอร์นั้นดูยากมาก เช่น เราเห็นว่าผิดปกติเล็กน้อยเวลาคุณแม่รับโทรศัพท์ลูกค้า แล้วไม่รู้จะพูดอะไร หรือวางหูใส่ลูกค้าเสียเฉยๆ ตอบคำถามได้เฉพาะบางคำถามเพราะไม่เข้าใจ หรืออาจเข้าใจแต่ไม่สามารถเค้นคำตอบออกมาได้
อยู่กับคนไข้สมองเสื่อม

     ทุกคนในครอบครัวใช้เวลาทำใจพอสมควร เนื่องจากคุณแม่เปลี่ยนไปมาก พอเราเริ่มปรับตัวได้กับอาการช่วงหนึ่งคุณแม่ก็เปลี่ยนอีกแล้ว บางช่วงคุณพ่อกับผมผลัดกันนอนเฝ้ากลัวคุณแม่ออกจากบ้านไป จนกระทั่งรู้สึกว่าร่างกายรับไม่ไหว เพราะกลางวันทำงานกลางคืนไม่ได้นอน ต้องขอให้คุณยาย  มาช่วยดูแลคุณแม่ และให้คุณพ่อแยกห้องนอน คุณยายมานอนห้องเดียวกับคุณแม่แทน เนื่องจากคุณยายนอนพักช่วงกลางวันได้ เราเริ่มจ้างผู้ช่วยพยาบาลมาช่วยคุณยายด้วยอีกแรงหนึ่ง
การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมไม่ต่างจากการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

     เพราะมีอาการทางจิตเวชแทรกซ้อน คนที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดจะไม่ทราบเลยว่าคุณแม่สูญเสียความสามารถหรือมีพฤติกรรมแปลกๆ คนใกล้ชิดถ้าไม่หนักแน่นเพียงพอจะทนไม่ได้กับความก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย ดื้อ ทำแล้วบอกยังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้ทำบอกทำไปแล้ว บางวันแม่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่อยู่ดีๆ เกิดอยากกลับมาช่วยเหลือตัวเอง หรือมีอุบายแบบเด็กๆ อย่างเช่น ซ่อนยาไว้ใต้จานข้าว
เมื่อพาคุณแม่ไปนอกบ้านเรากังวลว่าคนอื่นจะเข้าใจไหม เขาอาจรำคาญ แต่ก็ไม่อยากทิ้งท่านไว้บ้าน
     หรือถ้าเราจะไม่ออกไปกินข้าวนอกบ้านกันเลย ก็เหมือนกับว่าเราได้สูญเสียชีวิตปกติของเราไป อย่างไรก็ตามชีวิตต้องดำเนินต่อไป และต้องมีคุณแม่อยู่ในชีวิตเราด้วย ต้องค่อย ๆ แก้สถานการณ์เฉพาะหน้ากันไป คุณแม่พูดน้อยลงจนกระทั่งไม่พูดเลย ความสามารถด้านอื่นก็ถดถอยลงไปตามเวลา เราพยายามยื้อความสามารถทางร่างกายของคุณแม่ให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็ยังลดลงไปทุกวัน แรกๆ ไปเดินสวนลุมตอนเช้า ออกกำลังกายกับคุณยาย และพยาบาล เวลานั้นคุณยายอายุ 75 ปี ยังมีสุขภาพแข็งแรง จากเคยเดินได้ 2 ชั่วโมง คุณแม่เดินได้สักชั่วโมงครึ่ง ถัดมาเหลือครึ่งชั่วโมง ลดลงเป็นเดินในบ้านแทน จนกระทั่งไม่เดินอีกต่อไป
ความสูญเสียครั้งใหญ่

     คุณแม่ไม่ได้เป็นเพียงสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น หากท่านยังเป็นกำลังหลักในการทำธุรกิจของครอบครัว นอกจากครอบครัวต้องปรับตัวแล้ว ธุรกิจก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยเนื่องจากสูญเสียบุคลากรคนสำคัญไป จากที่เคยมีผู้บริหารสูงสุด 2 คน เหลือเพียงคุณพ่อคนเดียว
เมื่อสมองเสื่อมเกิดกับคนในวัยทำงานอย่างคุณแม่ คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ไม่มีใครเข้าใจว่าเกิดขึ้นกับคุณแม่ได้อย่างไร
     ไม่มีใครเข้าใจว่าเป็นอาการของโรค และไม่เชื่อว่าคุณแม่จะไม่หาย เพราะคุณแม่เป็นคนเก่ง ดูแลสุขภาพอย่างดีมาโดยตลอด บางคนมองว่าเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ก็มี เราต้องคอยปรับความเข้าใจคนที่เข้าใจก็พยายามช่วย เราเองก็ลองหมดทุกทางทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ เรียกได้ว่าอะไรที่ทำแล้วสบายใจทำหมดทุกทางด้วยความหวังว่าจะช่วยให้คุณแม่หาย
     ในองค์กรมีการปรับตัวขนานใหญ่ หลายครั้งเราคุยกันว่าจะเลิกกิจการดีไหม คุณพ่ออยากใช้เวลาทั้งหมดไปกับการดูแลคุณแม่ แต่เนื่องจากห่วงพวกผม ห่วงลูกน้องที่ดูแลกันอยู่ ท่านจึงคิดว่าถ้าพอประคับประคองไปได้ แม้จะย่ำอยู่กับที่บ้างไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรบ้าง ก็รับสภาพที่เป็นอยู่กันไป โชคดีของคุณพ่อผมที่ท่านมีทีมงานจิตใจดีพอทราบว่าคุณแม่ไม่สบายทุกคนพัฒนาความสามารถตนเองขึ้นมา เพื่อทดแทนการที่คุณแม่ต้องหายไป ทีมงานไม่ได้รู้สึกว่าองค์กรนี้ง่อนแง่นอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องหาทางรอดแต่ทุกคนกลับรู้สึกว่ามีหน้าที่ต้องอยู่สู้เพื่อตอบแทนที่คุณแม่เคยดูแลองค์กร จนพัฒนามาสู่จุดที่มั่นคงเป็นหลักให้ทุกคนยึดได้ งานที่คุณแม่เคยทำเองปัจจุบันต้องมีคนกว่าสิบคนมาทำแทน ประกอบกับกิจการในปัจจุบันก็แตกต่างไป กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำลำพังคนเดียวไม่ต้องใช้การสื่อสาร หรือสัมพันธ์กับคนมากนัก เมื่อต้องทำด้วยกันหลายคนก็ต้องใช้เวลาพูดคุยและการประชุมมากขึ้น ผมคิดว่าความร่วมมือร่วมใจของทีมงานคงเป็นกำลังใจอย่างดียิ่งให้แก่คุณพ่อ
ไม่มีใครเข้าใจเรา

     ในระยะแรกๆ นั้น ผมไม่อยากพาคุณแม่ออกนอกบ้าน หรือไปหาหมอในโรงพยาบาลที่ต้องใช้เวลารอนาน
ผมยอมรับว่าเพราะผมอายกับพฤติกรรมแปลกๆ ของคุณแม่ กลัวว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร
     คุณพ่อเองก็ต้องอดทน ใช้เวลาทำความเข้าใจกับคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เมื่อคุณแม่อาการหนักขึ้น คุณพ่อต้องแยกห้องนอนเพราะคุณแม่ตื่นไม่เป็นเวลา
     เป็นเรื่องที่คนอื่นเข้าใจยาก บางคนคิดว่าสามีภรรยามีปัญหากัน หรือคุณพ่อทำอะไร คุณแม่ถึงเป็นแบบนี้ ผมเป็นเด็กอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังไม่ได้มาก ใครไม่เข้าใจก็ต้องยอมปล่อยไป แม้แต่คุณยายของผมเองกว่าจะเข้าใจและปรับตัวได้ก็ต้องใช้เวลานาน ครอบครัวผมไม่เคยมีใครรู้จักโรคนี้มาก่อน หรือแม้จะเคยได้ยินมาบ้าง ก็ยังต้องใช้เวลาปรับตัวปรับใจ
ทำใจไม่ได้

     ช่วงแรกผมยังทำใจไม่ได้ มีคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าคุณแม่เป็นโรคที่รักษาไม่หายจริงหรือ ทำไมต้องเกิดกับแม่เรา ทำไมต้องเกิดกับครอบครัวเรา 
     ครอบครัวเราไม่เคยทำผิดศีล คุณแม่ทำบุญช่วยเหลือคนอื่นมาตลอด คำถามเหล่านี้บั่นทอนจิตใจเราตลอดเวลา ช่วงที่คุณแม่เริ่มป่วยเป็นช่วงที่ครอบครัวเริ่มสบายขึ้นมาก เราเริ่มมีโอกาสใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ การเรียนของน้องชายดี การงานก็อยู่ตัว เงินที่คุณพ่อคุณแม่ทำมา 20 ปีเริ่มงอกเงย ท่านทั้งสองวางแผนกันว่า ถ้าลูกๆ โตแล้วจะวางมือจากงานไปเที่ยวกันสองคน มีหลายจุดที่ตอกย้ำให้เราคิดซ้ำเติมตัวเองว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะใคร สิ่งที่ทำใจยากที่สุด คือ การยอมรับว่าคุณแม่จะไม่หายเหมือนเราหวังอยู่ลึกๆ มาตลอดว่าท่านจะมีวันหาย เป็นมะเร็งยังหวังได้ หรือเป็นเอดส์ในระยะยาวก็หวังว่ามียารักษาได้ ต้องดูแลสุขภาพอย่างดีและสม่ำเสมอ แต่โรคอัลไซเมอร์ไม่มียารักษาให้หายได้ ยาทำได้แค่หยุดอาการไว้ไม่สามารถย้อนกลับมาเหมือนเดิม ความเป็นตัวตนของคุณแม่ไม่สามารถกลับคืนมาได้ดังเดิมอีกแล้ว คุณยายเองก็เจ็บปวดเพราะลูกป่วยมีสภาพเหมือนกลับเป็นเด็กอีกครั้ง
คุณพ่อซึ่งเป็นทั้งคู่ชีวิต เป็นเพื่อน และเป็นเพื่อนร่วมงาน ท่านทำใจยากกว่าผม ผมเองเป็นแค่ลูกไม่ใช่คู่ชีวิต ไม่ใช่เพื่อน ก็ได้แต่คอยปลอบใจซึ่งกันและกัน
     ผมกับน้องชายพยายามทำตัวไม่ให้เป็นภาระของคุณพ่อ ไม่ให้ท่านกังวลว่าเราจะอยู่กันรอดไหม ชีวิตครอบครัวการงานของเราจะเป็นอย่างไร คุณพ่อผมร้องไห้มากเพราะสงสารคุณแม่มากกว่าใคร เพิ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่เราทำใจได้มากขึ้น เราเพิ่งคุยเรื่องคุณแม่กันได้โดยไม่ร้องไห้
ไม่มีสูตรสำเร็จในการทำใจ

     ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อเปิดเทปธรรมะให้เราฟังเสมอ การฟังเทปธรรมะช่วยผมได้มาก ทำให้เรามีสติมากขึ้น 4 ปีแรก ผมฟูมฟายไม่หยุดกว่าจะทำใจได้เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ถ้าสติแตกก็เป็นภาระเพิ่มขึ้น เท่ากับมีคนป่วยมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปและผมมีสติแล้วผมย่อมพูดได้ว่าผมใช้วิธีใดในการทำใจและผ่านความทุกข์เหล่านี้มาได้ แต่ระหว่างทางเราอาจจะลืม อาจจะทำใจไมได้ ตั้งสติไม่ได้ เพราะมีเรื่องที่ทำให้เรากระเทือนตลอดเวลา เหตุผลไม่อาจจะใช้ได้ทุกครั้ง เมื่อเรามีอารมณ์เสียใจรุนแรง บางทีผมร้องไห้ ภรรยาผมบอกให้ร้องไปเลยไม่เป็นไร แล้วเราจะได้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่
ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญมาก ความรักช่วยคุณแม่และพวกเราไว้ คุณพ่อผมทุกข์ใจแต่ต้องดูแลลูกๆ ท่านจึงอ่อนแอไม่ได้
     ภาระนี้บีบคั้นแต่ก็ช่วยดึงท่านไว้ ผมต้องเป็นเพื่อนคู่คิดพ่อ น้องไม่ทำตัวให้เป็นภาระของคุณพ่อ ปัญหาอื่นจึงไม่เกิดตามมา เพราะปัญหาที่มีอยู่นั้นก็หนักเหลือแสนแล้ว
วางแผนชีวิตใหม่

     ผมแต่งงานมีครอบครัวเร็ว คือ ตั้งแต่อายุ 25 ปี ผมคุยกับภรรยาและครอบครัวของภรรยาว่า ครอบครัวของเรามีปัญหาสุขภาพของคุณแม่เป็นปัญหาใหญ่ ผมต้องการมีภรรรยาเข้ามาอยู่ในบ้านเพื่อให้บ้านอบอุ่นขึ้น ในบ้านผมมีแม่เป็นผู้หญิงคนเดียว ผู้ชายสามคน บ้านจึงค่อนข้างแห้งแล้ง พอมีผู้หญิงเพิ่มเข้ามา ผมคิดว่าจะทำให้ครอบครัวมีความชุ่มชื่นอ่อนโยน เมื่อเราอยู่กันอย่างผู้ชายด้วยกัน คุณพ่อป่วย ผมถามว่าไปหาหมอมั้ยกินยาหรือยัง แต่ภรรยาผมจะหยิบยาใส่จาน รินน้ำมาให้ ผมเองอาจทำได้แต่ด้วยความกระด้างของผู้ชายไม่อ่อนโยนเท่าผู้หญิง
     ผมแต่งงาน 5 ปี จึงมีลูก ช่วงแรกนั้นเราอยากใช้ชีวิตคู่กันเพียงสองคนก่อน และผมก็กำลังเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง แยกออกมาจากธุรกิจของครอบครัวที่เชื่อมโยงกันอยู่ การมีลูกช่วยให้ครอบครัวเราดีขึ้น คุณพ่อมีห่วงใหม่ ไม่ต้อคิดถึงแต่ปัญหาเดิม ๆ มีหัวข้อใหม่ให้สนใจมากขึ้นแทนที่จะกังวลเรื่องคุณแม่เพียงเรื่องเดียว มีเรื่องให้หัวเราะบ้าง ช่วยแบ่งเวลาจากความเศร้าเมื่อนึกถึงคุณแม่
     ถึงแม้คุณแม่จะดูเหมือนไม่รับรู้ แต่เราก็ยังพูดคุยกับท่านเหมือนท่านรับรู้ได้เป็นปกติ ผมอยู่บ้านใกล้ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ มีเวลานั่งคุยกับคุณแม่ ลูกผมกลับจากโรงเรียนให้มาอยู่ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ก่อน คุณแม่เป็นคนรักเด็กมาก คุณพ่อผมกึ่งเกษียณกึ่งทำงาน มีเรื่องให้พูดคุยกับผมหลายๆ เรื่องเสมอ ผมจะขยายกิจการอย่างไร คุณพ่อจะไปเที่ยวที่ไหน คุณพ่อสดชื่นขึ้นเมื่อท่านได้พูดถึงความน่ารักและความซนของหลาน ส่วนการคุยเรื่องคุณแม่ก็เป็นเรื่องการรักษาอาการ
     คุณแม่ได้รับการดูแลดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราอาจจะทำได้ดีกว่านี้ ถ้าทุกคนไม่ต้องทำงานดูแลคุณแม่แต่เพียงอย่างเดียว สำหรับผมแล้วผมมีโอกาสเลือกให้มีคนช่วยดูแลได้ จึงไม่ต้องละทิ้งชีวิตของเราโดยสิ้นเชิง
เพราะชีวิตของเรายังต้องเดินหน้าต่อไป และต้องมีคุณแม่อยู่ในชีวิตเราด้วย
เสียงบรรยายโดย สุภาวดี เตียพิริยะกิจ
อัลไซเมอร์...คำที่ไม่มีวันลืม
ท่ามกลางความทุกข์ ความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย และน้ำตาที่ประสบมานั้น ดิฉันพบว่ามี สิ่งงดงาม ...
คุณค่าชีวิตหลังเกษียณ
ผมมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ผมเป็นน้องคนสุดท้อง ชีวิตของผมมีความสุขดี มาจนกระทั้งใกล้เวลาเกษียณอายุ ตอนเด็กๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ชวนหนูๆ ดูแลปู่ย่าตายาย
อุปกรณ์ช่วยพยุงตัว
อุปกรณ์ช่วยพยุงตัว ช่วยป้องกันผู้มีภาวะสมองเสื่อมหกล้ม ...
การออกกำลังกายสำหรับโรคหัวใจ
โรคหัวใจก็ออกกำลังกายได้ ...
10 สัญญาณเตือนสมองเสื่อม
หลากหลายสัญญาณเตือนว่าภาวะสมองเสื่อมอาจมาเยือน เช่น ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.