ร้องกลับบ้านทุกวันทำอย่างไรดี

ร้องกลับบ้านทุกวันทำอย่างไรดี
ร้องกลับบ้านทุกวันทำอย่างไรดี

อีกหนึ่งปัญหาประจำวันที่ “ผู้ดูแลอยากจะกรี๊ด” นั่นก็คือ ผู้ป่วยสมองเสื่อมร้องขอกลับบ้าน ทั้ง ๆ ที่บ้านหลังนี้อยู่มาเป็น 10 หรือ 20 ปีแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกวันหรือแทบทุกวัน อธิบายอย่างไรไม่ยอมฟัง ผู้ป่วยเก็บกระเป๋าวุ่นวาย พยายามออกจากบ้าน หรือขอร้องให้พากลับบ้านให้ได้ สร้างความปั่นป่วนให้ผู้ดูแลมิใช่น้อย 
ทำไมผู้ป่วยสมองเสื่อมอยากกลับบ้าน

คนปกติทั่วไปเวลาท้อแท้ เหงา เศร้าใจ เหนื่อยล้าหมดแรงมักจะเกิดความรู้สึกคิดถึงบ้านในวัยเด็ก เพราะบ้านเป็นตัวแทนของความทรงจำที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และความสุข 
ผู้ป่วยสมองเสื่อมก็เช่นกัน การร้องกลับบ้านสะท้อนความรู้สึกภายในใจที่ไม่สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูดให้เราเข้าใจได้ 
ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เครียด กังวล กลัว รู้สึกว้าเหว่ จึงเรียกร้องการกลับบ้าน นอกจากนี้อาจเกิดจากช่วงเวลาพลบค่ำบรรยากาศเหงา หรืออากาศอึดอัดขมุกขมัว ผู้ป่วยอาจเจ็บป่วย มีอาการไม่สบายตัว หรือมีความเจ็บปวดอย่างใดอย่างหนึ่งในร่างกายก็เป็นได้ ผู้ดูแลควรสังเกตเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง  
ข้อแนะนำเมื่อผู้ป่วยร้องกลับบ้าน

1. อย่าพยายามอธิบายความจริง เพราะผู้ป่วยไม่ฟัง ต่อต้าน และกลายเป็นการทะเลาะกันรายวัน 

2. ดูแลให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ปลอบโยน เอาอกเอาใจ หาสิ่งที่ชอบมาให้ ผู้ป่วยอาจชอบตุ๊กตาสัตว์ หมอนกอดนุ่ม ๆ ดูภาพครอบครัว ภาพสวย ๆ  ชวนทำกิจกรรมที่ชอบ ปฏิบัติกับผู้ป่วยด้วยท่าทีที่อ่อนโยน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เมื่อผู้ดูแลมีท่าทีสงบอ่อนโยนจะช่วยให้ผู้ป่วยสงบลงได้ง่ายขึ้น 

3. กอดปลอยโยน จับมือ ลูบแขนหรือหลัง ถ้าผู้ป่วยไม่ต่อต้าน สังกตอารมณ์ผู้ป่วยก่อนว่าต้องการให้โอบกอดหรือสัมผัสหรือไม่ 

4. ยอมตามและเบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อผู้ป่วยร้องกลับบ้าน อย่าปฏิเสธให้ยอมตามใจผู้ป่วย แล้วอาจใช้วิธีถ่วงเวลา เช่น ขอเก็บโต๊ะล้างจานก่อน ชวนผู้ป่วยจัดกระเป๋า ชวนอาบน้ำแต่งตัว หาของว่างมาให้กินก่อน ชวนไปดูต้นไม้ดอกไม้  เพื่อให้ผู้ป่วยลืมความตั้งใจเดิม  

5. ถ้าผู้ป่วยยังยืนกรานจะกลับบ้าน หลังจากพยายามทำทุกวิธีแล้ว อาจชวนอาบน้ำแต่งตัวถ่วงเวลาสักนิด แล้วพาเดินหรือนั่งรถออกจากบ้าน ดูว่าจะลืมหรือยังลองสังเกตเวลาว่านานแค่ไหนถึงจะลืม ก่อนวกกลับเข้าบ้าน อาจพาแวะซื้อของ พาไปนั่งร้านไอศกรีม หรือทักทายเพื่อนบ้านก่อนกลับ  
อ่านเรื่องน่าสนใจเพิ่มเติม : ยืดหยุ่น ใส่ใจ ปลอดภัย ไม่เอาชนะ
พูดซ้ำถามซ้ำทำเครียดทั้งวัน
หลายบ้านอาจเจอปัญหาคล้ายกันนั่นก็คือ ผู้สูงอายุพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ...
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ความสามารถของสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สามารถทำการงานต่าง ๆ ...
บทความอื่นที่น่าสนใจ
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ
สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมีผลต่อสุขภาพร่างกาย ...
หวานไปก็อ่อนหวานได้
ถ้าเราเป็นเบาหวานแล้ว ไม่ต้องกลัว ต้องดูแลรูปร่างไม่ให้อ้วน ...
ปรับบ้านเพื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม
ภาวะซึมเศร้าและสุขภาพจิต
ผู้สูงอายุ 10-13% มีอาการโรคซึมเศร้า สารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ...
Caregiver Connect
 
© Geriatrics Medicine, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University. All Rights Reserved.